ปฐมบรมราชโองการ (บาลีวันละคำ 2,518)
ปฐมบรมราชโองการ
อ่านว่า ปะ-ถม-บอ-รม-มะ-ราด-ชะ-โอง-การ
ประกอบด้วยคำว่า ปฐม + บรม + ราช + โองการ
(๑) “ปฐม”
บาลี (ฐ ฐาน ไม่มีเชิง) อ่านว่า ปะ-ถะ-มะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ปฐฺ (ธาตุ = พูด, กล่าว; สวด) + อม ปัจจัย
: ปฐฺ + อม = ปฐม แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งอันเขาพูดขึ้นในเบื้องต้น” (2) “บทอันเขาสวดโดยเป็นบทที่สูงสุด”
(2) ปถฺ (ธาตุ = นับ) + อม ปัจจัย, แปลง ถฺ เป็น ฐฺ
: ปถฺ + อม = ปถม > ปฐม แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขานับในเบื้องต้น”
“ปฐม” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เป็นปูรณสังขยา (เลขบอกลำดับที่): ที่หนึ่ง, ขึ้นหน้าที่สุด, ก่อน (the first, foremost, former)
(2) เป็นคุณนาม: ชั้นต้น, เป็นครั้งแรก (at first, for the first time)
(3) เป็นส่วนแรกของสมาส: ครั้งแรก, เร็วๆ นี้, ใหม่ๆ, เพิ่ง (first, recently, newly, just)
(๒) “บรม”
บาลีเป็น “ปรม” อ่านว่า ปะ-ระ-มะ รากศัพท์มาจากหลายทาง แสดงในที่นี้พอเป็นตัวอย่าง :
(1) ปร (ข้าศึก) + มรฺ (ธาตุ = ตาย) + กฺวิ ปัจจัย ลบที่สุดธาตุ และลบปัจจัย
: ปร + มรฺ = ปรมร + กฺวิ = ปรมรกฺวิ > ปรม แปลตามศัพท์ว่า “ยังธรรมอันเป็นข้าศึกให้ตาย”
(2) ป (ทั่วไป) + รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ
: ป + รมฺ = ปรม + ณ = ปรมณ > ปรม แปลตามศัพท์ว่า “ยินดีในความยิ่งใหญ่”
(3) ปรฺ (ธาตุ = รักษา) + ม ปัจจัย
: ปร + ม = ปรม แปลตามศัพท์ว่า “รักษาความสูงสุดของตนไว้”
“ปรม” หมายถึง สูงสุด, พิเศษสุด, เป็นเลิศ, ดีที่สุด (highest, most excellent, superior, best)
“ปรม” ที่ใช้ภาษาไทยว่า “บรม” (บอ-รม) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บรม, บรม– : (คำวิเศษณ์) อย่างยิ่ง, ที่สุด, (มักใช้นําหน้าคําที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า พระเจ้าแผ่นดิน และพระอัครมเหสี เป็นต้น เพื่อแสดงพระเกียรติยศยิ่งใหญ่) เช่น บรมศาสดา บรมบพิตร บรมราชินี บรมมหาราชวัง. (ป., ส. ปรม); (ภาษาปาก) อย่างที่สุด เช่น โง่บรม บรมขี้เกียจ.”
(๓) “ราช”
บาลีอ่านว่า รา-ชะ แปลตามรากศัพท์ว่า –
(1) “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก”
ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + อ (ปัจจัย) = ราช
หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย
(2) “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี”
ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + ณ (ปัจจัย) ลบ ณ ลบ ญฺ แผลง ร เป็น รา = ราช
หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)
“ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา.”
(๔) “โองการ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โองการ : (คำนาม) คำศักดิ์สิทธิ์ เช่น โองการแช่งน้ำในพระราชพิธีถือพระพิพัฒน์สัตยา (ศรีสัจจปานกาล), ถ้าเป็นคำศักดิ์สิทธิ์มาจากพระดำรัสสั่งของพระมหากษัตริย์ที่รับบรมราชาภิเษกแล้ว เรียกว่า พระราชโองการ หรือ พระบรมราชโองการ. [ป.; ส. โอํการ = อักษรโอม ซึ่งมาจากคำว่า “อะ อุ มะ” ในทางศาสนาพราหมณ์ หมายถึง พระมหาเทพทั้ง ๓ คือ พระศิวะ พระวิษณุ และพระพรหม ในทางพระพุทธศาสนา อ = อรหํ (พระพุทธเจ้า) อุ = อุต̣ตมธม̣ม (พระธรรมอันสูงสุด) ม = มหาสง̣ฆ (พระสงฆ์)].”
พจนานุกรมฯ บอกว่า “โองการ” เป็นคำบาลี ส่วนสันสกฤตเป็น “โอํการ” ตามคำอธิบายบอกว่ามาจากคำว่า “อะ อุ มะ” รวมกันเป็น “โอม” แปลว่า “อักษรโอม”
ถ้าเอาคำแปลว่า “อักษรโอม” เป็นหลัก คำนี้ก็ควรเป็น “โอมการ” คือ โอม + การ
ในภาษาบาลี “การ” (กา-ระ) แปลว่า “ตัวอักษร” ได้ด้วย อย่างคำว่า “การันต์” แปลว่า “ที่สุดอักษร” ก็มาจาก การ (อักษร) + อนฺต (ที่สุด) = การนฺต > การันต์
ถ้าคำไทยเป็น “โองการ” คำบาลีก็น่าจะเป็น “โองฺการ” (โอง-กา-ระ) แปลว่า “อักษร-โอ” แต่เมื่อเป็นคำที่มาจากอักษร “อะ อุ มะ” ซึ่งรวมกันเป็น “โอม” ก็จำต้องอธิบายว่า “โอมการ” นั่นเองในภาษาไทยเอามาใช้เป็น “โองการ”
มีบทสวดมนต์ชื่อ “นโมการอฏฺฐกคาถา” แปลว่า “คาถาแปดบทว่าด้วยอักษร-นโม” คำว่า “นโมการ” แปลว่า “อักษร-นโม” ด้วยเหตุนี้จึงเรียกบทสวดมนต์บทนี้ว่า “นโมแปดบท” มีข้อความตอนหนึ่งว่า –
…………..
นโม โอมาตฺยารทฺธสฺส
รตนตฺตฺยสฺส สาธุกํ.
(นะโม โอมาตยารัทธัสสะ
ระตะนัตต๎ยัสสะ สาธุกัง)
แปลว่า –
การนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า อะ อุ มะ ดังนี้เป็นการดี
…………..
คำว่า “โอมาตฺยารทฺธสฺส” แยกศัพท์เป็น โอม + อิติ + อารทฺธสฺส
นี่ก็คือตัวอย่างที่ใช้คำว่า “โอม” (โอ-มะ) ในภาษาบาลี
สรุปว่า “โอมการ” (โอ-มะ-กา-ระ) เป็น “โองฺการ” (โอง-กา-ระ) แล้วก็เป็น “โองการ” (โอง-กาน) ในภาษาไทย ทั้งนี้ตามนัยแห่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “โอมฺ” และ “โองฺการ” ขอยกมาเสนอไว้ประกอบการพิจารณาดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
(1) โอมฺ ๒ : (คำนาม) คหนนามของเทพดา, กล่าวนำบทภาวนาและเลขยบัตร์โดยมากของชาวฮินดู; อุ.อ.ม. ได้แก่นามพระวิษณุ, พระศิวะ, พระพรหม; ศัพท์นี้เปนตริตยหรือองค์สาม (ไตรสรณาคม) ของชาวอินเดีย; the mystic name of the deity, prefacing all the prayers and most of the writings of the Hindus; u. a. m. are short forms for Vishṇu, Śiva, and Brahma; the word implies the Indian triad, and expresses the three in one; – (คำอุทาน) นิบาตบอกความบังคับ, บอกความตกลงยินยอม (เช่น, เทียว ฯลฯ), บอกความเปนมงคล, บอกความโยกย้าย (เช่น, ไป); อุปกรมนิบาต; a particle of command, of assent (as verity, etc.), of auspiciousness, of removal (as away); an inceptive particle.
(2) โองฺการ : (คำนาม) รหัสยนามของเทพดา; the mysterious name of deity.
การประสมคำ :
๑ บรม + ราช = บรมราช แปลว่า “พระราชาผู้สูงสุด”
๒ บรมราช + โองการ = บรมราชโองการ แปลว่า “พระดำรัสสั่งของพระราชาผู้สูงสุด”
๓ ปฐม + บรมราชโองการ = ปฐมบรมราชโองการ แปลว่า “พระดำรัสสั่งของพระราชาผู้สูงสุดเป็นครั้งแรก” = พระดำรัสสั่งครั้งแรกของพระราชาผู้สูงสุด
…………..
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 ว่า –
“เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”
…………..
พระประสงค์ทุกสิ่งเสร็จ
แม้สรรเพชญโพธิสมภาร
ดำรงรัชย์ชัชวาล
ดั่งเวียงสวรรค์นิรันดร์เทอญ.
ขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
—————
#บาลีวันละคำ (2,518)
5-5-62