บาลีวันละคำ

ลัญจกร (บาลีวันละคำ 2,508)

ลัญจกร

อ่านว่า ลัน-จะ-กอน  

บาลีเป็น “ลญฺฉกร” อ่านว่า ลัน-ฉะ-กะ-ระ ประกอบด้วยคำว่า ลญฺฉ + กร

(๑) “ลญฺฉ

บาลีอ่านว่า ลัน-ฉะ รากศัพท์มาจาก ลฉฺ (ธาตุ = ทำเครื่องหมาย) + ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุแล้วแปลงเป็น ญฺ (ลฉฺ > ลํฉฺ > ลญฺฉฺ)

: ลฉฺ > ลํฉฺ > ลญฺฉฺ + = ลญฺฉ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องทำเครื่องหมาย

ลญฺฉ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ตรา, เครื่องหมาย, การประทับตรา (stamp, mark, imprint)

(2) ตรา [พูดถึงจดหมายหรือประกาศิต] (the seal [of a letter or edict])

ในที่นี้แปลง เป็น ลญฺฉ” จึงเป็น “ลญฺจ

(๒) “กร

บาลีอ่านว่า กะ-ระ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย

: กรฺ + = กร แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “การทำ” หมายถึง ผลิต, ก่อ, ประกอบ, กระทำ (producing, causing, forming, making, doing)

(2) “ผู้ทำ” หมายถึง ผู้กระทำ (the maker)

(3)“อวัยวะเป็นเครื่องทำงาน” หมายถึง มือ (the hand)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “กร” ไว้ว่า –

(1) กร ๑ : (คำนาม) ผู้ทํา, ใช้ประกอบเป็นส่วนหลังของสมาส เช่น กรรมกร เกษตรกร. (ป.).

(2) กร ๒ : (คำนาม) มือ (มักใช้ในบทประพันธ์); แขน เช่น เจ้างามกรอ่อนดังงวงเอราวัณ. (กลบท); (ราชา) มือ, แขน, ปลายแขน, ใช้ว่า พระกร หรือ กร. (ป., ส.).

(3) กร ๓ : (คำนาม) แสง, ใช้ประกอบเป็นส่วนหลังของสมาส เช่น รัชนีกร นิศากร. (ป.).

ลญฺฉ + กร = ลญฺฉกร > ลญฺจกร แปลว่า “ผู้ทำเครื่องหมาย” (one who makes marks)

ในภาษาไทย คำนี้ใช้เป็น “ลัญจกร” และ “ลัญฉกร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ลัญจกร, ลัญฉกร : (คำแบบ) (คำนาม) ตรา (สำหรับประทับ), ใช้เป็นราชาศัพท์ว่า พระราชลัญจกร เช่น ประทับพระราชลัญจกร. (ป.).”

…………..

หนังสือ “ประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” กระทรวงวัฒนธรรมจัดพิมพ์เนื่องในมหามงคลการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 หน้า 128 อธิบายเรื่อง “พระราชลัญจกร” มีข้อความดังนี้

…………..

พระราชลัญจกร (ราด-ชะ-ลัน-จะ-กอน)

พระราชลัญจกร เป็นเครื่องหมายอย่างหนึ่งที่แสดงถึงพระราชอิสริยยศ พระเกียรติยศและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ตามโบราณราชประเพณีถือว่า พระราชลัญจกรเป็นเครื่องมงคลในหมวดพระราชสิริอย่างหนึ่ง อันประกอบด้วย พระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และพระราชลัญจกรประจำรัชกาล

พระราชลัญจกรประรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์แกะสลักจากงา มีพระปรมาภิไธยบนขอบรอบพระราชลัญจกร ใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธยในเอกสารสำคัญอันเป็นราชการแผ่นดินทั้งปวงประจำรัชสมัย เช่น รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา พระราชกำหนด ประกาศพระบรมราชโอการต่างๆ เป็นต้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ลัญจกรที่ประทับ

ใช้ได้สำหรับชาติเดียวชาตินี้

: แต่กรรมชั่วกรรมดี

ใช้ได้อย่างน้อยห้าร้อยชาติ

————

(ตอบคำถามข้ามปีของ Phanyasago Srikane)

#บาลีวันละคำ (2,508)

25-4-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย