บาลีวันละคำ

เบญจสุทธคงคา (บาลีวันละคำ 2,502)

เบญจสุทธคงคา

อ่านว่า เบ็น-จะ-สุด-ทะ-คง-คา

ประกอบด้วยคำว่า เบญจ + สุทธ + คงคา

(๑) “เบญจ

บาลีเป็น “ปญฺจ” (ปัน-จะ) แปลว่า ห้า (จำนวน 5) ในภาษาไทยนิยมแปลงเป็น “เบญจ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เบญจ-, เบญจะ : (คำวิเศษณ์) ห้า, ลําดับที่ ๕ เช่น นาเบญจะ หัวเมืองเบญจะ. (ป. ปญฺจ; ส. ปญฺจนฺ), มักใช้เป็นส่วนหน้าสมาส.”

คำว่า “เบญจ” นี้ พจนานุกรมฯ ฉบับ 2542 บอกคำอ่านว่า เบน- แต่พจนานุกรมฯ ฉบับ 2554 แก้ไขคำอ่านเป็น เบ็น-

(๒) “สุทธ

บาลีเป็น “สุทฺธ” (สุด-ทะ, มีจุดใต้ ทฺ) รากศัพท์มาจาก สุธฺ (ธาตุ = สะอาด) + ปัจจัย, แปลง เป็น ทฺธ, ลบ ธฺ ที่สุดธาตุ, อีกนัยหนึ่งว่า แปลง กับ ธฺ ที่สุดธาตุเป็น ทฺธ

: สุธฺ > สุ + > ทฺธ = สุทฺธ

: สุธฺ + = สุธต (> + = ทฺธ) > สุทฺธ

สุทฺธ” แปลตามศัพท์ว่า “หมดจดจากมลทินมีราคะเป็นต้น” มีความหมายดังนี้ –

(1) สะอาด, บริสุทธิ์ (clean, pure)

(2) ได้รับการชำระ, มีจิตบริสุทธิ์ (purified, pure of heart)

(3) ธรรมดา, เพียง, ไม่เจือปน, ไม่มีสิ่งใดนอกจาก (simple, mere, unmixed, nothing but)

หลักภาษาที่ควรทราบ :

ในภาษาบาลี “สุทฺธ” (สุด-ทะ) เป็นคำกริยาและคุณศัพท์ แปลว่า “บริสุทธิ์แล้ว” “สิ่งที่บริสุทธิ์” “ผู้บริสุทธิ์

คำที่คล้ายกันคือ “สุทฺธิ” (สุด-ทิ) เป็นคำนาม แปลว่า “ความบริสุทธิ์

แต่ในภาษาไทยเราใช้ “-สุทธิ” แทน “-สุทธ” จนเคยมือ อย่างคำว่า “ผู้บริสุทธิ์” (-ธิ์) ที่ถูกควรสะกดว่า “ผู้บริสุทธ์” (-ธ์) แต่ก็ไม่นิยมสะกดเช่นนั้น

(๓) “คงคา

บาลีเป็น “คงฺคา” อ่านว่า คัง-คา รากศัพท์มาจาก –

(1) คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ปัจจัย, แปลง มฺ ที่ (ค)-มฺ เป็นนิคหิตแล้วแปลงเป็น งฺ (คมฺ > คํ > คงฺ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: คมฺ + = คมค > คํค > คงฺค + อา = คงฺคา แปลตามศัพท์ว่า “ห้วงน้ำที่เป็นไปทุกแห่ง

(2) คํ (ห้วงน้ำใหญ่) + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + กฺวิ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ คํ เป็น งฺ (คํ > คงฺ), ลบ มฺ ที่สุดธาตุและ กฺวิ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: คํ + คมฺ = คํคมฺ + กฺวิ = คํคมฺกฺวิ > คงฺคมกฺวิ > คงฺค + อา = คงฺคา แปลตามศัพท์ว่า “แม่น้ำที่ไหลมาทำให้ห้วงน้ำใหญ่เป็นไป” (คือเมื่อไหลมาก็รวมเอาน้ำในลำน้ำแหล่งน้ำน้อยใหญ่มาด้วย ก่อให้เกิดปริมาณน้ำมากมายมหาศาล)

คงฺคา” ในบาลี ใช้ในความหมาย 2 อย่าง คือ –

(1) แม่น้ำทั่วไป

(2) แม่น้ำสำคัญที่ชื่อ “คงฺคา

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

คงคา ๑ : (คำนาม) นํ้า, แม่นํ้า, ใช้เป็นสามัญว่า แม่พระคงคา หมายถึง เจ้าแม่ประจํานํ้า, ชื่อแม่นํ้าสําคัญสายหนึ่งในประเทศอินเดีย. (ป., ส. คงฺคา ว่า ผู้ไปเร็ว, ผู้ไหลเชี่ยว); เรียกส่วนของท่อเหล้าในโรงต้มกลั่นว่า ท่อคงคา.”

การประสมคำ :

สุทธ + คงคา = สุทธคงคา (สุด-ทะ-คง-คา) แปลว่า “แม่น้ำที่สะอาด

เบญจ + สุทธคงคา = เบญจสุทธคงคา (เบ็น-จะ-สุด-ทะ-คง-คา) แปลว่า “แม่น้ำที่สะอาดห้าสาย

…………..

หนังสือ “ประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” กระทรวงวัฒนธรรมจัดพิมพ์เนื่องในมหามงคลการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 หน้า 62 อธิบายเรื่อง “พิธีทำน้ำอภิเษก” มีข้อความตอนหนึ่งดังนี้

…………..

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ต้องเตรียมทำน้ำอภิเษก โดยทำพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วราชอาณาจักร จำนวน ๑๐๗ แห่งตามโบราณราชประเพณี และทำพิธีพร้อมกันในวันที่ ๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๒ ตั้งพิธีทำน้ำอภิเษก ณ พระอารามสำคัญประจำจังหวัดของแต่ละจังหวัด ๗๖ แห่ง ในวันที่ ๘ เมษายน และเวียนเทียนสมโภชน้ำอภิเษกในวันที่ ๙ เมษายน จากนั้นทุกจังหวัดเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์จากจังหวัดมาตั้งไว้ในพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม เพื่อเสกน้ำอภิเษก ประกาศชุมนุมเทวดา ทำน้ำเทพมนตร์ เจริญพระพุทธมนต์ทำน้ำพระพุทธมนต์ รวมกับน้ำอภิเษกของกรุงเทพมหานคร (จากหอศาสตราคม พระบรมมหาราชวัง) ในวันที่ ๑๘ เมษายน และแห่เชิญน้ำอภิเษกของทุกจังหวัดทั้ง ๗๗ จังหวัด รวมทั้งน้ำเบญจสุทธคงคา (แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำราชบุรี และแม่น้ำเพชรบุรี) และน้ำจากสระ ๔ สระ (สระแก้ว สระเกษ สระคา สระยมนา ในจังหวัดสุพรรณบุรี) จากวัดสุทัศนเทพวรารามไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ ๑๙ เมษายน เพื่อพราหมณ์ประกอบพิธี

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าทวยราษฎร์มีน้ำใจที่ใสสนิท

: น้ำอภิเษกก็ยิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นทวีตรีคูณ

#บาลีวันละคำ (2,502)

19-4-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย