กเถตุกัมยตาปุจฉา (บาลีวันละคำ 2,338)
กเถตุกัมยตาปุจฉา
ศัพท์วิชาการที่น่ารู้
อ่านว่า กะ-เถ-ตุ-กำ-มฺยะ-ตา-ปุด-ฉา
บาลีเป็น “กเถตุกมฺยตาปุจฺฉา” แยกศัพท์เป็น กเถตุ + กมฺยตา + ปุจฺฉา
(๑) “กเถตุ” (กะ-เถ-ตุ)
รูปคำเดิมเป็น “กเถตุํ” (กะ-เถ-ตุง) รากศัพท์มาจาก กถฺ (ธาตุ = พูด, กล่าว) + เณ ปัจจัย, ลบ ณ (เณ > เอ) + ตุํ ปัจจัย
: กถฺ + เณ > เอ = กเถ + ตุํ = กเถตุํ แปลตามศัพท์ว่า “เพื่อจะกล่าว”
(๒) “กมฺยตา” (กำ-มฺยะ-ตา) รากศัพท์มาจาก –
(1) กมฺ (ธาตุ = ต้องการ, ปรารถนา) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณ (ณฺย > ย) + ตา ปัจจัย
: กมฺ + ณฺย = กมณฺย > กมฺย + ตา = กมฺยตา แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นผู้ต้องการ”
(2) กาม (ผู้ต้องการ, ผู้ปรารถนา) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณ (ณฺย > ย) + ตา ปัจจัย
: กาม + ณฺย = กามณฺย > กามฺย + ตา = กามฺยตา > กมฺยตา แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะแห่งผู้ต้องการ”
“กมฺยตา” (อิตถีลิงค์) หมายถึง ความปรารถนา, ความใคร่, ความอยากได้, ความพยายามแสวงหา (wish, desire, longing for, striving after)
(๓) “ปุจฺฉา” (ปุด-ฉา)
รากศัพท์มาจาก ปุจฺฉ (ธาตุ = ถาม) + อ ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ปุจฺฉฺ + อ = ปุจฺฉ + อา = ปุจฺฉา แปลตามศัพท์ว่า “การถาม” “ข้อที่ควรถาม” หมายถึง คำถาม (a question)
การประสมคำ :
(1) กเถตุํ + กมฺยตา ลบนิคหิตที่ ตุํ (ตุํ > ตุ) = กเถตุํกมฺยตา > กเถตุกมฺยตา แปลว่า “ความเป็นผู้ปรารถนาที่จะกล่าว”
(2) กเถตุกมฺยตา + ปุจฺฉา = กเถตุกมฺยตาปุจฺฉา แปลว่า “การถามด้วยความเป็นผู้ปรารถนาที่จะกล่าว” หมายถึง การถามหรือคำถามที่ผู้ถามมิได้ประสงค์จะให้ผู้ถูกถามต้องตอบ แต่ประสงค์จะตอบเอง
“กเถตุกมฺยตาปุจฺฉา” เขียนในภาษาไทยเป็น “กเถตุกัมยตาปุจฉา” อ่านว่า กะ-เถ-ตุ-กำ-มฺยะ-ตา-ปุด-ฉา
ขยายความ :
“กเถตุกัมยตาปุจฉา” เป็น 1 ในรูปแบบคำถามตามตำราในคัมภีร์บาลีซึ่งมีอยู่ 5 แบบ กล่าวคือ –
(1) อทิฏฐโชตนาปุจฉา = คำถามเพื่อส่องลักษณะที่ยังไม่เห็นให้กระจ่าง
(2) ทิฏฐสังสันทนาปุจฉา = คำถามเทียบเคียงลักษณะที่เห็นแล้ว
(3) วิมติเฉทนาปุจฉา = คำถามเพื่อตัดความสงสัย
(4) อนุมติปุจฉา = คำถามเพื่อให้ตอบยอมรับ
(5) กเถตุกัมยตาปุจฉา = คำถามเพื่อประสงค์จะตอบเอง
ขอนำคำอธิบายในคัมภีร์มาเสนอในที่นี้ตามสำนวนที่ท่านแปลไว้ดังต่อไปนี้
…………..
ในบรรดาคำถามเหล่านั้น อทิฏฐโชตนาปุจฉาเป็นไฉน?
ตามปกติลักษณะที่ยังไม่รู้ ยังไม่เห็น ยังไม่ได้พิจารณา ยังไม่ได้ไตร่ตรอง ยังไม่แจ่มแจ้ง ยังไม่ได้อธิบาย บุคคลย่อมถามปัญหาเพื่อรู้ เพื่อเห็น เพื่อพิจารณา เพื่อไตร่ตรอง เพื่ออธิบายลักษณะนั้น นี้ชื่อว่า อทิฏฐโชตนาปุจฉา
ทิฏฐสังสันทนาปุจฉาเป็นไฉน?
ตามปกติลักษณะที่รู้แล้ว เห็นแล้ว พิจารณาแล้ว ไตร่ตรองแล้ว แจ่มแจ้งแล้ว อธิบายแล้ว บุคคลย่อมถามปัญหาเพื่อต้องการจะเทียบเคียงลักษณะนั้นกับบัณฑิตเหล่าอื่น นี้ชื่อว่าทิฏฐสังสันทนาปุจฉา
วิมติเฉทนาปุจฉาเป็นไฉน?
ตามปกติบุคคลเป็นผู้มักสงสัยมักระแวง เกิดความแคลงใจว่า อย่างนี้หรือหนอ? ไม่ใช่หนอ? อะไรหนอ? อย่างไรหนอ? บุคคลนั้นย่อมถามปัญหาเพื่อต้องการตัดความสงสัย นี้ชื่อว่าวิมติเฉทนาปุจฉา
อนุมติปุจฉาเป็นไฉน?
ตัวอย่างเช่น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามปัญหาแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน? รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง” คำถามเช่นนี้ภิกษุย่อมจะต้องตอบยอมรับว่า “ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า” ตรัสถามอีกว่า “ก็รูปที่ไม่เที่ยงนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข” ภิกษุย่อมจะต้องตอบยอมรับอีกว่า “เป็นทุกข์พระเจ้าข้า” ดังนี้เป็นต้น คำถามลักษณะนี้ชื่อว่า อนุมติปุจฉา
กเถตุกัมยตาปุจฉาเป็นไฉน?
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามปัญหาด้วยมีพุทธประสงค์จะทรงตอบแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สติปัฏฐาน 4 เหล่านี้ สติปัฏฐาน 4 คืออะไรบ้าง? ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย องค์แห่งมรรค 8 เหล่านี้ องค์แห่งมรรค 8 คืออะไรบ้าง? นี้ชื่อว่า กเถตุกัมยตาปุจฉา
ในบรรดาปุจฉา 5 ประการนี้ อทิฏฐโชตนาปุจฉาย่อมไม่มีแก่พระตถาคตเพราะธรรมอะไรๆ ที่พระองค์ไม่ทรงเห็นนั้นหามีไม่
ทิฏฐสังสันทนาปุจฉาก็ไม่มีแก่พระตถาคต เพราะพระองค์ไม่ต้องประมวลเอาคำสอนของลัทธิอื่นใดมาเทียบเคียงกับคำสอนของพระองค์เลย
อนึ่ง เพราะเหตุที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ทรงมีความลังเลความสับสนแม้ในธรรมสักข้อเดียว พระองค์ทรงตัดความสงสัยทั้งปวงได้ ณ โพธิมัณฑสถานนั่นแล ฉะนั้นแม้วิมุติเฉทนาปุจฉาก็ไม่มีแน่นอน
พระพุทธเจ้าทั้งหลายจะตรัสถามข้อธรรมแก่ใคร ย่อมตรัสเฉพาะคำถามที่เป็นอนุมติปุจฉาและกเถตุกัมยตาปุจฉาเท่านั้น
ที่มา:
อรรถกถาพรหมชาลสูตร สุมังคลวิลาสินี ภาค 1 หน้า 105-107
พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล (ชุด 91 เล่ม) เล่ม 11 หน้า 184-186
(ในที่นี้ปรับแก้คำแปลบ้างเล็กน้อย)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าจะต้องศึกษาเรียนรู้ลัทธิ คำสอน แนวคิด ปรัชญา และนิกายศาสนาต่างๆ ให้แจ่มแจ้งเพื่อเทียบเคียงกันก่อน
: ท่านจะต้องตายแล้วเกิดใหม่อีกกี่ชาติจึงจะเรียนจบ หรือบอกได้ว่าพอแล้ว?
: แล้วเมื่อไรท่านจึงจะมีเวลาลงมือปฏิบัติธรรมคำสอนของพระศรีศากยมุนีโคดมอันมีอยู่พร้อมแล้วตรงหน้าท่านนี่เอง?
—————-
(ตอบปุจฉาของ Ratchanee Cute-ngarmprink)
#บาลีวันละคำ (2,338)
6-11-61