ธรรมเสนาบดี (บาลีวันละคำ 2,317)
ธรรมเสนาบดี
มีหรือไม่มีในกองทัพธรรมของไทย
อ่านว่า ทำ-มะ-เส-นา-บอ-ดี
ประกอบด้วยคำว่า ธรรม + เสนาบดี
(๑) “ธรรม”
บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ธ) และ ร ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)
: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)
(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)
(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)
(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้”
“ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –
(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม
(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า
(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม
(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม
(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม
(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ
(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ
(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม
ในที่นี้ “ธรรม” มีความหมายเน้นที่-คําสั่งสอนและหลักประพฤติปฏิบัติในพระพุทธศาสนา กล่าวคือ “ธรรมวินัย” อันเป็นตัวพระพุทธศาสนา
(๒) “เสนาบดี”
บาลีเป็น “เสนาปติ” (เส-นา-ปะ-ติ) แยกศัพท์เป็น เสนา + ปติ
(ก) “เสนา” บาลีอ่านว่า เส-นา รากศัพท์มาจาก สิ (ธาตุ = ผูก, มัด) + น ปัจจัย, แผลง อิ ที่ สิ เป็น เอ (สิ > เส) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: สิ > เส + น = เสน + อา = เสนา แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “ผู้ที่ผูกกันไว้” คือ ผู้ที่ต้องเกาะกลุ่มกันเป็นพวก เป็นหมู่ เป็นกอง จึงจะสามารถปฏิบัติงานได้
(2) “ผู้เป็นเหตุให้ผูกมัดข้าศึกได้” คือ เมื่อมีข้าศึกศัตรูมารุกราน (หรือจะไปรุกรานบ้านเมืองอื่น) ต้องอาศัยหมู่คนชนิดเช่นนี้จึงจะสามารถจับข้าศึกได้
“เสนา” หมายถึง กองทัพ (an army)
ขยายความ :
สมัยโบราณ กองทัพที่เป็นมาตรฐานจะประกอบด้วยกำลังพลสี่เหล่า คือ พลช้าง, พลรถ, พลม้า และพลราบ (an army consisting of elephants, chariots, cavalry & infantry) เรียกว่า “จตุรงฺคินี เสนา” (จะ-ตุ-รัง-คิ-นี-เส-นา) แปลตามศัพท์ว่า “กองทัพมีองค์สี่”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“เสนา ๑ : (คำนาม) ไพร่พล. (ป., ส.).”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แก้ไขบทนิยามใหม่ เป็น –
“เสนา ๑ : (คำโบราณ) (คำนาม) ข้าราชการฝ่ายทหาร. (ป., ส.).”
คำว่า “ไพร่พล” กับ “ข้าราชการฝ่ายทหาร” ให้ความรู้สึกที่ต่างกันอย่างมาก
(ข) “ปติ” บาลีอ่านว่า ปะ-ติ รากศัพท์มาจาก –
(1) ปา (ธาตุ = รักษา, ดูแล) + ติ ปัจจัย, รัสสะ อา ที่ ปา เป็น อะ (ปา > ป)
: ปา + ติ = ปาติ > ปติ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รักษา”
(2) ปตฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อิ ปัจจัย
: ปตฺ + อิ = ปติ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดำเนินไปข้างหน้า”
“ปติ” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –
(1) พ่อบ้าน, นาย, เจ้าของ, ผู้นำ (lord, master, owner, leader)
(2) สามี (husband)
: เสนา + ปติ = เสนาปติ แปลว่า “เจ้าแห่งเสนา” หมายถึง ผู้นำกองทัพ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เสนาปติ” ว่า a general (นายพล)
“เสนาปติ” ในภาษาไทยใช้เป็น “เสนาบดี”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เสนาบดี : (คำโบราณ) (คำนาม) แม่ทัพ; ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่; เจ้ากระทรวงซึ่งเทียบเท่ารัฐมนตรีว่าการในปัจจุบัน. (ป., ส.).”
: ธมฺม + เสนาปติ = ธมฺมเสนาปติ > ธรรมเสนาบดี แปลว่า “แม่ทัพแห่งกองทัพธรรม”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “ธรรมเสนาบดี” เป็นอังกฤษว่า –
Dhammasenāpati : generalissimo of the Dhamma; Commander in Chief of the Law; an epithet of the Venerable Sāriputta.
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ธมฺมเสนาปติ” ว่า “captain of the Dhamma,” Ep. of Sāriputta (“จอมทัพธรรม”, เป็นคำประกอบแสดงคุณลักษณะของพระสารีบุตร)
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
“ธรรมเสนาบดี : แม่ทัพธรรม, ผู้เป็นนายทัพธรรม เป็นคำเรียกยกย่องพระสารีบุตร ซึ่งเป็นกำลังใหญ่ของพระศาสดาในการประกาศพระศาสนา.”
ข้อสังเกต :
แนวคิดให้มีตำแหน่ง “ธรรมเสนาบดี” นี้น่าจะมาจากการคิดเทียบกับคติทางราชอาณาจักรอันมีพระเจ้าแผ่นดินเป็น “ราชา” แผ่ขยายอาณาเขตด้วยกองทัพอันมี “เสนาบดี” เป็นแม่ทัพ
ในทางธรรมจักรกล่าวคือพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงเป็น “ธรรมราชา” แผ่ขยายพรหมจรรย์คือพระธรรมวินัยด้วยกองทัพธรรม อันมีพระสารีบุตรอัครสาวกเป็น “ธรรมเสนาบดี” คือแม่ทัพธรรม
คณะสงฆ์ไทยมีพระราชาคณะชั้นธรรม ราชทินนาม “พระธรรมเสนาบดี” เข้าใจว่าคงได้นามนี้มาจากตำแหน่ง “ธรรมเสนาบดี” ในสมัยพุทธกาลนั่นเอง แต่ก็คงเอามาแต่ชื่อเท่านั้น
ถ้าถามว่า กองทัพธรรมแห่งคณะสงฆ์ไทยทุกวันนี้ เรามีใครเป็น “ขุนพล” หรือ “ธรรมเสนาบดี” แม่ทัพธรรม จะตอบกันว่ากระไรดี?
…………..
ดูก่อนภราดา!
: มีขุนพล แต่ไม่ทำหน้าที่ หนึ่ง
: มีขุนพล แต่ทำหน้าที่ไม่เป็น หนึ่ง
: ไม่มีขุนพล หนึ่ง
3 อย่างนี้ ท่านว่ามีคติเสมอกัน
#บาลีวันละคำ (2,317)
16-10-61