คู้บัลลังก์ (บาลีวันละคำ 2,316)
คู้บัลลังก์
คือทำอะไร?
อ่านว่า คู้-บัน-ลัง
ประกอบด้วยคำว่า คู้ + บัลลังก์
(๑) “คู้”
เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“คู้ : (คำกริยา) ตรงกันข้ามกับ เหยียด, งอเข้า เช่น คู้เข่า.”
(๒) “บัลลังก์”
บาลีเป็น “ปลฺลงฺก” อ่านว่า ปัน-ลัง-กะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ปริ (โดยรอบ) + อกฺ (ธาตุ = ทำตำหนิ, สลักลาย) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ลบ อิ ที่ (ป)-ริ (ปริ > ปร), แปลง ร เป็น ล (ปร > ปล), ซ้อน ลฺ (ปล > ปลฺล), ลงนิคหิตอาคมที่ ล แล้วแปลงเป็น งฺ (ปลฺล > ปลฺลํ > ปลฺลงฺ-)
: ปริ + อกฺ = ปริก > ปรก > ปลก > ปลฺลก > ปลฺลํก > ปลฺลงฺก แปลตามศัพท์ว่า “ที่อันเขาจำหลักไว้โดยรอบ”
(2) ปลฺล (การกำจัดกิเลส) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ, ซ้อน งฺ ระหว่าง ปลฺล + กรฺ (ปลฺลกรฺ > ปลฺลงฺกรฺ), ลบ รฺ ที่สุดธาตุ
: ปลฺล + กรฺ = ปลฺลกร + กฺวิ = ปลฺลกรกฺวิ > ปลฺลกร > ปลฺลงฺกร > ปลฺลงฺก แปลตามศัพท์ว่า “ที่ (นั่งเพื่อ) กระทำการกำจัดกิเลส” ความหมายนี้เล็งถึงลักษณะการนั่งซึ่งผู้ปฏิบัติธรรมนิยมนั่งที่เรียกว่า “ขัดสมาธิ” มาจากมูลเดิมคือนั่งขาทับขาหรือขาขัดกันเพื่อเจริญสมาธิ แล้วเลยเรียกท่านั่งเช่นนั้นว่า “นั่งขัดสมาธิ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปลฺลงฺก” ว่า –
(1) sitting cross-legged (นั่งขัดสมาธิ) :
ก) กรณีแจกวิภัตติเป็น “ปลฺลงฺเกน” แปลว่า upon the hams (ก้นถึงพื้น)
ข) รูปประโยค “ปลฺลงฺกํ อาภุชติ” แปลว่า to bend the legs in crosswise (นั่งคู้บัลลังก์)
(2) a divan, sofa, couch (ม้านั่งยาว, เก้าอี้นวมยาว, เก้าอี้นอน)
“ปลฺลงฺก” สันสกฤตเป็น “ปลฺยงฺก”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“ปลฺยงฺก : (คำนาม) ‘บัลยงก์,’ บิฐ, เตียงหรือแท่นที่ศัยยา; bedstead.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“บัลลังก์ : (คำนาม) พระแท่นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ภายใต้เศวตฉัตร เรียกว่า ราชบัลลังก์, โดยปริยายคํา ราชบัลลังก์ นี้ หมายถึงความเป็นพระมหากษัตริย์หรือสถาบันกษัตริย์ก็ได้; ที่นั่งผู้พิพากษาเมื่อพิจารณาคดีในศาล; ส่วนของสถูปเจดีย์บางแบบ มีรูปเป็นแท่นเหนือคอระฆัง. (คำกริยา) นั่งขัดสมาธิ เรียกว่า นั่งคู้บัลลังก์. (ป. ปลฺลงฺก).”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้บทนิยามเป็นว่า –
“บัลลังก์ : (คำนาม) พระแท่นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ภายใต้พระมหาเศวตฉัตร เรียกว่า พระแท่นราชบัลลังก์; ที่นั่งผู้พิพากษาเมื่อพิจารณาคดีในศาล; ส่วนของสถูปเจดีย์แบบลังกา มีรูปเป็นแท่นอยู่เหนือองค์ระฆัง. (คำกริยา) นั่งขัดสมาธิ เรียกว่า นั่งคู้บัลลังก์. (ป. ปลฺลงฺก).
ดูเพิ่มเติม : “บัลลังก์” บาลีวันละคำ (1,279) 29-11-58
ขยายความ :
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “คู้บัลลังก์” บอกไว้สั้นๆ ว่า –
“คู้บัลลังก์ : (คำกริยา) ขัดสมาธิ.”
คำว่า “ขัดสมาธิ” ในภาษาไทยอ่านว่า ขัด-สะ-หฺมาด (ไม่ใช่ ขัด-สะ-มา-ทิ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ขัดสมาธิ” ไว้ว่า –
“ขัดสมาธิ : (คำวิเศษณ์) นั่งคู้เข่าทั้ง ๒ ข้างให้แบะลงที่พื้นแล้วเอาขาไขว้กันทับฝ่าเท้า, ถ้าเอาขาซ้อนทับกันเรียกว่า ขัดสมาธิสองชั้น, ถ้าเอาขาขวาทับขาซ้าย เรียกว่า ขัดสมาธิราบ, ถ้าเอาฝ่าเท้าทั้ง ๒ ข้างขึ้นข้างบน เรียกว่า ขัดสมาธิเพชร, ขัดสมาธิราบและขัดสมาธิเพชรนั้น เป็นท่าพระพุทธรูปนั่ง. (คำนาม) ชื่อพระพุทธรูปปางหนึ่ง อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้ง ๒ วางซ้อนกันบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย.”
สรุปความว่า “คู้บัลลังก์” เป็นท่านั่งอย่างหนึ่ง คือนั่งคู้เข่าทั้ง ๒ ข้างให้แบะลงที่พื้นแล้วเอาขาไขว้กันทับฝ่าเท้า
ในคัมภีร์มีประโยคบาลีที่คุ้นหูนักเรียนนักปฏิบัติธรรมว่า –
นิสีทติ ปลฺลงฺกํ อาภุชิตฺวา
อุชุํ กายํ ปณิธาย
ปริมุขํ สตึ อุปฏฺฐเปตฺวา.
นั่งคู้บัลลังก์
ตั้งกายตรง
ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า
นับว่าเป็นสูตรมาตรฐานในการเจริญจิตภาวนา
แถม :
คำว่า “บัลลังก์” ในภาษาไทยยังนิยมใช้เหมือนภาษาปากหรือสำนวน หมายถึง “ตำแหน่ง” ที่ต้องแข่งขันชิงชัยจึงได้มาครอง เรียกผู้ที่ชนะคนอื่นๆ ได้ครองตำแหน่งนั้นว่า “ครองบัลลังก์” เช่น นักมวยชนะเลิศได้ครองบัลลังก์แชมป์โลกเป็นต้น
…………..
บาลีวันละคำชุด:-
: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา
: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คนดี ครองตำแหน่งร้อยปีก็ยังน้อยเกินไป
: คนจังไร ครองตำแหน่งวันเดียวได้ก็นานเต็มที
#บาลีวันละคำ (2,316)
15-10-61