บาลีวันละคำ

โอกาส ทำไมไม่ใช้ ศ ศาลา (บาลีวันละคำ 2,365)

โอกาส ทำไมไม่ใช้ ศาลา

สมัยที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย คนส่วนมากเมื่อเขียนคำว่า “โอกาส” มักสะกดเป็น “โอกาศ” คือ -กา ศาลา

เมื่อผู้คนรู้จักพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานกันกว้างขวางขึ้น และได้ทราบกฎเกณฑ์การสะกดคำต่างๆ ชัดเจนขึ้น ก็ค่อยๆ ลดการเขียนผิดลงไป แต่กระนั้นก็ยังมีที่เขียนผิดเพราะเคยมืออยู่บ้าง

โอกาส” (-กา เสือ) เป็นคำที่ถูกต้อง

โอกาศ” (-กา ศาลา) เป็นคำที่ผิด

โอกาส” เป็นคำบาลี อ่านว่า โอ-กา-สะ รากศัพท์มาจาก อว (คำอุปสรรค = ลง) + กสฺ (ธาตุ = ไถ) + (ปัจจัย), แปลง อว เป็น โอ, ทีฆะต้นธาตุ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” (กสฺ > กาส )

: อว + กสฺ = อวกสฺ + = อวกสณ > อวกส > อวกาส > โอกาส แปลตามศัพท์ว่า “ช่องเป็นที่ไถลง

อธิบายเป็นภาพว่า ถ้าเอาไถไปไถตรงไหน แล้วไถนั้นไม่ถูกอะไรเลย มีแต่ปักหัวลงท่าเดียว ตรงนั้นแหละเรียกว่า “โอกาส

โอกาส” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ทัศนวิสัย, ระยะที่เห็นได้ (ศัพท์เรขาคณิต), ที่ว่าง, บรรยากาศ, อวกาศ (visibility, visible space [as geometrical term], open space, atmosphere, air as space)

(2) การมองเห็นได้, รูปร่าง (visibility, appearance)

(3) โอกาส, วาระ, จังหวะ, การตกลง, ความยินยอม, มติ (occasion, chance, opportunity, permission, consent, leave)

(4) มองดูเหมือน, ดูปรากฏว่า (looking like, appearing) (ใช้เป็นคุณศัพท์)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

โอกาส : (คำนาม) ช่อง, ทาง; เวลาที่เหมาะ, จังหวะ. (ป.; ส. อวกาศ).”

โอกาส” เป็นคำบาลี ภาษาไทยใช้ตามรูปคำบาลี จึงต้องสะกดเป็น “โอกาส” (กา เสือ) ไม่ใช่ “โอกาศ” (-กา ศาลา) เพราะบาลีไม่มี ศาลา

บาลีมี “โอกาส” สันสกฤตไม่มี “โอกาศ” (-กา ศาลา) แต่มี “อวกาศ” (-กา ศาลา) ใช้ในความหมายเดียวกับ “โอกาส” ของบาลี

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ที่คำว่า “อวกาศ” บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

อวกาศ : (คำนาม) โอกาศ; ที่เก็บ; opportunity; a repository.”

โปรดสังเกตว่า ในคำแปลของ สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ก็ยังสะกด “โอกาส” (กา เสือ) เป็น “โอกาศ” (-กา ศาลา) แสดงให้เห็นว่าในภาษาไทยน่าจะเคยสะกดเป็น “โอกาศ” กันมาแต่เดิม

ในภาษาไทย เราใช้คำว่า “อวกาศ” ตามความหมายเฉพาะดังที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อวกาศ : (คำนาม) บริเวณที่อยู่นอกบรรยากาศของโลก. (ส.).”

ความจริงในบาลีก็มีรูปคำ “อวกาส” เหมือนสันสกฤต นั่นคือคำนี้บาลีมีทั้ง “โอกาส” และ “อวกาส” (สันสกฤตมีเฉพาะ “อวกาศ”)

อวกาส” (อะ-วะ-กา-สะ) ในบาลีมีรากศัพท์แบบเดียวกับ “โอกาส” เพียงแต่คงรูปนิบาต “อว” ไว้ตามเดิม ไม่แปลงเป็น “โอ” และในบาลีนิยมใช้รูป “โอกาส” มากกว่า “อวกาส

อวกาส” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การปรากฏขึ้น (appearance)

(2) โอกาส (opportunity)

นอกจากนี้ยังมีคำว่า “อากาศ” (-กา ศาลา) อีกคำหนึ่ง คำนี้บาลีเป็น “อากาส” (กา เสือ) แต่ในภาษาไทยเราใช้ตามรูปสันสกฤต คือ -กา ศาลา

สรุปว่าคำที่ท้ายด้วยเสียง “กาด” ในภาษาไทยมี “อากาศ” (-กา ศาลา) “อวกาศ” (-กา ศาลา) และ “โอกาส” (-กา เสือ)

อาจเป็นเพราะคำว่า “โอกาส” ลงท้ายด้วยเสียง “กาด” เหมือนคำว่า “อวกาศ” และ “อากาศ” (-กา ศาลา) ที่เราคุ้นกันอยู่แล้ว ต่างกันเพียงคำหน้าเป็น “อา-” “โอ-” และ “อว-” เท่านั้น พอจะเขียนคำว่า “โอกาส” เราจึงเข้าใจเอาเองว่าคงจะสะกดเหมือน “อากาศ” และ “อวกาศ” คือ -กา ศาลา พอใจคิดอย่างนี้ มือก็เขียนเป็น “โอกาศ” ไปตามความเคยชิน

คงต้องช่วยกันย้ำว่า –

โอกาส” (-กา เสือ) เป็นคำที่ถูกต้อง

โอกาศ” (-กา ศาลา) เป็นคำที่ผิด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนเขลานั่งรอทำความดีตามโอกาส

: คนฉลาดวิ่งหาโอกาสทำความดี

#บาลีวันละคำ (2,365)

3-12-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย