บาลีวันละคำ

พืชมงคล (บาลีวันละคำ 2,522)

พืชมงคล

อ่านว่า พืด-ชะ-มง-คน

ประกอบด้วยคำว่า พืช + มงคล

(๑) “พืช

บาลีเป็น “พีช” (พี-ชะ) รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + กฺวิ ปัจจัย, ทีฆะ อิ ที่ วิ เป็น อี (วิ > วี), แปลง เป็น , ลบที่สุดธาตุ คือ (ชนฺ > ) และลบ กฺวิ

: วิ + ชนฺ = วิชนฺ + กฺวิ = วิชนกฺวิ > วีชนกฺวิ > พีชนกฺวิ > พีชน > พีช แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เกิดโดยวิเศษ” (2) “สิ่งที่เป็นเหตุเกิดแห่งสิ่งทั้งหลาย” (3) “อวัยวะที่เกิดโดยปราศจากปัจจัย

พีช” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เมล็ดพืช (seed)

(2) เชื้อ (germ)

(3) น้ำกาม (semen)

(4) ไข่ (spawn)

(5) ธาตุ (element)

บาลี “พีช” ในภาษาไทยใช้เป็น “พืช

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พืช : (คำนาม) สิ่งมีชีวิตที่โดยทั่วไปสร้างอาหารเองโดยการสังเคราะห์แสง, เมล็ดพันธุ์ไม้, สิ่งที่จะเป็นพันธุ์ต่อไป, พืชพันธุ์ ก็ใช้. (ป. พีช; ส. วีช); พรรณไม้ที่งอกอยู่ตามที่ต่าง ๆ, พืชพรรณ ก็ใช้.”

(๒) “มงคล

บาลีเป็น “มงฺคล” (มัง-คะ-ละ) รากศัพท์มาจาก –

(1) มคิ (ธาตุ = ถึง, ไป, เป็นไป) + อล ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ -(คิ) แล้วแปลงนิคหิตเป็น งฺ (มคิ > มํคิ > มงฺคิ), ลบสระที่สุดธาตุ (มคิ > ค)

: มคิ > มํคิ > มงฺคิ > มงฺค + อล = มงฺคล แปลตามศัพท์ว่า (1) “เหตุให้ถึงความเจริญ” (2) “เหตุเป็นเครื่องถึงความบริสุทธิ์แห่งเหล่าสัตว์

(2) มงฺค (บาป) + ลุ (ธาตุ = ตัด) + ปัจจัย, ลบสระหน้า (คือ อุ ที่ ลุ ที่อยู่หน้า ปัจจัย : ลุ > )

: มงฺค + ลุ = มงฺคลุ > มงฺคล + = มงฺคล แปลตามศัพท์ว่า “เหตุที่ตัดความชั่ว

ความหมายที่เข้าใจกันของ “มงฺคล” (นปุงสกลิงค์) คือ –

(1) มีฤกษ์งามยามดี, รุ่งเรือง, มีโชคดี, มีมหกรรมหรืองานฉลอง (auspicious, prosperous, lucky, festive)

(2) ลางดี, ศุภมงคล, งานรื่นเริง (good omen, auspices, festivity)

มงฺคล” ตามหลักพระพุทธศาสนาหมายถึง ธรรมที่นำมาซึ่งความสุขความเจริญ

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มงคล, มงคล– : (คำนาม) เหตุที่นํามาซึ่งความเจริญ เช่น มงคล ๓๘, สิ่งซึ่งถือว่าจะนำสิริและความเจริญมาสู่และป้องกันไม่ให้สิ่งที่เลวร้ายมากล้ำกราย, เรียกงานที่จัดให้มีขึ้นเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข เช่น งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานทำบุญวันเกิด ว่า งานมงคล; เรียกเครื่องรางของขลังที่เชื่อว่าจะนำความสุขความเจริญเป็นต้นมาให้ หรือป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ ว่า วัตถุมงคล; สิ่งที่ทำเป็นวงด้วยด้ายเป็นต้นสำหรับสวมศีรษะเพื่อเป็นสิริมงคล นิยมใช้เฉพาะในเวลาชกมวยไทยหรือตีกระบี่กระบอง. (ป., ส.).”

พีช + มงฺคล = พีชมงฺคล (พี-ชะ-มัง-คะ-ละ) แปลว่า “การมงคลเกี่ยวกับการเพาะปลูกพืช

พีชมงฺคล” ใช้ในภาษาไทยเป็น “พืชมงคล

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พืชมงคล : (คำนาม) ชื่อพระราชพิธีเพื่อเป็นสวัสดิมงคลแก่เกษตรกรและความเจริญงอกงามของพืชพรรณธัญญาหาร เรียกว่า พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพิธีสงฆ์ที่ทำก่อนพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์ เริ่มมีในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.”

อภิปราย :

คำว่า “พืชมงคล” นี้ พจนานุกรมฯ บอกว่าอ่านได้ 2 แบบ คือ อ่านว่า พืด-ชะ-มง-คน ก็ได้ อ่านว่า พืด-มง-คน ก็ได้

ขอขยายความว่า ที่อ่านว่า พืด-ชะ-มง-คน นั้นเป็นการอ่านตามหลักภาษาที่กำหนดว่า คำบาลีสันสกฤตที่สมาสกัน ให้ออกเสียงพยางค์ท้ายของคำหน้าด้วย ในที่นี้คำหน้าคือ “พืช” รากคำเดิมคือ “พีช” อ่านว่า พี-ชะ พยางค์ท้ายคือ –ชะ นำมาใช้ในภาษาไทยเป็น “พืช” เมื่อมีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายก็ยังถือว่า – ที่เป็นตัวสะกดนั้นต้องออกเสียงด้วยเหมือนกับคำเดิม “พืชมงคล” จึงต้องอ่านว่า พืด-ชะ-มง-คน

ส่วนที่อ่านว่า พืด-มง-คน (ไม่มี -ชะ-) เป็นการตามความนิยม กล่าวคือคนที่ไม่ใฝ่ใจเรียนรู้หลักภาษา เอาความเข้าใจของตัวเองเป็นหลัก เห็นคำว่า “พืช” เคยอ่านว่า พืด (ไม่ใช่ พืด-ชะ) ครั้นมาเห็น “พืชมงคล” ก็ไม่ได้รับรู้ถึงหลักการอ่านคำสมาสดังที่กล่าวนั้น คงเอาความเข้าใจเดิมเป็นหลัก ก็จึงอ่านทื่อๆ ไปว่า พืด-มง-คน

ครั้นมีคนอ่านว่า พืด-มง-คน กันมากขึ้น-ซึ่งก็เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ว่าคนของเราส่วนใหญ่ไม่ใฝ่ใจหาความรู้-ผู้จัดทำพจนานุกรมฯ ก็คล้อยตามโดยอ้างว่าคนส่วนหนึ่งนิยมอ่านกันอย่างนี้ กลายเป็นหลักการอ่านอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า “อ่านตามความนิยม”

อันที่จริง “อ่านตามความนิยม” ตามนัยที่ว่ามานี้ก็คืออ่านผิดเพราะความไม่รู้นั่นเอง

หลักที่ถูกต้องนั้น เราควรพัฒนาความรู้ขึ้นไปมาตรฐานที่ถูกต้องดีงาม ไม่ใช่ดึงมาตรฐานลงมาหาความไม่รู้

การดึงมาตรฐานลงมาหาความไม่รู้เช่นนี้เท่ากับสนับสนุนให้คนขาดความใฝ่รู้ยิ่งขึ้น ทำให้เกิดความประมาท ไม่ขวนขวายใฝ่หาความรู้ สำคัญผิดไปว่า คำไหนพอใจจะอ่านอย่างไรก็อ่านไปเถอะ อ่านกันมากๆ ทางราชการก็จะต้องยอมรับว่าถูกต้องไปเองนั่นแหละ

ถ้าคนในชาติพากันคิดอย่างนี้ ความเสื่อมทรามทางภาษาก็จะเกิดขึ้น และถ้าเอาหลักการเดียวกันนี้ไปใช้กับเรื่องอื่นๆ ต่อไปอีก ความเสื่อมทรามก็จะเกิดขึ้นแก่ชาติของเราอย่างแน่นอน

จะเห็นได้ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก ใครเห็นว่าความเสื่อมทรามเป็นเรื่องเล็ก ก็วิปริตแล้ว

ผู้เขียนบาลีวันละคำจึงขอร้องว่า คำว่า “พืชมงคล” นี้ อย่าอ่านว่า พืด-มง-คน อย่างที่พจนานุกรมฯ บอกว่าอ่านได้ แต่จงช่วยกันอ่านว่า พืด-ชะ-มง-คน ซึ่งเป็นการอ่านที่ถูกต้องตามหลักภาษาของผู้เจริญแล้วโดยทั่วกันเถิด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: สิ่งที่มีคุณค่าทางใจ

: กินไม่ได้ แต่อิ่มนาน

#บาลีวันละคำ (2,522)

9-5-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *