บาลีวันละคำ

อโห วต (บาลีวันละคำ 2,327)

อโห วต

อุทานธรรมคำบาลี

อ่านว่า อะ-โห วะ-ตะ

เป็นคำ 2 คำ คือ “อโห” และ “วต

(๑) “อโห” (อะ-โห)

เป็นคำจำพวกหนึ่งที่บาลีไวยากรณ์เรียกว่า “อัพยยศัพท์” (อ่านว่า อับ-เพียะ-สับ) ลักษณะของคำจำพวกนี้คือไม่เปลี่ยนรูปไปตามวิภัตติปัจจัยเหมือนคำนามและคำกริยา

อโห” เป็นคำอุทาน นักเรียนบาลีแปลกันว่า โอ (คำพูดติดปากของนักเรียนคือ “อโห โอ” = อโห แปลว่า โอ)

อโห” ใช้ในความหมาย 2 อย่าง ตามสูตรว่า –

(๑) อัจฉริยัตถะ = แสดงความตื่นเต้น, ความประหลาดใจ, ความพิศวง (พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า yea, indeed, well; I say! for sure! โอโฮ, จริงๆ, แน่ละ เอ้อ!, นี่แน่ะ!, บอกแล้วไงล่ะ!, แน่นอน!)

(๒) สังเวคัตถะ = แสดงความสลดใจ, ความเศร้า, ความเจ็บปวด (ch! alas! woe! โอ! อนิจจา! กรรม!)

แม้ตำราจะบอกว่า “อโห” เป็นคำที่ไม่เปลี่ยนรูป แต่นักภาษาสันนิษฐานว่ารากเดิมของคำนี้น่าจะมาจากคำว่า “อห” (อะ-หะ) เหมือน “อหห” ในสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

(1) อหห, อหหา : (คำอุทาน) อ้าว, เออ, อุ๊ย, โอย, โวย, ฯลฯ; an interjection implying surprise, fatigue, pain, pleasure, and calling, as ah ! aha ! &c.

(2) อโห : นิบาตและบุรพบทบอกความครหา, ความสงสาน, ความเสียใจ, การร้องเรียก, สดุดี, เยินยอ, ชม, เหนื่อย, อ่อนใจ, ตกใจ, ศงกา เยียไย; a particle and interjection implying reproach, compassion, regret, calling, praise, flattery, approbation, fatigue, weariness, surprise, doubt, and sneering.

แต่พจนานุกรมบาลี-ไทย สำหรับนักศึกษา ฉบับ BUDSIR 7 for Windows มีศัพท์ว่า “อห” และ “อหห” บอกไว้ว่า –

(1) อห : (อัพยยศัพท์) เป็นนิบาตบอกอรรถแสดงความตกใจ เช่น โอ้ ! อนิจจา ! ตายจริง !.

(2) อหห : (อัพยยศัพท์) เป็นนิบาติบอกอรรถ คือความลำบากหรืออัศจรรย์ใจ.

โอ้โฮ < โอ < อโห < อห < อหหา เสียงคล้ายกับบางคำในภาษาอังกฤษ

พจนานุกรม สอ เสถบุตร บอกว่า –

aha (อะฮา-), ah (อา) = อา, อ้าว, หุยฮา

(๒) “วต” (วะ-ตะ)

เป็นคำจำพวก “อัพยยศัพท์” (indecl) เช่นเดียวกัน

วต” แปลว่า แน่ละ, แน่นอน, จริง ๆ, โธ่! (surely, certainly, indeed, alas!)

บาลี “วต” สันสกฤตก็เป็น “วต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

วต : (คำนิบาต)  นิบาตบอกความเสร้า; ความปรีติ, ฯลฯ. ดุจคำว่า – อา, อ้า, โอ, โอ้; a particle expressing sorrow, pleasure, &c. as – ah, oh.”

นักเรียนบาลีในเมืองไทยนิยมแปลว่า “วต” ว่า “หนอ” เช่น “อนิจฺจา วต สงฺขารา” = สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ

หลักการใช้ “อโห” และ “วต:

อโห” มักเป็นคำแรกในประโยค

วต” ต้องอยู่หลังคำอื่นเสมอ เช่น “อนิจฺจา วต …”

อโห” ไม่ต้องมี “วต” ก็ได้

วต” ไม่ต้องมี “อโห” ก็ได้

อโห” และ “วต” ใช้ร่วมกันเป็น “อโห วต” ก็ได้ (โปรดสังเกต “วต” อยู่หลัง “อโห”)

อโห วต” ในบาลี นิยมใช้เป็นคำอุทาน บอกความสลดใจ สังเวชใจ เมื่อได้พบเห็นหรือได้ยินได้ฟังเรื่องราวเหตุการณ์ที่ชวนให้เกิดความสังเวช

แต่บางกรณี “อโห” และ “วต” ใช้บอกถึงความบันเทิงใจก็ได้ด้วย

…………..

ดูก่อนภราดา!

อโห วต!

: อยากมีความสุขไปร้อยปี

: แต่ทำความดีแค่สามเดือน!

#บาลีวันละคำ (2,327)

26-10-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย