พิกลพิการ (บาลีวันละคำ 2,501)
พิกลพิการ
ไม่ใช่ “วิกลวิการ”
อ่านว่า พิ-กน-พิ-กาน
ประกอบด้วยคำว่า พิกล + พิการ
(๑) “พิกล”
บาลีเป็น “วิกล” อ่านว่า วิ-กะ-ละ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + กลฺ (ธาตุ = ตัด, ฉีก, ขาด) + อ ปัจจัย
: วิ + กลฺ = วิกลฺ + อ = วิกล (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “อันถูกตัดให้แปลกไป” หมายถึง บกพร่อง, ขาดแคลน, ถูกตัด, ปราศจาก (defective, in want of, deprived, [being] without)
“วิกล” ทั้งบาลีและสันสกฤตเป็นรูปเดียวกัน
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“วิกล : (คำคุณศัพท์) อันยุ่ง, อันปั่นป่วน; วิการ, พิการ, อสมบูรณ์; อันเสื่อมสิ้น, อันแรมหรือลดความแจ่มดวง; confused, agitated; defective, imperfect; decayed, waned; – (คำนาม) เศษหนึ่งส่วนหกสิบของกลา, วินาฑีขององศา; one-sixtieth part of a Kala, the second of a degree.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิกล : (คำวิเศษณ์) ไม่ปรกติ, แปลกไป, ไม่สมบูรณ์, อ่อนแอ, เช่น รูปร่างวิกล หน้าตาวิกล, บางทีใช้เข้าคู่กับคำ วิการ เป็น วิกลวิการ เช่น รูปร่างวิกลวิการ. (ป., ส.).”
“วิกล” แผลง ว เป็น พ ตามหลักนิยมในภาษาไทย เป็น “พิกล” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พิกล : (คำวิเศษณ์) ผิดปรกติ, แปลกไป, เช่น รูปร่างพิกล ทำท่าพิกล พูดพิกล. (ป., ส. วิกล ว่า ขาดแคลน, อ่อนแอ).”
(๒) “พิการ”
บาลีเป็น “วิการ” อ่านว่า วิ-กา-ระ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ก-(รฺ) เป็น อา (กรฺ > การ)
: วิ + กรฺ = วิกรฺ + ณ = วิกรณ > วิกร > วิการ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การทำให้แปลกไปเป็นอย่างอื่น”
นักเรียนบาลีจะคุ้นกับคำว่า “วิการ” ในความหมาย 2 อย่าง คือ –
๑ แผลงหรือแปลง เช่น (1) “วิการ อิ เป็น เอ” คือแผลง อิ เป็น เอ เช่น ปรมินทร์ > ปรเมนทร์ (2) “วิการ ว เป็น พ” คือแปลง ว เป็น พ เช่น วิการ > พิการ
๒ เรียกของที่ทำด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น “สร้อยคออันเป็นวิการแห่งทอง” หมายถึง สร้อยคอที่ทำด้วยทอง
“วิการ” ในบาลีใช้ในความหมายหลายอย่าง ดังนี้ –
(1) การเปลี่ยนแปลง, การแปรผัน (change, alteration)
(2) การผิดรูป, การหันกลับ, การบิดเบี้ยว (distortion, reversion, contortion)
(3) การทำให้กระวนกระวาย, การรบกวน, ความไม่สะดวก, การทำให้ผิดปกติ (perturbation, disturbance, inconvenience, deformity)
(4) ร่างกาย, คุณสมบัติ, คุณลักษณะ (constitution, property, quality)
(5) การหลอกลวง, การฉ้อฉล (deception, fraud)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “วิการ” ไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“วิการ : (คำนาม) การเปลี่ยนรูปหรือประกฤติ, การบิดเชือนจากประกฤติภาพ; พยาธิ, โรค; ราคะ; รส; วิกฤติหรืออภาวะ; change of form or nature, deviation from the natural state; sickness, disease; passion, feeling, emotion.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิการ : (คำวิเศษณ์) พิการ, ที่ผิดแปลกไปจากธรรมชาติ, มักใช้เข้าคู่กับคำ วิกล เป็น วิกลวิการ. (คำนาม) ความผันแปร. (ป., ส.).”
“วิการ” แผลง ว เป็น พ ตามหลักนิยมในภาษาไทย เป็น “พิการ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พิการ : (คำวิเศษณ์) เสียอวัยวะมีแขนขาเป็นต้น, เสียไปจากสภาพเดิม, เช่น แขนพิการ ตาพิการ, บางทีใช้เข้าคู่กับคำ พิกล เป็น พิกลพิการ. (ป., ส. วิการ).”
วิกล + วิการ = วิกลวิการ
แผลง ว เป็น พ ตามหลักนิยมในภาษาไทย เป็น “พิกลพิการ”
โปรดสังเกตความหมายในพจนานุกรม :
“วิกลวิการ” ใช้ในความหมายว่า “ผิดปรกติ” หรือ “ผิดแปลกไปจากธรรมชาติ”
“พิกลพิการ” ใช้ในความหมายว่า “เสียไปจากสภาพเดิม, เช่น แขนพิการ ตาพิการ”
ตัวอย่างชัดๆ
มือมี 6 นิ้ว (ปกติมือข้างหนึ่งมี 5 นิ้ว) = “วิกลวิการ”
เคยมีมือ แต่มือขาดไป (เช่นถูกตัดมือ) = “พิกลพิการ”
สรุปว่า ไม่ว่าจะ “พิกลพิการ” หรือ “วิกลวิการ” ความหมายที่ตรงกันก็คือ ไม่เหมือนปกติ หรือผิดปกติ
แถมข้อคิด :
“ผิดปกติ” กับ “ผิดพลาด” คล้ายกัน แต่ไม่เหมือนกัน
“ผิดปกติ” เป็นเรื่องที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นหรือเป็นเช่นนั้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ ถ้าเป็นเรื่อง “พิกลพิการ” ก็แก้ไขยาก บางทีก็แก้ไขไม่ได้ ได้แต่ยอมรับความ “ผิดปกติ” นั้น
“ผิดพลาด” ก็เป็นเรื่องที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นหรือเป็นเช่นนั้น และเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจเช่นกัน ส่วนที่ผิดพลาดไปแล้วบางทีแก้ไขใหม่ได้ แต่บางเรื่องก็แก้ไขไม่ได้ ดังภาษิตว่า “กตสฺส นตฺถิ ปฏิการํ สิ่งที่ทำแล้ว ทำคืนไม่ได้”
ที่ไม่เหมือนกันก็คือ –
“ผิดปกติ” ส่วนมากเจ้าตัวยอมรับ
แต่ “ผิดพลาด” ส่วนมากเจ้าตัวไม่ค่อยยอมรับ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ผู้ยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง
: คือยอดนักเลงตัวจริง
#บาลีวันละคำ (2,501)
18-4-62