มณฑปพระกระยาสนาน (บาลีวันละคำ 2,503)
มณฑปพระกระยาสนาน
อ่านว่า มน-ดบ-พฺระ-กฺระ-ยา-สะ-หฺนาน
ประกอบด้วยคำว่า มณฑป + พระกระยาสนาน
(๑) “มณฑป”
เขียบแบบบาลีเป็น “มณฺฑป” (มีจุดใต้ ณฺ) อ่านว่า มัน-ดะ-ปะ รากศัพท์มาจาก –
(1) มณฺฑ (แสงอาทิตย์) + ปี (ธาตุ = เสื่อม, พินาศ) + อ ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือ อี ที่ ปี (ปี > ป)
: มณฺฑ + ปี = มณฺฑปี + อ = มณฺฑปี > มณฺฑป แปลตามศัพท์ว่า “โรงที่ทำให้แสงอาทิตย์เสื่อม” (คือแสงถูกบังไว้จนส่องไม่ถึงพื้น)
(2) มณฺฑ (ความผ่องใส) + ปา (ธาตุ = ดูแล, รักษา) + อ ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือ อา ที่ ปา (ปา > ป)
: มณฺฑ + ปา = มณฺฑปา + อ = มณฺฑปา > มณฺฑป แปลตามศัพท์ว่า “โรงที่รักษาความผ่องใสของผู้คนไว้” (คือเพราะไม่ถูกแสงแดดแผดเผา ผู้คนจึงยังมีความสดชื่นอยู่)
(3) มณฺฑ (การประดับตกแต่ง) + ปา (ธาตุ = ถึง) + อ ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือ อา ที่ ปา (ปา > ป)
: มณฺฑ + ปา = มณฺฑปา + อ = มณฺฑปา > มณฺฑป แปลตามศัพท์ว่า “โรงที่ถึงการประดับตกแต่ง” (คือโรงที่ถูกประดับตกแต่งให้สวยงาม)
(4) มณฺฑฺ (ธาตุ = ประดับ, ตกแต่ง) + ป ปัจจัย
: มณฺฑฺ + ป = มณฺฑป แปลตามศัพท์ว่า “โรงอันผู้คนประดับ”
“มณฺฑป” (ปุงลิงค์) หมายถึง ปะรำ ในภาษาไทยเรียกทับศัพท์ว่า มณฑป
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มณฺฑป” ว่า a temporary shed or hall erected on special or festive occasions, an awning, tent (เพิงหรือห้องโล่ง ๆ ชั่วคราวที่สร้างขึ้นในโอกาสพิเศษ หรือโอกาสมีงานรื่นเริง, มณฑป, ที่บังแดด)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มณฑป : (คำนาม) เรือนเครื่องยอดขนาดใหญ่มีรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส หลังคาเป็นทรงจอมแห ประกอบด้วยชั้นเชิงกลอนหลายชั้นเป็นต้น, ใช้ว่า มรฑป ก็มี. (ป., ส.); ขันนํ้าเย็นของพระเจ้าแผ่นดินที่มีฝาเป็นรูปอย่างมณฑป เรียกว่า พระมณฑป.”
โปรดสังเกตคำแปลในภาษาอังกฤษคำหนึ่ง คือ tent นี่ก็คือที่เรารู้จักกันดีและเรียกทับศัพท์ว่า “เต็นท์”
ความหมายในภาษาบาลี “มณฺฑป” ก็คือ tent คำเก่าแปลว่า ปะรำ เข้าใจว่า ปะรำนั่นเองที่ไทยเราประดับตกแต่งแปลงโฉมจนกลายเป็น “เรือนเครื่องยอด” แล้วก็เลยเรียกเครื่องใช้อื่นๆ ที่ “มีฝาเป็นรูปอย่างมณฑป” ว่า “มณฑป” ไปด้วย ดังตัวอย่างที่ปรากฏตามพจนานุกรมฯ ว่า “ขันนํ้าเย็นของพระเจ้าแผ่นดินที่มีฝาเป็นรูปอย่างมณฑป เรียกว่า พระมณฑป” เป็นต้น
(๒) “พระกระยาสนาน”
(ก) “กระยา”
สันนิษฐานว่า มาจากคำเขมรว่า “กฺรยา” หมายถึง เครื่อง, สิ่งของ, เครื่องกิน ใช้กับพระเจ้าแผ่นจึงเป็น “พระกระยา” เช่น พระกระยาหาร และในคำว่า “พระกระยาสนาน” นี้
(ข) “สนาน”
บาลีเป็น “สินาน” (สิ-นา-นะ) รากศัพท์มาจาก สินา (ธาตุ = ทำให้สะอาด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: สินา + ยุ > อน = สินาน แปลตามศัพท์ว่า (1) “กิริยาที่ทำให้สะอาด” (2) “วัตถุเป็นเครื่องทำให้สะอาด” หมายถึง การอาบน้ำ; เครื่องอาบน้ำ (bathing; anything for ablution)
บาลียังมีอีกคำหนึ่งที่แปลว่า การอาบน้ำ คือคำว่า “นหาน” (นะ-หา-นะ) รากศัพท์มาจาก นหฺ (ธาตุ = สะอาด, ทำให้สะอาด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ทีฆะ อะ ที่ (น)-หฺ เป็น อา (นหฺ > นหา)
: นหฺ + ยุ > อน = นหน > นหาน แปลตามศัพท์ว่า “การทำให้สะอาด” หมายถึง การอาบ, การอาบน้ำ (bathing, a bath)
“นหาน” คำนี้สะกดเป็น “นฺหาน” (มีจุดใต้ นฺ) ก็มี ดูที่สะกดเป็นอักษรโรมันจะเห็นชัด
– นหาน (ไม่มีจุดใต้ นฺ) = nahāna อ่านว่า นะ-หา-นะ
– นฺหาน (มีจุดใต้ นฺ) = nhāna อ่านว่า นฺหา-นะ หรือจะออกเสียงว่า หนา-นะ ก็ได้
บาลี “สินาน” และ “นหาน” สันสกฤตเป็น “สฺนาน” (มีจุดใต้ สฺ)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
“สฺนาน : (คำนาม) ‘สนาน,’ การอาบ, การอภิเษกหรือชำระ (ด้วยน้ำ); สิ่งสำหรับการชำระ, น้ำ, ฯลฯ; bathing, ablution, anything for ablution, water, &c.”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “กระยาสนาน” ไว้ บอกไว้ดังนี้ –
“กระยาสนาน : (คำราชาศัพท์) (คำนาม) เครื่องสรงในพระราชพิธีสรงพระมุรธาภิเษก.”
มณฑป + พระกระยาสนาน = มณฑปพระกระยาสนาน
…………..
หนังสือ “ประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” กระทรวงวัฒนธรรมจัดพิมพ์เนื่องในมหามงคลการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 หน้า 132 อธิบายเรื่อง “มณฑปพระกระยาสนาน” มีข้อความดังนี้
…………..
มณฑปพระกระยาสนาน
เป็นอาคารชั่วคราวทรงมณฑป มีหลังคาเครื่องยอดทรงจอมแห ผนังเปิดโล่ง ที่เสามีพระวิสูตรทั้งสี่ด้าน ตรงกลางตั้งตั่งไม้อุทุมพรหรือไม้มะเดื่อซึ่งเป็นไม้มงคล ข้างตั่งไม้อุทุมพรตั้งโต๊ะทอง ๒ ชั้น บนโต๊ะตั้งครอบมุรธาภิเษก บนเพดานเป็นที่เก็บน้ำสรงพระมุรธาภิเษกสำหรับสรงผ่านทุ้งสหัสธารา มณฑปพระกระยาสนานนี้ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์หรือเจ้านายประทับสรงพระมุรธาภิเษกในการพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีโสกันต์ ฯลฯ
ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ ๙ และรัชกาลที่ ๑๐ ตั้งแต่ง ณ ชาลาพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ขอปวงพสกนิกรชาวไทย
ชำระน้ำใจให้ใสสะอาด
: ถวายเป็นน้ำสนานพระบาท
ให้ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน-เทอญ
——————–
(ตามคำเสนอแนะของพระคุณท่าน ดร.พระมหาสุนันท์ รุจิเวทย์)
#บาลีวันละคำ (2,503)
20-4-62