บาลีวันละคำ

ภัทรบิฐ (บาลีวันละคำ 2,517)

ภัทรบิฐ

อ่านว่า พัด-ทฺระ-บิด

ประกอบด้วยคำว่า ภัทร + บิฐ

(๑) “ภัทร

บาลีเป็น “ภทฺท” (พัด-ทะ) รากศัพท์มาจาก ภทฺทฺ (ธาตุ = ดี, เจริญ) + ปัจจัย

: ภทฺทฺ + = ภทฺท แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ดี

ภทฺท” (คุณศัพท์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ฤกษ์ดี, โชคดี, สูง, สง่า, เลอเลิศ, มีนิมิตดี, ที่เคารพ [ในการร้องเรียกคนที่เคารพ], ดีงาม, มีความสุข, เคราะห์ดี (auspicious, lucky, high, lofty, august, of good omen, reverend [in address to people of esteem], good, happy, fortunate)

(2) สิ่งที่นำโชคมาให้, ความเจริญ, สวัสดิการ, สถานะที่ดี; กรรมดี (something bringing luck, a good state, welfare; a good deed)

(3) ศรชนิดหนึ่ง (a kind of arrow)

(4) โคตัวผู้ (bull)

บาลี “ภทฺท” สันสกฤตเป็น “ภทฺร” (บาลีเป็น “ภทฺร” ก็มี)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ภทฺร : (คำวิเศษณ์) ‘ภัทร,’ เปนสุข; มีลาภ; ดียิ่ง; ทรงคุณธรรม; happy, lucky; best; virtuous; – (คำนาม) ความสุข; ลาภ; หญ้าหรือแฝกหอม; ทองครรม; เหล็กกล้า; นามพระศิวะ; นกกิ้งเขน; พระเมรุบรรพต; แม่น้ำคงคาเมืองสวรรค์; happiness; fortune; fragrant glass; gold; steel; a name of Siva; a wagtail; Mount Meru; the Ganges of heaven.

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ภัทร-, ภัทระ : (คำวิเศษณ์) ดี, เจริญ, ประเสริฐ, งาม, น่ารัก, เป็นมงคล. (ส. ภทฺร; ป. ภทฺท, ภทฺร).”

(๒) “บิฐ

บาลีเป็น “ปีฐ” (ปี-ถะ) รากศัพท์มาจาก ปีฐฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ปัจจัย

: ปีฐฺ + = ปีฐ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่อันเขาเบียดเบียน” หมายถึง ตั่ง, เก้าอี้, ม้านั่ง, ม้ายาว (a seat, chair, stool, bench)

บาลี “ปีฐ” ภาษาไทยใช้เป็น “บิฐ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บิฐ : (คำนาม) ตั่ง, ที่นั่งชนิดหนึ่ง รูปสี่เหลี่ยม มีเท้า มีพนักอิงบ้างไม่มีบ้าง, เช่น พระที่นั่งภัทรบิฐ. (ป., ส. ปีฐ).”

ภทฺท + ปีฐ = ภทฺทปีฐ แปลตามศัพท์ว่า “ตั่งอันเป็นมงคล

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภทฺทปีฐ” ว่า state-chair, throne (เก้าอี้พิธีการสำคัญ, บัลลังก์)

ภทฺทปีฐ” ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์เป็น “ภัทรบิฐ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ภัทรบิฐ : (คำนาม) แท่นสําหรับเทพบดี หรือพระราชาประทับ ถือว่าเป็นมงคล. (ส.).”

…………..

หนังสือ “ประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” กระทรวงวัฒนธรรมจัดพิมพ์เนื่องในมหามงคลการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 หน้า 124 อธิบายคำว่า “พระที่นั่งภัทรบิฐ” มีข้อความดังนี้

…………..

พระที่นั่งภัทรบิฐ (พัด-ทระ-บิด) ประดิษฐานภายในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ด้านทิศตะวันตก พระที่นั่งมีลักษณะคล้ายเก้าอี้ มีกงเท้าแขน ด้านหลังมีพนักพิง และตั้งโต๊ะเคียง ๒ ข้างสลักปิดทองประดับกระจก ขาเป็นรูปพญานาคราช สำหรับทอดเครื่องราชกกุธภัณฑ์และเครื่องราชูปโภค แต่เดิมรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๘ ปักสัปตปฎลเศวตฉัตรกางกั้น ครั้นในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้เปลี่ยนเป็นกางกั้นพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร

…………..

ดูก่อนภราดา!

: พระมหากษัตริย์ผู้ทรงธรรมประทับ ณ ที่ใด

: ที่นั้นไซร้ย่อมมีแต่ความสุขความเจริญ

#บาลีวันละคำ (2,517)

4-5-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย