บาลีวันละคำ

กากี (บาลีวันละคำ 2,545)

กากี

คำเรียกสตรีบางคน-มีที่มาอย่างไร

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “กากี” ไว้ 3 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(1) กากี ๑ : (คำนาม) กาตัวเมีย. (ป., ส.).

(2) กากี ๒ : (คำนาม) หญิงมากชู้หลายผัว. (เป็นคําด่า มีเค้าเรื่องมาจาก กากาติชาดก).

(3) กากี ๓ : (คำวิเศษณ์) สีนํ้าตาลปนเหลือง, สีสนิมเหล็ก.

ตามรูปศัพท์ “กากี” ที่หมายถึง กาตัวเมีย (กากี ๑) บาลีเป็น กาก + อี ปัจจัย

(ก) “กาก

บาลีอ่านว่า กา-กะ รากศัพท์มาจาก –

(1) กา (เสียงว่า “กา”) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย ลบ รฺ ที่สุดธาตุ

: กา + กรฺ > + = กาก = “ผู้ทำเสียงว่ากา

(2) กา (เสียงว่า “กา”) + กา (ธาตุ = ส่งเสียง) + ปัจจัย ลบ อา ที่ธาตุ

: กา + กา > + = กาก = “ผู้ส่งเสียงว่ากา

กาก” (ปุงลิงค์) หมายถึงสัตว์จำพวกนกที่เราเรียกกันว่า “กา” หรือ “อีกา

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กาก” ว่า the crow

ในภาษาไทย คำว่า “กาก” มีความหมายแบบไทย ตามที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

กาก : (คำนาม) สิ่งที่เหลือเมื่อคั้นหรือคัดเอาส่วนดีออกแล้ว เช่น กากมะพร้าว; หยากเยื่อ; เดนเลือก (ใช้เป็นคําด่า) เช่น กากมนุษย์ คนกาก.”

ส่วนที่มีความหมายตรงตามบาลี คำไทยเขียน “กา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กา ๑ : (คำนาม) ชื่อนกขนาดกลางชนิด Corvus macrorhynchos Wagler วงศ์ย่อย Corvinae ในวงศ์ Corvidae ปากใหญ่หนาแบนข้าง ตาสีดำ ตัวสีดำ ร้องเสียง “กา ๆ ”, อีกา ก็เรียก; ชื่อหนึ่งของดาวฤกษ์ธนิษฐา เห็นเป็นรูปอีกา เช่น แม้นดาวกามาใกล้ในมนุษย์ (อภัย), ดาวไซ ดาวเศรษฐี ดาวศรวิษฐา หรือ ดาวธนิษฐะ ก็เรียก.”

(ข) กาก + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ = กากี แปลตามสำนวนนักเรียนบาลีว่า “นางกา

ส่วน “กากี” ที่หมายถึง หญิงมากชู้หลายผัว (กากี ๒) พจนานุกรมฯ บอกว่า มีเค้าเรื่องมาจากกากาติชาดก

กากาติชาดก” เขียนแบบบาลีเป็น “กากาติชาตก” (กา-กา-ติ-ชา-ตะ-กะ) เป็นชาดกที่อยู่ในกลุ่ม “จตุกกนิบาต” (จะ-ตุก-กะ-นิ-บาด) คือชาดกที่มีคาถาเรื่องละ 4 คาถา อยู่พระไตรปิฎกเล่มที่ 27 ข้อ 606-609 ส่วนคัมภีร์ที่เล่าเรื่องขยายความคือ ชาตกัฏฐกถา ภาค 4 หน้า 412-415

สรุปเรื่องราวในกากาติชาดก เป็นดั่งนี้ –

…………..

สมัยหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวันมหาวิหาร ภิกษุรูปหนึ่ง (นัยว่าได้เห็นสตรีนางใดนางหนึ่ง) เกิดกระสันปรารถนาจะสึก พระผู้มีพระภาคทรงทราบจึงรับสั่งให้หา แล้วตรัสว่า อันว่ามาตุคามนั้นยากนักที่จะหวงห้ามป้องกันมิให้ชายอื่นมาพัวพัน แล้วตรัสเล่าเรื่องที่เคยเกิดขึ้นแต่ปางหลังว่า —

ในอดีตกาล พระเจ้ากรุงพาราณสีมีอัครมเหสีรูปโฉมงามเลิศ มีนามว่า “กากาติเทวี” คราวหนึ่ง พญาครุฑจำแลงเป็นมาณพมาเล่นสกากับพระองค์ ก็เกิดสิเนหาในพระนางกากาติเทวี จึงลอบลักพาตัวไปไว้ยังวิมานฉิมพลี ได้ร่วมอภิรมย์สมเสพกับพระนางสมปรารถนา

เมื่ออัครมเหสีหายไป พระเจ้ากรุงพาราณสีจึงตรัสสั่งให้พนักงานดนตรีนามว่า “นฏกุเวร” สืบหา นฏกุเวรสงสัยว่าจะเป็นมาณพที่มาเล่นสกาเป็นตัวการ สะกดรอยไปก็รู้ว่าเป็นพญาครุฑจำแลงมา จึงซ่อนตัวไปในขนของพญาครุฑ ถึงวิมานฉิมพลีก็ได้พบพระนางกากาติเทวี

เวลาที่พญาครุฑไปเล่นสกากับพระเจ้ากรุงพาราณสี นฏกุเวรกับพระนางกากาติเทวีก็ร่วมอภิรมย์กันที่วิมานฉิมพลีนั้น เป็นอย่างว่า “กลางคืนอยู่กับพญาสุบรรณ กลางวันอยู่กับนฏกุเวร

ครั้นสมควรแก่เวลา นฏกุเวรก็ซ่อนตัวในขนพญาครุฑกลับมากรุงพาราณสี

ขณะพระเจ้ากรุงพาราณสีเล่นสกากับมาณพจำแลงอยู่นั้น นฏกุเวรก็ขับเพลงรักเป็นนัยให้พญาครุฑรู้ว่าตนได้ไปร่วมอภิรมย์กับพระนางกากาติเทวีมาแล้ว

พญาครุฑทราบประพฤติเหตุทั้งปวงแล้วก็นึกอนาถใจ พาพระนางกากาติเทวีมาส่งคืนพระเจ้ากรุงพาราณสี แล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย

พระผู้มีพระภาคตรัสชาดกจบแล้วทรงแสดงอริยสัจธรรม เมื่อจบพระธรรมเทศนา ภิกษุผู้กระสันสึกรูปนั้นได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน

ประชุมชาดกว่า นฏกุเวรกลับชาติมาเกิดเป็นภิกษุผู้กระสันสึก ส่วนพระเจ้ากรุงพาราณสีคือองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้านี้แล

กากาติชาดกมีเนื้อความเพียงเท่านี้

…………..

สันนิษฐาน :

คำว่า “กากี” ที่หมายถึงหญิงมากชู้หลายผัว ถ้าจะมีเค้ามาจากชาดกเรื่องนี้ ก็น่าจะมาจากนาม “กากาติเทวี” เรียกเฉพาะชื่อตัวก็คือ “กากาติ

กากาติ” อาจเพี้ยนเป็น “กากี” ได้

ผสมจินตนาการที่ว่า “กา” เป็นสัตว์เจ้าเล่ห์ เมื่อจะผรุสวาทสตรีที่ประพฤติเสียหาย ก็เอาภาพของ “กา” ในจินตนาการมาแปลงรูปเป็น “กาตัวเมีย” จึงเกิดเป็นคำว่า “กากี” ขึ้นมา ซึ่งก็ยังมีเค้า “กากาติ” นามเดิมในชาดกอยู่บ้าง

การควรจะเป็นประการใด ขอผู้รู้พึงพิจารณาโดยแยบคายเทอญ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: “อีช่อ” ไม่ใช่คำด่าของคนราชบุรี

: “กากี” ก็ไม่ใช่คำด่าของคนอินเดีย

————–

ภาพประกอบ: จาก google

#บาลีวันละคำ (2,545)

1-6-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย