บาลีวันละคำ

อิมินา (บาลีวันละคำ 2,323)

อิมินา

แปลว่าอะไร

อ่านว่า อิ-มิ-นา

อิมินา” เป็นคำประเภท “สรรพนาม” ศัพท์เดิมในบาลีคือ “อิม” (อิ-มะ) หรือที่นักเรียนบาลีเรียกว่า “อิมะศัพท์” แปลว่า “นี้” เทียบคำอังกฤษคือ this

อิม” แจกด้วยวิภัตตินามที่สาม (ตติยาวิภัตติ) เอกพจน์ ปุงลิงค์และนปุงสกลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “อิมินา” เวลาแปลจะต้องมีคำนามที่เป็นเจ้าของกำกับอยู่ด้วยเพื่อแสดงให้รู้ความหมายว่า อะไร “นี้” (คนนี้ ตัวนี้ สิ่งนี้)

วิภัตตินามที่สามเวลาแปลในภาษาไทยใช้คำเชื่อม (อายตนิบาต) ว่า “ด้วย-, โดย-, อัน-, ตาม-, เพราะ-, มี-”

เช่น “อิมินา กตปุญฺเญน” แปลว่า “ด้วยบุญที่ทำแล้วนี้”

……………

อิมินา” ที่ค่อนข้างคุ้นหูคุ้นปากคนไทยคือ “อิมินา ปุญฺญกมฺเมน” (อิมินา ปุญญะกัมเมนะ) หรืออิมินากรวดน้ำ หรือที่คนเก่านิยมเรียกกันว่า “อิมินาใหญ่”

อิมินา ปุญฺญกมฺเมน” แปลว่า “ด้วยบุญกรรมนี้…” จากนี้ก็เป็นข้อความตั้งความปรารถนาต่อไปอีกยืดยาว จบลงด้วยคำว่า “มาโรกาสํ ลภนฺตุ มา” (มาโรกาสัง ละภันตุ มา) แปลว่า “ขอมารอย่าได้โอกาส (ที่จะขัดขวางความปรารถนาของข้าพเจ้านี้)

อิมินา” กรวดน้ำนี้คนเก่าท่องได้กันเป็นส่วนมาก ภายหลังสำนักสวนโมกข์ได้แปลเป็นบทร้อยกรองเผยแพร่ มีผู้ท่องบ่นกันแพร่หลายทั่วไปอยู่แล้ว จึงไม่ขอนำตัวบทมาเสนอในที่นี้

อิมินา” ที่น่าสนใจอีกบทหนึ่งซึ่งขอเรียกว่า “อิมินาตั้งความปรารถนา” เป็นข้อความสั้นๆ คือเป็นคาถาปัฐยาวัตบทเดียว แต่ไม่เป็นที่รู้จักของคนทั้งหลาย อาจเป็นเพราะไม่มีใครนำมาเผยแพร่ ผู้เขียนบาลีวันละคำขอนำมาแสดงไว้ในที่นี้

อิมินา” ตั้งความปรารถนานี้เป็นคำของพระอนุรุทธเถระในอดีตชาติที่เกิดเป็นคนเข็ญใจทำงานรับจ้างเกี่ยวหญ้า วันหนึ่งได้ใส่บาตรให้พระปัจเจกพุทธเจ้าที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ แล้วได้ตั้งความปรารถนาเป็นข้อความดังนี้ –

…………..

อิมินา  ปน  ทาเนน

มา  เม  ทาฬิทฺทิยํ  อหุ

นตฺถีติ  วจนํ  นาม

มา  อโหสิ  ภวาภเว.

(อิมินา  ปะนะ  ทาเนนะ

มา  เม  ทาฬิททิยัง  อะหุ

นัตถีติ  วะจะนัง  นามะ

มา  อะโหสิ  ภะวาภะเว.)

แปลว่า –

ด้วย (ผลแห่ง) ทานนี้

ขอความยากจนเข็ญใจจงอย่าได้มีแก่ข้าพเจ้า

ขึ้นชื่อคำว่า “ไม่มี”

อย่าได้มีแก่ข้าพเจ้าทุกภพทุกชาติเทอญ

(ขอให้ข้าพเจ้าอย่าได้ยินได้ฟังคำว่า “ไม่มี” ทุกภพทุกชาติเทอญ)

…………..

ปรากฏว่าท่านได้เป็นเศรษฐีทันตาเห็น

อภิปราย :

การตั้งความปรารถนาเช่นว่านี้ต่างจากการอ้อนวอนรอผลดลบันดาลอย่างไร?

การรอผลดลบันดาลคือการขออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาช่วยดลบันดาลผลที่ต้องการให้สำเร็จโดยเจ้าตัวไม่ต้องทำอะไรนอกจากอ้อนวอนหรือเซ่นสรวงบูชาให้ศักดิ์สิทธิ์พอใจ แบบนี้ไม่ใช่คำสอนในพระพุทธศาสนา

การตั้งความปรารถนามิใช่ว่าอยู่ๆ ก็ทำได้ตามใจชอบ แต่เป็นกิจที่จะทำได้ก็ต่อเมื่อได้บำเพ็ญบุญกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งสำเร็จลงแล้วและอ้างอำนาจบุญกรรมนั้นเป็นปัจจัยในการตั้งความปรารถนา

การตั้งความปรารถนาคือการตั้งเป้าหมายว่าต้องการให้ผลแห่งบุญกรรมนั้นเป็นเช่นไร อุปมาเหมือนคนที่ทำงานหาเงินโดยมีเป้าหมายว่าจะใช้เงินไปเพื่อการอันใด หรือลงมือปลูกพืชผลโดยตั้งเป้าหมายว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตไปเพื่อบริโภคหรือจำหน่ายเอาเงินมาใช้เพื่อการอันใด

แต่การรอผลดลบันดาลนั้นคือไม่ทำงานหาเงิน แต่นั่งรอให้มีเงินเอาเงินมาหยิบยื่นให้ หรือไม่ปลูกพืชผล แต่นั่งรอให้พืชผลงอกเงยขึ้นมาเองโดยไม่ต้องทำอะไร

การตั้งความปรารถนาเมื่อได้บำเพ็ญบุญกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งสำเร็จลงแล้วนี้ ท่านผู้หนักในธรรมบางจำพวกมักตำหนิว่าเป็นการทำบุญแบบหวังผล ยังเป็นการยึดติดอยู่กับผลบุญ ยังไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องตามหลักของพระพุทธศาสนา

ท่านที่ตำหนิเช่นนี้อาจลืมนึกไปว่า ระดับจิตใจของปุถุชนย่อมต้องอาศัยความปรารถนาอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยวไปก่อนเสมอ พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่อยังเป็นปุถุชนต่างก็เคยตั้งความปรารถนากันมาก่อนทั้งสิ้น

เจ้าของคาถา “อิมินา” ตั้งความปรารถนาข้างต้นนั้น ต่อมาท่านก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง คือพระอนุรุทธเถระผู้ได้รับเอตทัคคะเป็นเลิศในทางมีทิพยจักษุ

ในบ้านเมืองเรามีผู้หนักในธรรมเป็นจำนวนไม่น้อยที่พยายามเกณฑ์ให้ปุถุชนต้องมีวิธีคิดและดำเนินชีวิตเหมือนอริยบุคคล

…………..

ดูก่อนภราดา!

: การตั้งความปรารถนาเป็นธรรมดาวิสัยสามัญ

: อย่าเอามาตรฐานของพระอรหันต์มาตัดสินปุถุชน

#บาลีวันละคำ (2,323)

22-10-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย