บาลีวันละคำ

บิณฑบาต ทำไมไม่ต้องมี ร เรือ (บาลีวันละคำ 2,368)

บิณฑบาต ทำไมไม่ต้องมี ร เรือ

คนส่วนมากมักเขียนคำว่า “บิณฑบาต” เป็น “บิณฑบาตร” -บาต มี เรือ เพราะเข้าใจว่า “-บาตร” ที่เขียนผิดนี้เป็นคำเดียวกับ “บาตรพระ”

บิณฑบาต” (-บาต ไม่มี ร เรือ) เป็นคำถูก

บิณฑบาตร” (-บาตร มี ร เรือ) เป็นคำผิด

“-บาต” ในคำว่า “บิณฑบาต” เป็นคนละคำกับ “บาตรพระ” ที่มาของคำหรือรากศัพท์ก็ต่างกัน

(๑) “-บาต” ในคำว่า “บิณฑบาต” มาจากคำบาลีว่า “ปาต” (ปา-ตะ) รากศัพท์มาจาก ปตฺ (ธาตุ = ตกไป) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ต้นธาตุเป็น อา (ปตฺ > ปาต)

: ปตฺ + = ปตณ > ปต > ปาต (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ตกไป” หมายถึง (1) การตก (fall) (2) การโยน, การขว้าง (throwing, a throw)

ปิณฺฑปาต” แปลตามศัพท์ว่า “การตกของก้อนข้าว” “การโยนก้อนข้าว” หมายถึง ทำอาหารให้ตกลงไปในบาตร, อาหารที่บิณฑบาตได้มา (alms-gathering, food received in the alms-bowl)

ปิณฺฑปาต” เขียนในภาษาไทยเป็น “บิณฑบาต” (-บาต ไม่มี ร เรือ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บิณฑบาต : (คำนาม) อาหาร (ใช้แก่พระภิกษุสามเณร) เช่น รับบิณฑบาต. (คำกริยา) กิริยาที่พระภิกษุสามเณรรับของที่เขานํามาใส่บาตร, โดยปริยายหมายถึงกิริยาที่พระภิกษุสามเณรขอหรือขอร้อง เช่น เรื่องนี้ขอบิณฑบาตให้เลิกแล้วต่อกัน. (ป. ปิณฺฑปาต ว่า ก้อนข้าวที่ตก).”

(๒) “บาตร” ที่เป็นบาตรพระ มาจากคำบาลีว่า “ปตฺต” (ปัด-ตะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) ปตฺ (ธาตุ = ตกลงไป) + ปัจจัย

: ปตฺ + = ปตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ภาชนะเป็นที่ตกลงแห่งข้าวสุก” หมายความว่า ข้าวสุก (= อาหาร) ตกลงไปในภาชนะชนิดนี้ จึงเรียกภาชนะนี้ว่า “ปตฺต

(2) ปาต (การตก) + ตา (ธาตุ = รักษา) + ปัจจัย, รัสสะ อา ที่ ปา-(ต) เป็น ะ (ปาต > ปต), “ลบสระหน้า” คือลบ อา ที่ ตา (ตา > )

: ปาต + ตา = ปาตตา > ปตฺตา > ปตฺต + = ปตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ภาชนะที่รักษาจากการตก” หมายความว่า (1) รักษา คือระวังไม่ให้ภาชนะนี้ตก เนื่องจากแต่เดิมภาชนะชนิดนี้ทำด้วยดิน ตกแล้วแตก (2) รักษา คือรองรับอาหารที่ตกลงมาไม่ให้หล่นถึงพื้น แต่ให้ตกลงในภาชนะนี้ จึงเรียกภาชนะนี้ว่า “ปตฺต

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล ปตฺต (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) ว่า a bowl, esp. the alms-bowl of a bhikkhu (ชาม, โดยเฉพาะอย่างยิ่งบาตรของภิกษุ)

บาลี “ปตฺต” สันสกฤตเป็น “ปตฺร” เราเขียนอิงสันสกฤต แต่ยืดเสียงเป็น “ปาตร” และแปลง เป็น ตามหลักนิยมที่คุ้นกัน คือ ปลา เป็น ใบไม้

: ปตฺต > ปตฺร > ปาตร > บาตร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บาตร : ภาชนะชนิดหนึ่งสําหรับภิกษุสามเณรใช้รับอาหารบิณฑบาต (ส. ปตฺร; ป. ปตฺต).”

ปาต” กับ “ปตฺต” มีที่มาต่างกัน เมื่อกลายรูปมาเป็นคำไทยจึงต้องเขียนต่างกัน

ปาต” เขียนเป็นคำไทยว่า “บาต

ปตฺต” เขียนเป็นคำไทยว่า “บาตร

คำอื่นๆ ในภาษาไทยที่มาจาก “ปาต” คำเดียวกับ “บิณฑบาต” นี้ก็อย่างเช่น อุกกาบาต อสนีบาต สันนิบาต

คำเหล่านี้เราไม่ได้เขียนเป็น อุกกาบาตร อสนีบาตร สันนิบาตร

แล้วทำไม “บิณฑบาต” จึงจะต้องเขียนเป็น “บิณฑบาตร” เล่า??

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ทำผิดกฎหมาย

อาจใช้เส้นสายขอไม่ให้ต้องรับผิด

: แต่ทำบาปทุจริต

จะขอบิณฑบาตไม่ให้ตกนรกหาได้ไม่

#บาลีวันละคำ (2,368)

6-12-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *