คฤหบดีจีวร (บาลีวันละคำ 2,333)
คฤหบดีจีวร
อ่านว่า คะ-รึ-หะ-บอ-ดี-จี-วอน
ประกอบด้วยคำว่า คฤหบดี + จีวร
(๑) “คฤหบดี”
บาลีเป็น “คหปติ” (คะ-หะ-ปะ-ติ) แยกศัพท์เป็น คห + ปติ
(ก) “คห” (คะ-หะ) รากศัพท์มาจาก คหฺ (ธาตุ = จับ, ยึด, ถือเอา) + อ ปัจจัย
: คหฺ + อ = คห แปลตามศัพท์ว่า “ที่เก็บทรัพย์อันคนนำมาแล้ว” (คนหาทรัพย์มาเก็บไว้ที่นั่น จึงเรียกที่นั่นว่า คห = ที่เก็บทรัพย์) หมายถึง บ้าน (a house)
ศัพท์ที่ใกล้กันอีกคำหนึ่งคือ “เคห” (เค-หะ) รากศัพท์เหมือนกับ “คห” เพียงแต่แปลง อะ ที่ ค-(ห) เป็น เอ : คห > เคห
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เคห” ว่า a dwelling, hut, house; the household (ที่อยู่อาศัย, กระท่อม, บ้าน; ครัวเรือน)
(ข) “ปติ” (ปะ-ติ) รากศัพท์มาจาก –
(1) ปา (ธาตุ = รักษา, ดูแล) + ติ ปัจจัย, รัสสะ อา ที่ ปา เป็น อะ (ปา > ป)
: ปา + ติ = ปาติ > ปติ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รักษา”
(2) ปตฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อิ ปัจจัย
: ปตฺ + อิ = ปติ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดำเนินไปข้างหน้า”
“ปติ” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –
(1) พ่อบ้าน, นาย, เจ้าของ, ผู้นำ (lord, master, owner, leader)
(2) สามี (husband)
คห + ปติ = คหปติ แปลตามศัพท์ว่า “เจ้าของแห่งเรือน” หมายถึง เจ้าของบ้าน, พ่อบ้าน, คหบดี (the possessor of a house, the head of the household, pater familias)
(๒) “จีวร”
บาลีอ่านว่า จี-วะ-ระ รากศัพท์มาจาก จิ (ธาตุ = ก่อ, สะสม) + อีวร ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือ อิ ที่ จิ (จิ > จ)
: จิ > จ + อีวร = จีวร แปลตามศัพท์ว่า “ผ้าอันท่านก่อขึ้นจากท่อนผ้า” หมายความว่า “ผ้าที่เย็บต่อกันเป็นชิ้นๆ”
จีวรพระจึงไม่ใช่เนื้อเดียวกันทั้งผืน แต่เป็นผ้าที่เป็นชิ้นๆ เอามาเย็บต่อกันเป็นผืน
ภาษาบาลี “จีวร” หมายถึงผ้าทุกผืนที่พระใช้นุ่งห่ม (the yellow robe of a Buddhist monk or novice)
ในภาษาบาลี “จีวร” หมายถึงผ้าทุกผืนที่พระใช้นุ่งห่ม แต่เรียกแยกออกไปแต่ละชนิด กล่าวคือ –
(1) ผ้านุ่ง เรียก “อันตรวาสก” (อัน-ตะ-ระ-วา-สก) คือที่เราเรียกกันว่า “สบง”
(2) ผ้าห่ม เรียก “อุตตราสงค์” (อุด-ตะ-รา-สง) นี่คือที่เราเรียกกันว่า “จีวร”
(3) ผ้าห่มซ้อน (ผ้าห่มผืนที่สอง) เรียกว่า “สังฆาฏิ” (สัง-คา-ติ)
รวมผ้าทั้ง 3 ผืนเข้าด้วยกันเรียกว่า “ไตรจีวร”
คหปติ+ จีวร = คหปติจีวร (คะ-หะ-ปะ-ติ-จี-วะ-ระ) แปลว่า “จีวรของเจ้าของบ้าน” หมายถึง จีวรของคหบดี (คือจีวรที่ฆราวาสถวาย) (the robe of a householder [i. e. a layman’s robe])
“คหปติจีวร” ใช้ในภาษาไทยเป็น “คฤหบดีจีวร”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
“คฤหบดีจีวร : ผ้าจีวรที่ชาวบ้านถวายพระ.”
ขยายความ :
ตามหลักพระวินัย เครื่องนุ่งห่มของภิกษุในพระพุทธศาสนาที่เราเรียกรู้กันว่า “ไตรจีวร” มีทางได้มา 2 ทาง คือ
(1) ระยะต้นที่มีกุลบุตรเข้ามาบวชเป็นภิกษุ พระพุทธองค์ทรงบัญญัติให้ภิกษุใช้เครื่องนุ่งห่มที่ได้มาโดยวิธีเลือกเก็บหาผ้าที่เขาทิ้งแล้วมาเย็บย้อมทำเป็นจีวร ด้วยเหตุผลที่มุ่งให้เป็นคนกินง่ายอยู่ง่าย ไม่มักมาก และเพื่อฝึกหัดขัดเกลาตนเอง ดังปรากฏพระพุทธพจน์ที่พระอุปัชฌาย์ยกมาชี้แจงเสมือนปฐมนิเทศพระบวชใหม่ในทันที่บวชเสร็จที่เรียกกันว่า “บอกอนุศาสน์” ว่า “ปํสุกูลจีวรํ นิสฺสาย ปพฺพชฺชา” ถอดความว่า “ชีวิตนักบวชในพระพุทธศาสนาอาศัยผ้าบังสุกุลเป็นเครื่องนุ่งห่ม”
ผ้าที่ได้มาโดยวิธีนี้เรียกว่า “บังสุกุลจีวร” มีความหมายว่า ผ้าที่เกลือกกลั้วด้วยฝุ่น, ผ้าที่ได้มาจากกองฝุ่น กองหยากเยื่อซึ่งเขาทิ้งแล้ว ตลอดถึงผ้าห่อคลุมศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ไม่ใช่ผ้าที่ชาวบ้านถวาย
(2) ระยะต่อมา เมื่อภิกษุสงฆ์มีจำนวนมากขึ้น และมีปฏิปทาเป็นที่เลื่อมใสของประชาชน เกิดมีผู้ศรัทธาปรารถนาจะอุปการะภิกษุให้มีความสะดวกด้วยปัจจัยสี่ จึงทูลขอให้พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ภิกษุรับผ้าที่ชาวบ้านถวายโดยตรงเพื่อทำจีวร ตลอดจนถวายจีวรสำเร็จรูปอย่างที่ถวายกันในปัจจุบันได้
ผ้าที่ชาวบ้านถวายโดยตรงเช่นนี้เรียกว่า “คฤหบดีจีวร”
ดูเพิ่มเติม: “บังสุกุลจีวร – หนึ่งในจตุปัจจัย” บาลีวันละคำ (2,261) 21-8-61
…………..
บาลีวันละคำชุด:-
: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา
: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เครื่องแต่งกายไม่ใช่เครื่องบ่งชี้ว่าจะได้บรรลุธรรม
: แต่เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความมีระเบียบวินัย-
-อันเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดของการบรรลุธรรม
#บาลีวันละคำ (2,333)
1-11-61