บาลีวันละคำ

ทูตอ่านสาส์น (บาลีวันละคำ 2,511)

ทูตอ่านสาส์น

อ่านว่า ทูด-อ่าน-สาน

มีคำบาลีคือ “ทูต” และ “สาส์น

(๑) “ทูต

บาลีอ่านว่า ทู-ตะ รากศัพท์มาจาก ทุ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป, เดือดร้อน) + ปัจจัย, ทีฆะ อุ ที่ ทุ เป็น อู (ทุ > ทู)

: ทุ + = ทุต > ทูต (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันเขาส่งไป” “ผู้เดือดร้อน” (เพราะจะต้องผจญการต่างๆ แทนเจ้าของเรื่อง) หมายถึง คนสื่อสาร, ผู้ไปทำการแทน (a messenger, envoy)

บางตำราว่า “ทูต” ใช้ “ทูร” (ทู-ระ) แทนได้

ทูร” แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่ไปถึงโดยยาก” หมายถึง ไกล, ห่าง, ห่างไกล

ตามนัยนี้ ทูร < ทูต มีความหมายว่า “ผู้ถูกส่งออกไปไกล” (one who is sent far away)

อนึ่ง ควรเข้าใจให้ถูกต้องว่า “ทูต” คำนี้ใช้ ทหาร ไม่ใช่ มณโฑ

(๒) “สาส์น

บาลีเป็น “สาสน” อ่านว่า สา-สะ-นะ รากศัพท์มาจาก –

(1) สาสฺ (ธาตุ = สั่งสอน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: สาสฺ + ยุ > อน = สาสน แปลตามศัพท์ว่า (1) “คำอันท่านสั่งสอน” (2) “คำเป็นเครื่องสั่งสอนชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก

(2) สสฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน, ทีฆะ อะ ที่ -(สฺ) เป็น อา (สสฺ > สาส)

: สสฺ + ยุ > อน = สสน > สาสน แปลตามศัพท์ว่า “คำสั่งสอนที่เบียดเบียนกิเลส

คำว่า “สาสน” (นปุงสกลิงค์) มีที่ใช้ในความหมาย 3 อย่าง คือ –

(1) คำสอน = teaching หรือที่เรียกทับศัพท์ว่า “ศาสนา

(2) คำสั่ง (ในทางปกครองบังคับบัญชา) = order (to rule, govern)

(3) ข่าว = message คือที่เราคุ้นกันในคำว่า “สาส์น” (สาน)

คำนี้เคยมีข้อถกเถียงว่า ภาษาอังกฤษเมื่อทับศัพท์เป็นไทยใช้การันต์กลางคำได้ เช่น film ทับศัพท์เป็น ฟิล์ม การันต์ที่ กลางคำ แต่บาลีสันสกฤตใช้การันต์กลางคำได้หรือ

พจนานุกรมฯ ตัดสินแล้วว่าใช้ได้ ดังที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สาสน, สาสน-, สาสน์, สาส์น [สาน, สาสะนะ-, สาดสะนะ-, สาด, สาน] : (คำนาม) คำสั่ง, คำสั่งสอน, เช่น สาสนธรรม; จดหมายของประมุขของประเทศหรือประมุขสงฆ์ที่ใช้ในการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ, ถ้าเป็นจดหมายของพระมหากษัตริย์ เรียกว่า พระราชสาส์น, ถ้าเป็นจดหมายของประธานาธิบดี เรียกว่า อักษรสาส์น, เขียนเป็น อักษรสาสน หรือ อักษรสาสน์ ก็ได้, ถ้าเป็นจดหมายของสมเด็จพระสังฆราช เรียกว่า สมณสาสน์, ถ้าเป็นจดหมายของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า เรียกว่า พระสมณสาสน์. (ป.).”

ในที่นี้สะกดเป็น “สาส์น” อ่านว่า สาน

ขยายความ :

คำว่า “ทูตอ่านสาส์น” นี้ ผู้เขียนบาลีวันละคำได้ฟังมาจากผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ท่านพูดคำนี้ประกอบคำอธิบายธรรมเนียมการแสดงธรรมของพระภิกษุที่ต้องถือคัมภีร์

คำอธิบายมีว่า การที่ต้องถือคัมภีร์ขณะที่กำลังแสดงธรรมนั้น เกิดจากแบบแผนการแสดงธรรมที่จะต้องแสดงหลักคำสอนไปตามที่ปรากฏในคัมภีร์ พระบาลีพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา ฯลฯ ว่าไว้อย่างไร ก็นำมาแสดงไปตามนั้น และต้องไม่แทรกความเห็นส่วนตัวของผู้เทศน์เข้าไปในเรื่องที่เทศน์

ท่านเปรียบไว้ว่า ผู้เทศน์ต้องทำตัวเหมือนราชทูตอ่านสาส์น ข้อความในสาส์นมีว่าอย่างไร มีเท่าไร ก็อ่านไปตามนั้น เท่านั้น จะตัดหรือเติมเอาตามใจชอบหาได้ไม่ ฉันใด

ภิกษุผู้แสดงธรรมก็ต้องแสดงธรรมตามหลักฐานในคัมภีร์ จะตัดหรือเติมความเห็นของตนเข้าไปไม่ได้ ฉันนั้น

ทั้งนี้ ท่านให้เหตุผลว่า เพราะพระธรรมเป็นของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ของภิกษุผู้แสดง ภิกษุผู้แสดงเป็นแต่เพียงทำหน้าที่นำพระธรรมนั้นมาแสดง เหมือนราชทูตมีหน้าที่นำสาส์นฉะนั้น

…………..

ผู้เขียนบาลีวันละคำสังเกตเห็นว่า พระธรรมกถึกสมัยใหม่นิยมแสดงธรรมโดยอัตโนมัตยาธิบายกันมาก บางทียกนิกเขปบทมาตั้งแล้วก็ทิ้งไปเฉยๆ เพลิดเพลินไปกับการแสดงคารมโวหารของตนเองราวกับเป็นธรรมสามี มิจำต้องคำนึงถึงอาคตสถานที่อ้างอิงแต่ประการใด

ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นว่า “ทูตอ่านสาส์น” เป็นคำเปรียบเทียบที่แยบคายและชอบด้วยเหตุผล จึงนำมาเขียนเป็นบาลีวันละคำเพื่อรักษาไว้ไม่ให้สูญไปเสีย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: แต่งเครื่องแบบของพระพุทธเจ้า

: จงแสดงคำสอนของพระพุทธเจ้า

#บาลีวันละคำ (2,511)

28-4-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย