ทักษิโณทก (บาลีวันละคำ 2,521)
ทักษิโณทก
น้ำกรวด – กรวดน้ำ
อ่านว่า ทัก-สิ-โน-ทก
ประกอบด้วยคำว่า ทักษิณา + อุทก
(๑) “ทักษิณา”
บาลีเป็น “ทักขิณา” (ทัก-ขิ-นา) รากศัพท์มาจาก ทกฺขฺ (ธาตุ = เจริญ) + อิณ ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ทกฺขฺ + อิณ = ทกฺขิณ + อา = ทกฺขิณา แปลตามศัพท์ว่า (1) “ทานที่คนเชื่อผลของกรรมแล้วให้” (2) “เหตุเป็นเครื่องเจริญด้วยสมบัติตามที่ปรารถนา”
“ทกฺขิณา” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) รางวัล, ของขวัญ, ค่าธรรมเนียม, ของที่ควรให้, สิ่งบริจาค (a gift, a fee, a donation)
(2) ทานที่ให้แก่ผู้ศักดิ์สิทธิ์ (a donation given to a holy person)
(3) สิ่งที่ให้เพื่อชดใช้หรือล้างบาป หรือเพื่ออุทิศให้ผู้อื่น (an intercessional, expiatory offering)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ทักขิณา : (คำนาม) ทักษิณา, ของทำบุญ; ขวา, ทิศใต้. (ป.; ส. ทกฺษิณา).”
ในที่นี้ “ทกฺขิณา” ใช้อิงสันสกฤตเป็น “ทักษิณา” มีความหมายอย่างเดียวกับ “ทกฺขิณา”
(๒) “อุทก”
บาลีอ่านว่า อุ-ทะ-กะ รากศัพท์มาจาก อุทิ (ธาตุ = ไหลไป; เปียก, ชุ่ม) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ), ลบสระที่สุดธาตุ (อุทิ > อุท)
: อุทิ + ณฺวุ = อุทิณฺวุ > อุทิก > อุทก (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ไหลไป” (2) “สิ่งที่ทำให้เปียก” หมายถึง น้ำ (water)
ทกฺขิณา + อุทก ลบสระหน้า คือ อา ที่ (ทกฺขิ)-ณา (ทกฺขิณา > ทกฺขิณ), แผลง อุ ที่ อุ-(ทก) เป็น โอ (อุทก > โอทก)
: ทกขิณา > ทกขิณ + อุทก = ทกขิณุทก > ทกขิโณทก แปลตามศัพท์ว่า “น้ำเพื่อการอุทิศให้”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทกฺขิโณทก” ว่า water to wash in [orig. water of dedication, consecrated water] (น้ำสำหรับชำระล้าง [แต่เดิมหมายถึง น้ำที่หลั่งเพื่อแสดงการอุทิศ, น้ำที่หลั่งเพื่ออุทิศส่วนบุญให้บรรพบุรุษ])
“ทกฺขิโณทก” ภาษาไทยใช้เป็น “ทักษิโณทก”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ทักษิโณทก : (คำราชาศัพท์) (คำนาม) นํ้าที่หลั่งการบำเพ็ญพระราชกุศล, นํ้าที่หลั่งลงเป็นการแสดงว่ามอบให้เป็นสิทธิ์ขาด, นํ้ากรวด คือ น้ำที่ใช้แทนสิ่งของที่ให้ซึ่งใหญ่โตหรือสิ่งไม่มีรูปที่จะหยิบยกให้ได้ อย่างวัด ศาลา บุญกุศล เป็นต้น เช่น พระเวสสันดรหลั่งทักษิโณทกยกสองกุมารให้ชูชก, ชื่อของพระเต้าที่พระมหากษัตริย์ทรงหลั่งน้ำเพื่ออุทิศพระราชกุศล เรียกว่า พระเต้าทักษิโณทก. (ส.).”
…………..
หนังสือ “ประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” กระทรวงวัฒนธรรมจัดพิมพ์เนื่องในมหามงคลการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 หน้า 143 อธิบายคำว่า “หลั่งทักษิโณทก” มีข้อความดังนี้
…………..
หลั่งทักษิโณทก (ทัก-สิ-โน-ทก)
ทักษิโณทก มาจากศัพท์ “ทักษิณา” แปลว่า ของทำบุญ และ “อุทก” แปลว่า น้ำ เป็นราชาศัพท์ หมายถึง กรวดน้ำ (แผ่ส่วนบุญด้วยวิธีหลั่งน้ำ) ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์จนถึงพระอนุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้า ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระปฐมบรมราชโองการแล้ว ทรงหลั่งทักษิโณทกตั้งสัตยาธิษฐานจะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจโดยทศพิธราชธรรม
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อุทิศส่วนบุญไม่ได้ทำให้เราจน
: แต่การไม่รู้จักคุณของบรรพชนนั่นแหละทำให้เราเลว
#บาลีวันละคำ (2,521)
8-5-62