สมัครสมา (บาลีวันละคำ 2,322)
สมัครสมา
อ่านว่า สะ-หฺมัก-สะ-มา
ประกอบด้วยคำว่า สมัคร + สมา
(๑) “สมัคร”
บาลีเป็น “สมคฺค” อ่านว่า สะ-มัก-คะ รากศัพท์มาจาก –
(1) สม + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) ซ้อน ค ระหว่าง สม + คมฺ (สม + คฺ + คมฺ), ลบ มฺ ที่สุดธาตุ (คมฺ > ค)
: สม + คฺ + คมฺ = สมคฺคม > สมคฺค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ดำเนินไปในสมะ”
“สม” (สะมะ) ในคำแปลมีความหมายว่า เท่ากัน, เสมอกัน, อย่างเดียวกัน, เที่ยงธรรม, ซื่อตรง, มีจิตใจไม่วอกแวก, ยุติธรรม, รวมเข้าด้วยกัน, ครบถ้วน
(2) สํ (คำอุปรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + อคฺค (ยอด, เป้าหมาย) แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ม (สํ > สม)
: สํ > สม + อคฺค = สมคฺค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่มาพร้อมกันโดยยอดรวม” “ดำเนินไปพร้อมกันโดยมีเป้าหมายร่วมกัน” หมายถึง เป็นอันหนึ่งอันเดียว, มีความสามัคคี, ประสานกัน (being in unity, harmonious)
“สมคฺค” สันสกฤตเป็น “สมคฺร” สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“สมคฺร : (คุณศัพท์) ‘สมัคร,’ สรรพ, สกล; all, entire.”
ในภาษาไทยใช้ตามสันสกฤตเป็น “สมัคร”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สมัคร : (คำกริยา) ยื่นความจำนงขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกหรือร่วมในกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นต้น เช่น สมัครเป็นสมาชิกสมาคม สมัครเข้าทำงาน, บางทีก็มีคํา ใจ ประกอบอยู่ด้วย ซึ่งเป็นคําผสมชนิดที่ต้องการเน้น เช่น ใจสมัคร ว่า ใจที่สมัคร, สมัครใจ ว่า สมัครด้วยความเต็มใจ. (ต. สมัค ว่า เต็มใจ; ป. สมคฺค; ส. สมคฺร ว่า พร้อม).”
หมายเหตุ :
“ต. สมัค ว่า เต็มใจ” อักษรย่อ “ต.” ย่อมาจาก “ตะเลง” หมายถึง ในภาษาตะเลงมีคำว่า “สมัค” แปลว่า เต็มใจ
(๒) “สมา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “สมา” บอกไว้ว่า –
“สมา ๑ : (คำกริยา) ขมา.”
ตามไปดูที่คำว่า “ขมา” พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ –
“ขมา [ขะมา] : (คำกริยา) กล่าวคําขอโทษ เช่น ไปขมาศพ (คำนาม) การยกโทษให้เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งยอมรับผิด เช่น ขอขมา, ษมา ก็ใช้. (ป.; ส. กฺษมา).”
ได้ความตามพจนานุกรมฯ ว่า “ขมา” เป็นคำบาลี
บาลีมีคำว่า “ขม” อ่านว่า ขะ-มะ ใช้เป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า อดทน, ให้อภัย (patient, forgiving) อดกลั้น, ทนได้, แข็งแกร่งต่อ (ความหนาวและความร้อน), เหมาะแก่ (enduring, bearing, hardened to (frost & heat), fit for)
“ขม” ถ้าเป็นคำกริยา (ปฐมบุรุษ เอกพจน์) เป็น “ขมติ” (ขะ-มะ-ติ) มีความหมายดังนี้ –
1 อดทน, อดกลั้น, ให้อภัย (to be patient, to endure, to forgive)
2 เหมาะสม, ดูเหมือนจะดี (to be fit, to seem good)
3 เหมาะเจาะ, ตามใจชอบ, เห็นชอบด้วย (to be fit for, to indulge in, to approve of)
ถ้าเป็น “ขมาเปติ” (ขะ-มา-เป-ติ ภาษาไวยากรณ์บาลีเรียกว่า เหตุกรรตุวาจก ไวยากรณ์ไทยเรียก การิตวาจก) มีความหมายว่า ทำให้สงบ, ขอให้ยกโทษ, สั่งให้ขอโทษ (to pacify, to ask one’s pardon, to apologize)
ถ้าพูดว่า “ข้าพเจ้าขอโทษ” (I beg your pardon) คำกริยาภาษาบาลีว่า “ขมามิ” (ขะ-มา-มิ)
ความเห็น :
“ขมา” อาจกร่อนมาจากเสียงคำกริยา “ขมาเปติ” หรือ “ขมามิ” ในบาลี หรืออีกนัยหนึ่ง “ขม” คำเดิมนั่นเอง แต่ออกเสียงพยางค์ท้ายยืดไปแบบหยุดไม่สนิท ขะ-มะ จึงเป็น ขะ-มา
“ขม” ในบาลีมีความหมายเหมือน “ขันติ” ที่เราแปลกันว่า “ความอดทน” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ขนฺติ” ว่า patience, forbearance, forgiveness (ความอดทน, ความอดกลั้น, การให้อภัย)
อีกนัยหนึ่ง “ขม” ในบาลี เป็น “กฺษมา” ในสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “กฺษม” (คำเดียวกับที่พจนานุกรมฯ ว่า “กฺษมา”) บอกไว้ดังนี้ –
“กฺษม : (คำวิเศษณ์) มีความเพียร, มีความอดกลั้น; งดเว้น; สามารถ; มีความกรุณา; สมควร, เหมาะ; patient, enduring; forbearing or refraining from; adequate or able, suitable, fit;- (คำนาม) ความเพียร; โลก; คืน, ค่ำ, ราตรีกาล; นามพระทุรคา; ความเหมาะ; patience; the earth; night; a name of Duragā; propriety or fitness.”
“สมา” อาจกร่อนมาจาก “กฺษมา” ในสันสกฤตนั่นเอง
สมัคร + สมา = สมัครสมา
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สมัครสมา : (คำกริยา) ขอขมาในความผิดที่ได้กระทําไปแล้ว.”
อภิปราย :
ถ้าดูตามรากศัพท์ “สมัคร” กับ “สมา” ไม่ใช่คำในชุดเดียวกัน แต่ในภาษาไทยเอามาพูดควบกันแบบคำสร้อย
เมื่อพิจารณาความหมายในภาษาไทย “สมา” น่าจะเป็นคำหลัก ส่วน “สมัคร” เป็นคำเสริม ภาษาไทยเพียงต้องการคำที่มีเสียงล้อกับ “สมา” เสริมนำก่อนจะถึงคำว่า “สมา” โดยไม่ได้ตั้งใจจะให้มีความหมายจริงจังเพราะความหมายหลักอยู่ที่ “สมา” เทียบสำนวนในคำไทยเช่น “ผู้หลักผู้ใหญ่” คำหลักอยู่ที่ “ผู้ใหญ่” ส่วน “ผู้หลัก” เป็นคำเสริม
คำเสริมเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องมีความหมาย แต่อาจตีความให้มีความหมายก็ได้ถ้าคำนั้นสามารถ “ลาก” เข้าความได้
อย่างกรณี “สมัครสมา” อาจต้องการเพียงเสียงพูดว่า สะ-หมัก เพื่อล้อกับเสียงว่า สะ-มา เดิมอาจจะไม่ได้สะกดเป็น “สมัคร” ด้วยซ้ำไป แต่เสียง สะ-หมัก สามารถลากเข้าไปหาคำว่า “สมัคร” ได้ จึงมีผู้สะกดเช่นนี้ แล้วลากเข้าความต่อไปว่า เมื่อมีการ “สมา” คือขอโทษและยกโทษให้กันแล้ว ก็เป็นการสมานสามัคคีกันไปในตัวอันเป็นความหมายของ “สมัคร” จึงเป็นที่มาของคำว่า “สมัครสมา” ไปด้วยประการฉะนี้
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ให้อภัยเป็นวิสัยของนักปราชญ์
: ผูกพยาบาทเป็นวิสัยของคนมีเวร
#บาลีวันละคำ (2,322)
21-10-61