กรรมวาจาจารย์ (บาลีวันละคำ 2,340)
กรรมวาจาจารย์
อาจารย์ที่แทบจะไม่มีใครรู้จัก
อ่านว่า กำ-มะ-วา-จา-จาน
ประกอบด้วยคำว่า กรรมวาจา + อาจารย์
(๑) “กรรมวาจา” แยกศัพท์เป็น กรรม + วาจา
(ก) “กรรม” บาลีเป็น “กมฺม” (กำ-มะ) สันสกฤตเป็น “กรฺม” (กระ-มะ, ก ควบ ร กลืนเสียง ระ ลงคอ) ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “กรรม”
“กมฺม” รากศัพท์คือ กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุและ ร ที่ต้นปัจจัย
: กร > ก + รมฺม > มฺม : ก + มฺม = กมฺม
“กมฺม” แปลว่า การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (the doing, deed, work) นิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม”
(ข) “วาจา” รากศัพท์มาจาก วจฺ (ธาตุ = พูด) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ว-(จฺ) เป็น อา ตามสูตร “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (วจฺ > วาจ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตฺถีลิงค์
: วจฺ + ณ = วจณ > วจ > วาจ + อา = วาจา แปลตามศัพท์ว่า “คำอันเขาพูด” หมายถึง คำพูด การกล่าว, การพูด, วาจา (word, saying, speech)
กมฺม + วาจา = กมฺมวาจา แปลว่า “คำพูดในกิจของสงฆ์”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กมฺมวาจา” ว่า the text or word of an official Act (ข้อความหรือคำพูดในกรรมวาจา)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กรรมวาจา : (คำนาม) คำประกาศกิจการในท่ามกลางสงฆ์. (ส. กรฺม + วาจา = คำ; ป. กมฺม + วาจา).”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “กรรมวาจา” เป็นอังกฤษดังนี้ –
Kammavācā : the formal words of an act; text of a formal act, i.e. a motion (ญัตติ) together with one or three proclamations (อนุสาวนา) that may follow.
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความไว้ว่า –
“กรรมวาจา : คำประกาศกิจในท่ามกลางสงฆ์, คำสวดประกาศในการทำสังฆกรรม, คำประกาศในการดำเนินการประชุม แยกเป็น ญัตติ และ อนุสาวนา.”
ดูเพิ่มเติม: “กรรมวาจา” บาลีวันละคำ (2,334) 2-11-61
(๒) “อาจารย์”
เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “อาจริย” (อา-จะ-ริ-ยะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย
: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประพฤติเอื้อเฟื้อเกื้อกูลแก่ศิษย์”
(2) อา (จากศัพท์ “อาทิ” = เบื้องต้น) + จรฺ (ธาตุ = ศึกษา) + อิย ปัจจัย
: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังศิษย์ให้ศึกษามาแต่ต้น”
(3) อา (จากศัพท์ “อาทร” = เอื้อเฟื้อ, เอาใจใส่) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย
: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันศิษย์พึงประพฤติ คือปรนนิบัติด้วยความเอาใจใส่”
(4) อา (แข็งแรง, จริงจัง, ยิ่งใหญ่) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย
: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้บำเพ็ญประโยชน์สุขแก่ศิษย์อย่างดียิ่ง”
(5) อา (แทนศัพท์ “อภิมุขํ” = ข้างหน้า, ตรงหน้า) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย
: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันศิษย์พึงประพฤติทำไว้ข้างหน้า” (คือศิษย์พึงดำเนินตาม)
(6) อา (แทนศัพท์ “อาปาณโกฏิกํ” = ตลอดชีวิต) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย
: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันศิษย์พึงประพฤติ คือพึงปรนนิบัติตลอดชีวิต”
“อาจริย” แปลทับศัพท์เป็นรูปสันสกฤตว่า “อาจารย์” (a teacher)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อาจารย์ : (คำนาม) ผู้สั่งสอนวิชาความรู้; คําที่ใช้เรียกนําหน้าชื่อบุคคลเพื่อแสดงความยกย่องว่ามีความรู้ในทางใดทางหนึ่ง. (ส.; ป. อาจริย).”
กมฺมวาจา + อาจริย = กมฺมวาจาจริย > กรรมวาจาจารย์
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กรรมวาจาจารย์ : (คำนาม) อาจารย์ผู้ให้สำเร็จกรรมวาจา คือ คู่สวด. (ส. กรฺมวาจา + อาจารฺย ว่า อาจารย์).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า
“กรรมวาจาจารย์ : พระอาจารย์ผู้สวดกรรมวาจาประกาศในท่ามกลางสงฆ์ในการอุปสมบท.”
ขยายความ :
ในการทำสังฆกรรมที่ต้องประกาศให้สงฆ์ทราบหรือต้องขอมติจากสงฆ์ (เช่น การมอบผ้ากฐิน และการอุปสมบทเป็นต้น) ตามหลักพระวินัยจะต้องสวด “กรรมวาจา” คือคำประกาศท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์
ภิกษุผู้ทำหน้าที่สวด “กรรมวาจา” นั้นมีคำเรียกชื่อว่า “กรรมวาจาจารย์” ซึ่งคนทั่วไปเรียกกันว่า “คู่สวด”
การที่เรียกว่า “คู่สวด” ก็แปลว่าจะต้องมี 2 รูป ความจริงแล้ว “กรรมวาจาจารย์” มีรูปเดียวก็ใช้ได้ แต่ที่นิยมให้มี 2 รูปนั้นสันนิษฐานว่าประสงค์จะให้อีกรูปหนึ่งทำหน้าที่สวดเทียบทานเพื่อให้การสวดกรรมวาจาปราศจากข้อบกพร่องตามหลักพระธรรมวินัย
ภิกษุอีกรูปหนึ่งที่ทำหน้าที่สวดเทียบทานนี้มีคำเรียกเป็นต่างหากออกไปว่า “อนุสาวนาจารย์”
“กรรมวาจาจารย์” และ “อนุสาวนาจารย์” ทั้ง 2 นี้แหละคือที่เราเรียกกันว่า “คู่สวด”
คำว่า “อุปัชฌาย์อาจารย์” ที่นิยมพูดกันนั้น ตามคติของคนเก่า “อาจารย์” ท่านหมายถึง “กรรมวาจาจารย์” และ “อนุสาวนาจารย์” ทั้ง 2 นี้
และตามคติของคนเก่านั้น ท่านนับถือ “อุปัชฌาย์อาจารย์” เสมอด้วยบิดามารดา โดยเหตุผลว่าเป็นผู้ทำกิจทำหน้าที่ตามพระวินับให้เกิดเพศสงฆ์ขึ้นในพระพุทธศาสนา คนเก่าท่านจึงเคารพพระอุปัชฌาย์อาจารย์ของตนยิ่งนัก
…………..
บาลีวันละคำชุด:-
: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา
: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าเคารพครูบาอาจารย์ให้ลึกๆ
: จะบวชอยู่หรือจะสึกก็อย่าทำชั่ว
(ตอบคำถามของ Chaiwat Oungkiros)
#บาลีวันละคำ (2,340)
8-11-61