บาลีวันละคำ

ลาสิกขา ไม่ใช่ “ลาสิกขาบท” (บาลีวันละคำ 2,377)

ลาสิกขา ไม่ใช่ “ลาสิกขาบท”

ถ้าถามว่า เมื่อพระสึก เรามีคำเรียกว่าอะไร?

คนส่วนน้อยจะตอบว่า “ลาสิกขา” แต่คนเป็นอันมากจะตอบว่า “ลาสิกขาบท

ลาสิกขา” เป็นคำที่ถูกต้อง

“ลาสิกขาบท” เป็นคำที่พูดผิด เรียกผิด

ข้อพิจารณา :

คำลาสิกขาที่ใช้ลงตัวแล้วในบัดนี้เป็นภาษาบาลีว่า

สิกฺขํ  ปจฺจกฺขามิ  คิหีติ  มํ  ธาเรถ.

(สิกขัง ปัจจักขามิ คิหีติ มัง ธาเรถะ)

แปลว่า “ข้าพเจ้าขอลาสิกขา ท่านทั้งหลายจงจำข้าพเจ้าไว้ว่าเป็นคฤหัสถ์

คำที่แปลว่า “ลา” คือ “ปจฺจกฺขามิ” (ปัด-จัก-ขา-มิ) เป็นคำกริยา (กิริยาขยาต) รากศัพท์มาจาก ปฏิ (คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + ขา (หรือ ขฺยา แล้วแปลงเป็น ขา) (ธาตุ = กล่าว, บอก) + ปัจจัยประจำหมวดธาตุ + มิ วิภัตติอาขยาต อุตตมบุรุษ เอกพจน์, แปลง ปฏิ เป็น ปจฺจ แล้วซ้อน กฺ

: ปฏิ > ปจฺจ + กฺ + ขา = ปจฺจกฺขา + = ปจฺจกฺขา + มิ = ปจฺจกฺขามิ แปลตามศัพท์ว่า “พูดเป็นปฏิปักษ์” หรือ “พูดขัดขวาง” (to speak against) คือ ไม่ยอมรับ, ปฏิเสธ, บอกปัด, ยกเลิก, บอกคืน, เลิกละ. (to reject, refuse, disavow, abandon, give up)

คำว่า “ปจฺจกฺขามิ” นี้ แปลว่า “บอกคืน” ก็ได้ “บอกลา” ก็ได้

อาจเป็นเพราะมีผู้แปลคำว่า “สิกฺขํ  ปจฺจกฺขามิ” ว่า “บอกลาสิกขา” และคนทั่วไปเข้าใจดีกว่า “บอกคืนสิกขา” เราจึงพูดกันว่า “ลาสิกขา” ไม่พูดว่า “คืนสิกขา

ความแตกต่างระหว่าง “สิกขา” กับ “สิกขาบท” ในภาษาไทย :

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

(1) สิกขา : (คำนาม) ข้อที่จะต้องศึกษา, ข้อที่จะต้องปฏิบัติ ได้แก่ ศีล เรียกว่า ศีลสิกขา สมาธิ เรียกว่า จิตสิกขา และปัญญา เรียกว่า ปัญญาสิกขา รวมเรียกว่า ไตรสิกขา; การศึกษา, การเล่าเรียน, เช่น ปริยัติสิกขา ปฏิบัติสิกขา. (ป.; ส. ศิกฺษา).

(2) สิกขาบท : (คำนาม) ข้อศีล, ข้อวินัย, บทบัญญัติในพระวินัยที่พึงศึกษาปฏิบัติ. (ป.).

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “ลาสิกขา” บอกไว้ดังนี้ –

ลาสิกขา : (คำกริยา) ลาสึก, ลาจากเพศสมณะ.”

แต่พจนานุกรมฯ ไม่มีคำว่า “ลาสิกขาบท

ความแตกต่างระหว่าง “สิกขา” กับ “สิกขาบท” ในภาษาธรรม :

– “สิกขา” คือ ระบบวิถีชีวิตทั้งปวงตามที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้

– “สิกขาบท” คือ บทบัญญัติ หรือศีลข้อหนึ่งๆ อันเป็นส่วนย่อยในสิกขา เทียบกับกฎหมาย “สิกขาบท” ก็คือ “มาตรา” แต่ละมาตราในตัวบทกฎหมายนั่นเอง

บรรพชิต เมื่อไม่สามารถอยู่ในระบบสิกขาได้ ก็มีสิทธิ์ที่จะออกไป เรียกว่า “ลาสิกขา

เรียกการ “ลาสิกขา” ว่า “ลาสิกขาบท” จึงไม่ถูกต้อง เพราะ “สิกขาบท” หมายถึงศีลแต่ละข้อเท่านั้น ไม่ใช่ระบบวิถีชีวิต

เช่นไม่ดื่มสุราเป็นสิกขาบทข้อหนึ่ง ถ้าภิกษุ “ลาสิกขาบท” ข้อว่าด้วยการห้ามดื่มสุรา ก็จะแปลว่าภิกษุรูปนั้นฉันสุราได้ เพราะลาสิกขาบทข้อนี้ไปแล้ว แต่ถือว่ายังเป็นพระอยู่เพราะยังไม่ได้ลาออกจากวิถีชีวิตของบรรพชิต (คือ “ลาสิกขา”)

แม้จะอธิบายว่า “ลาสิกขาบททั้งหมด” ก็ยังผิดอยู่นั่นเอง เพราะวิถีชีวิตของบรรพชิตในพระพุทธศาสนาไม่ได้มีเฉพาะ “สิกขาบท” แต่ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งรวมอยู่ในคำว่า “สิกขา” (ไม่ใช่เฉพาะ “สิกขาบท”)

อนึ่ง ในคำลาสิกขา (ลาสึก) ก็บ่งชัดเพราะกล่าวว่า “สิกฺขํ ปจฺจกฺขามิ” (สิกขัง ปัจจักขามิ) แปลว่า “ข้าพเจ้าขอลาสิกขา” ไม่ได้กล่าวว่า “สิกฺขาปทํ ปจฺจกฺขามิ” (ข้าพเจ้าขอลาสิกขาบท)

เพื่อให้เห็นหลักฐานชัดๆ ขอนำ “คำลาสิกขา” ที่ท่านแสดงไว้ในคัมภีร์มหาวิภังค์ ภาค 1 พระวินัยปิฎก พระไตรปิฎกเล่ม 1 ข้อ 31 มาเสนอไว้ในที่นี้

ภิกษุเมื่อจะลาสิกขา กล่าวคำลาสิกขาด้วยข้อความบทใดบทหนึ่งต่อไปนี้ ท่านว่า “สิกฺขา  ปจฺจกฺขาตา = สิกขาเป็นอันถูกบอกลา” ถูกต้อง คือ –

…………..

(1) พุทฺธํ  ปจฺจกฺขามิ = ข้าพเจ้าบอกคืนพระพุทธเจ้า

(2) ธมฺมํ  ปจฺจกฺขามิ = ข้าพเจ้าบอกคืนพระธรรม

(3) สงฺฆํ  ปจฺจกฺขามิ = ข้าพเจ้าบอกคืนพระสงฆ์

(4) สิกฺขํ  ปจฺจกฺขามิ = ข้าพเจ้าบอกคืนสิกขา

(5) วินยํ  ปจฺจกฺขามิ = ข้าพเจ้าบอกคืนวินัย

(6) ปาติโมกฺขํ  ปจฺจกฺขามิ = ข้าพเจ้าบอกคืนปาติโมกข์

(7) อุทฺเทสํ  ปจฺจกฺขามิ = ข้าพเจ้าบอกคืนอุเทศ

(8) อุปชฺฌายํ  ปจฺจกฺขามิ = ข้าพเจ้าบอกคืนพระอุปัชฌายะ

(9) อาจริยํ  ปจฺจกฺขามิ = ข้าพเจ้าบอกคืนพระอาจารย์

(10) สทฺธิวิหาริกํ  ปจฺจกฺขามิ = ข้าพเจ้าบอกคืนพระสัทธิวิหาริก

(11) อนฺเตวาสิกํ  ปจฺจกฺขามิ = ข้าพเจ้าบอกคืนพระอันเตวาสิก

(12) สมานูปชฺฌายกํ  ปจฺจกฺขามิ = ข้าพเจ้าบอกคืนพระผู้ร่วมอุปัชฌายะ

(13) สมานาจริยกํ  ปจฺจกฺขามิ = ข้าพเจ้าบอกคืนพระผู้ร่วมอาจารย์

(14) สพฺรหฺมจารึ  ปจฺจกฺขามิ = ข้าพเจ้าบอกคืนพระเพื่อนพรหมจารี

…………..

คำที่ใช้บอกลาสิกขามีหลากหลายถึง 14 คำ แต่ไม่มีคำว่า “สิกฺขาปทํ  ปจฺจกฺขามิ = ข้าพเจ้าบอกลาสิกขาบท” รวมอยู่ด้วย

คำลาสิกขาที่ใช้ลงตัวแล้วในบัดนี้คือในข้อ (4) “สิกฺขํ  ปจฺจกฺขามิ = ข้าพเจ้าขอลาสิกขา

แต่กลับมีคนชอบใช้คำว่า “ลาสิกขาบท” กันเกลื่อนไปหมด ทั้งๆ ที่ไม่มีในรายการคำลาสิกขาแต่อย่างใด

ถามใจตัวเอง :

จะเป็นอย่างไร-ถ้าในอนาคต คนที่ไม่ใส่ใจกับความถูกผิดได้เข้าไปทำหน้าที่รับผิดชอบพจนานุกรมอันเป็นบรรทัดฐานทางภาษาของชาติ แล้วไปแก้บทนิยามคำว่า “ลาสิกขา” ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานจากเดิมที่ว่า –

ลาสิกขา : (คำกริยา) ลาสึก, ลาจากเพศสมณะ.”

เป็น —

ลาสิกขา : (คำกริยา) ลาสึก, ลาจากเพศสมณะ, ลาสิกขาบท ก็ว่า.”

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้ายอมให้ผิดกลายเป็นถูก

: ค่าของคนก็แค่มีจมูกไว้หายใจ

#บาลีวันละคำ (2,377)

15-12-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย