บาลีวันละคำ

ทวีตรีบาตรบูร (บาลีวันละคำ 2,326)

ทวีตรีบาตรบูร

ศัพท์ที่นักใส่บาตรควรจะต้องรู้

อ่านว่า ทะ-วี-ตฺรี-บาด-บูน

ประกอบด้วยคำว่า ทวี + ตรี + บาตร + บูร

(๑) “ทวี

บาลีเป็น “ทฺวิ” ออกเสียงตามลิ้นไทยว่า ทะ-วิ เสียง ทะ แผ่วๆ และควบกับ วิ หรือออกเสียงคำว่า ทุยอิ๊ เร็วๆ จะได้เสียง ทฺวิ ที่ถูกต้องที่สุด

ทฺวิ” เป็นศัพท์สังขยา คือคำบอกจำนวน แปลว่า สอง (จำนวน ๒) (number two)

ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ “ทฺวิ:

ทฺวิ” ในบาลีเมื่อไปสมาสกับคำอื่นอาจแปลงรูปได้อีกอย่างน้อย 5 รูป อาจจำเป็นสูตรง่ายๆ ว่า “ทฺวิ ทิ ทุ ทฺวา พา เทฺว

ทฺวิ, ทฺวา, เทฺว 3 คำนี้อ่านเพื่อให้ได้เสียงที่ถูกต้องว่า ทุย-อิ๊, ทัว-อา, ทัว-เอ

ตัวอย่าง :

(1) “ทิ” เช่น ทิช = “เกิดสองครั้ง” คือ นก, พราหมณ์

(2) “ทุ” เช่น ทุปฏวตฺถ = ผ้าสองชั้น

(3) “ทฺวา” เช่น ทฺวาทส จำนวน 12 เช่นในคำว่า ทวาทศมาส = 12 เดือน

(4) “พา” เช่น พาวีสติ = จำนวน 22

(5) “เทฺว” เช่น เทฺวภาว = ความเป็นสอง

คำว่า “โท” ในภาษาไทยที่แปลว่า สอง ก็เป็นรูปที่กลายมาจาก ทฺวิ คือ ทฺวิ > ทุ > โท

ทฺวิ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ทวี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทวี : (คำกริยา) เพิ่มขึ้น, มากขึ้น, เช่น งานทวีขึ้น. (ป., ส. ทฺวิ).”

โปรดสังเกตว่า ในบาลี “ทฺวิ” แปลว่า สอง ไม่ได้แปลว่า เพิ่มขึ้น

เข้าใจว่า “ทวี” ในภาษาไทยที่แปลว่า เพิ่มขึ้น นั้น คงเอาความหมายมาจาก “ทฺวิคุณ” ในสันสกฤต หรือ “ทิคุณ” ในบาลีที่แปลว่า “สองเท่า” ซึ่งมีความหมายว่า เพิ่มขึ้น แต่เมื่อใช้ในภาษาไทย ตัดคำว่า “คุณ” ออกไป เหลือแต่ “ทวี” แต่ยังคงใช้ในความหมายเท่ากับ “ทฺวิคุณ

(๒) “ตรี

บาลีเป็น “ติ” และแปลงเป็น “เต” ได้ด้วย แปลว่า “สาม” (จำนวน 3)

หลักภาษา :

(1) ติ หรือ เต ถ้าคงรูปเช่นนี้ จะต้องมีคำอื่นมาสมาสท้ายเสมอ ไม่ใช้เดี่ยวๆ

(2) ติ หรือ เต ในบาลี มักแผลงเป็น “ตรี” หรือ “ไตร” ในภาษาไทย เช่น

ติ + จีวร = ติจีวร = ไตรจีวร (จีวร 3 ผืน)

ติ + ปิฏก = ติปิฏก = ตรีปิฎก, ไตรปิฎก (คัมภีร์ 3 หมวด = พระไตรปิฎก)

เต + ภูมิ = เตภูมิ > ไตรภูมิ (ภพภูมิทั้ง 3) เช่น “ไตรภูมิพระร่วง” ชื่อเดิมคือ “เตภูมิกถา” (เต + ภูมิ + กถา) หนังสือว่าด้วยภูมิทั้ง 3

เต + มาส = เตมาส = ตรีมาส, ไตรมาส (3 สามเดือน)

ตรี” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ตรี ๓ : (คำวิเศษณ์) สาม เช่น ตรีเนตร, ชั้นที่ ๓ (ใช้เกี่ยวกับลําดับชั้นหรือขั้นของยศ ตําแหน่ง คุณภาพ หรือ วิทยฐานะ ตํ่ากว่า โท สูงกว่า จัตวา) เช่น ร้อยตรี ข้าราชการชั้นตรี ปริญญาตรี; เรียกเครื่องหมายวรรณยุกต์รูปดังนี้  ๊ ว่า ไม้ตรี. (ส. ตฺริ).”

(๓) “บาตร

บาลีเป็น “ปตฺต” (ปัด-ตะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) ปตฺ (ธาตุ = ตก) + ปัจจัย

: ปตฺ + = ปตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ภาชนะเป็นที่ตกลงแห่งข้าวสุก” หมายความว่า ข้าวสุก ( = อาหาร) ตกลงไปในภาชนะชนิดนี้ จึงเรียกภาชนะนี้ว่า “ปตฺต

(2) ปาต (ตก) + ตา (ธาตุ = รักษา) + (อะ) ปัจจัย, รัสสะ อา ที่ ปา-(ต) เป็น อะ (ปาต > ปต), “ลบสระหน้า” คือ อา ที่ ตา (ตา + อะ ปัจจัย, ตา อยู่หน้า อะ อยู่หลัง จึงถือว่า “อา” ที่ ตา เป็น “สระหน้า”) (ตา > )

: ปาต + ตา = ปาตตา > ปาตต + = ปาตต > ปตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ภาชนะที่รักษาจากการตก” หมายความว่า (1) รักษา คือระวังไม่ให้ภาชนะนี้ตก เนื่องจากแต่เดิมบาตรทำด้วยดิน ตกแล้วแตก (2) รักษา คือรองรับอาหารที่ตกลงมาไม่ให้หล่นถึงพื้น แต่ให้ตกลงในภาชนะนี้ จึงเรียกภาชนะนี้ว่า “ปตฺต

ปตฺต” (ปุงลิงค์) หมายถึง ชาม, โดยเฉพาะอย่างยิ่งบาตรของภิกษุ (a bowl, esp. the alms-bowl of a bhikkhu)

บาลี “ปตฺต” สันสกฤตเป็น “ปตฺร” เราเขียนอิงสันสกฤต แต่ยืดเสียงเป็น “ปาตร” และแปลง เป็น ตามหลักนิยมในภาษาไทย

: ปตฺต > ปตฺร > ปาตร > บาตร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บาตร : (คำนาม) ภาชนะชนิดหนึ่งสําหรับภิกษุสามเณรใช้รับอาหารบิณฑบาต. (ส. ปตฺร; ป. ปตฺต).”

(๔) “บูร

บาลีเป็น “ปูร” (ปู-ระ) รากศัพท์มาจาก ปูรฺ (ธาตุ = เต็ม) + ปัจจัย

: ปูรฺ + = ปูร (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “อันเต็ม” หมายถึง เต็ม, เปี่ยม (full; full of) เช่น น้ำเต็มตุ่ม ภัตตาหารเต็มบาตร

การประสมคำในบาลี :

ทฺวิ + ติ ซ้อน ตฺ : ทฺวิ + ตฺ + ติ = ทฺวิตฺติ แปลว่า “สองหรือสาม

ทฺวิตฺติ + ปตฺต = ทฺวิตฺติปตฺต แปลว่า “บาตรสองหรือสามใบ” หมายถึง สองหรือสามบาตร

ทฺวิตฺติปตฺต + ปูร = ทฺวิตฺติปตฺตปูร (ทฺวิด-ติ-ปัด-ตะ-ปู-ระ) แปลว่า “อาหารอันเต็มสองหรือสามบาตร

ขยายความ :

ทฺวิตฺติปตฺตปูร” เป็นคำที่ปรากฏในพระวินัยปิฎกในสิกขาบทที่ว่าด้วยการห้ามภิกษุรับอาหารบิณฑบาตเกิน 3 บาตร คือ

รับเต็มบาตรแล้วถ่ายครั้งที่ 1 ได้

รับเต็มบาตรแล้วถ่ายครั้งที่ 2 ได้

รับเต็มบาตรครั้งที่ 3 ถ่ายอีกไม่ได้

ตัวบทเต็มๆ ในพระบาลีว่าดังนี้ –

…………..

ภิกฺขุํ  ปเนว  กุลํ  อุปคตํ  ปูเวหิ  วา  มนฺเถหิ  วา  อภิหฏฺฐุํ  ปวาเรยฺย  ฯ  อากงฺขมาเนน  ภิกฺขุนา  ทฺวิตฺติปตฺตปูรา  ปฏิคฺคเหตพฺพา  ฯ  ตโต  เจ  อุตฺตรึ  ปฏิคฺคเณฺหยฺย  ปาจิตฺติยํ  ฯ  ทฺวิตฺติปตฺตปูเร  ปฏิคฺคเหตฺวา  ตโต  นีหริตฺวา  ภิกฺขูหิ  สทฺธึ  สํวิภชิตพฺพํ  อยํ  ตตฺถ  สามีจีติ  ฯ 

แปลว่า –

อนึ่ง เขาปวารณาเฉพาะภิกษุผู้เข้าไปสู่ตระกูล ด้วยขนมก็ดี ด้วยสัตตุผงก็ดี เพื่อนำไปได้ตามปรารถนา. ภิกษุผู้ต้องการพึงรับได้เต็ม ๒-๓ บาตร. ถ้ารับยิ่งกว่านั้นเป็นปาจิตตีย์. ครั้นรับเต็ม ๒-๓ บาตรแล้ว นำออกจากที่นั้นแล้วพึงแบ่งปันกับภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นสามีจิกรรมในเรื่องนั้น.

ที่มา: โภชนวรรค สิกขาบทที่ 4 มหาวิภังค์ ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 2 ข้อ 495

…………..

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงแปลสิกขาบทนี้ไว้ในหนังสือ “นวโกวาท” ว่า –

…………..

๔. ภิกษุเข้าไปบิณฑบาตในบ้าน ทายกเขาเอาขนมมาถวายเป็นอันมาก จะรับได้เป็นอย่างมากเพียง ๓ บาตรเท่านั้น ถ้ารับให้เกินกว่านั้นต้องปาจิตตีย์. ของที่รับมามากเช่นนั้นต้องแบ่งให้ภิกษุอื่น.

…………..

ในที่นี้ ผู้เขียนบาลีวันละคำขอแปลง “ทฺวิตฺติปตฺตปูร” เป็นไทยว่า “ทวีตรีบาตรบูร” อ่านว่า ทะ-วี-ตฺรี-บาด-บูน แปลว่า “อาหารอันเต็มสองหรือสามบาตร

เวลาพูดกันถึงเรื่องพระรับบิณฑบาตได้ไม่เกิน 3 บาตร ขอฝากให้นึกถึงคำว่า “ทวีตรีบาตรบูร” ไว้อีกสักคำหนึ่ง

เวลาเห็นพระออกบิณฑบาตแล้วขนหรือเข็นกลับวัดอย่างล้นเหลือก็ดี หรืออย่างกรณีตักบาตรเทโวฯ พระแต่ละรูปถ่ายบาตรมากกว่า 3 ครั้งก็ดี เรามีคำตอบกันบ้างหรือเปล่าว่าผิดหรือถูกตามพระธรรมวินัย?

หรือว่าเรื่องเช่นนี้ควรมีคำอธิบายหรือทางออกอย่างไร

…………..

บาลีวันละคำชุด:-

: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา

: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ศรัทธาที่ขาดปัญญา

: คือเหยื่ออันโอชาของทุรชน

#บาลีวันละคำ (2,326)

25-10-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *