บาลีวันละคำ

เสนาพยุหะ (บาลีวันละคำ 2,524)

เสนาพยุหะ

กระบวนทัพ

อ่านว่า เส-นา-พ-ยุ-หะ

ประกอบด้วยคำว่า เสนา + พยุหะ

(๑) “เสนา

บาลีอ่านว่า เส-นา รากศัพท์มาจาก สิ (ธาตุ = ผูก, มัด) + ปัจจัย, แผลง อิ ที่ สิ เป็น เอ (สิ > เส) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สิ > เส + = เสน + อา = เสนา แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ผู้ที่ผูกกันไว้” คือ ผู้ที่ต้องเกาะกลุ่มกันเป็นพวก เป็นหมู่ เป็นกอง จึงจะสามารถปฏิบัติงานได้

(2) “ผู้เป็นเหตุให้ผูกมัดข้าศึกได้” คือ เมื่อมีข้าศึกศัตรูมารุกราน (หรือจะไปรุกรานบ้านเมืองอื่น) ต้องอาศัยหมู่คนชนิดเช่นนี้จึงจะสามารถจับข้าศึกได้

เสนา” หมายถึง กองทัพ (an army)

ขยายความ :

สมัยโบราณ กองทัพที่เป็นมาตรฐานจะประกอบด้วยกำลังพลสี่เหล่า คือ พลช้าง, พลรถ, พลม้า และพลราบ (an army consisting of elephants, chariots, cavalry & infantry) เรียกว่า “จตุรงฺคินี เสนา” (จะ-ตุ-รัง-คิ-นี-เส-นา) แปลตามศัพท์ว่า “กองทัพมีองค์สี่

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

เสนา ๑ : (คำนาม) ไพร่พล. (ป., ส.).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แก้ไขบทนิยามใหม่ เป็น –

เสนา ๑ : (คำโบราณ) (คำนาม) ข้าราชการฝ่ายทหาร. (ป., ส.).”

คำว่า “ไพร่พล” กับ “ข้าราชการฝ่ายทหาร” ให้ความรู้สึกที่ต่างกันอย่างมาก

(๒) “พยุหะ

บาลีเป็น “พฺยูห” (มีจุด ใต้ , สระ อู) อ่านว่า พฺยู-หะ ออกเสียง พฺ นิดหนึ่งแล้วข้ามไปที่ ยู ทันที เสียงคล้ายคำว่า “เพียวพฺยูห = เพียวหะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + อูหฺ (ธาตุ = รวบรวม; ไป; ตั้ง, วาง) + (อะ) ปัจจัย, แปลง อิ ที่ วิ เป็น (วิ > วฺย), แปลง เป็น พฺ (วฺย > พฺย)

: วิ > วฺย + อูหฺ = วฺยูหฺ + = วฺยูห > พฺยูห แปลตามศัพท์ว่า (1) “ทางที่รวมคนไว้ไม่ให้ไปที่อื่น” (2) “หมู่ที่ส่วนย่อยทั้งหลายไปรวมกันโดยพิเศษ” (3) “การจัดแจงวางกำลังไว้

พฺยูห” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การรวมหรือตั้งขบวน, การรวบกลุ่มของทหาร (massing or array, grouping of troops)

(2) การตั้งแนวหรือการจัดกองทัพเป็นรูปใดรูปหนึ่ง, ขบวนรบหรือการสวนสนาม (the array or arrangement of troops in particular positions, order of parade or battle)

(3) กอง, ก้อน, กลุ่ม (a heap, mass, collection)

(4) ตรอกตัน, ซอยตัน (a blind alley, cul-de-sac)

บาลี “พฺยูห” สันสกฤตเป็น “วฺยูห” (ความจริงบาลีเป็น “วฺยูห” ก็มี)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

วฺยูห” : (คำนาม) ‘พยุหะ,’ ขะบวนทหาร, การจัดวางกองทหารเป็นริ้วขะบวนต่างๆ, ดุจ ‘ทณฺฑวฺยูห (= ทัณฑพยุหะ), ขะบวนแถวชิดหรืแถวขยาย,’ ‘โภควฺยูห (= โภคพยุหะ), ขะบวนแสนยภาค,’ ‘มณฺฑลวฺยูห (= มัณฑลพยุหะ), ขะบวนวงก์กลม,’ ‘อสํหตวฺยูห (= อสังหตพยุหะ), ขบวนระคน,’ ฯลฯ ฝูง, คณะ; ตรรก, ยุกติวาท, การคิดคำนึง; การทำ; ศรีระ; military army, the arrangement of troops in various positions, as ‘Daṇḍavyūha, the army in line,’ ‘Bhogavyūha, the army in column,’ ‘Maṇḍalavyūha, the army in circle,’ ‘Asaṅhatavyūha, the army in mixed order,’ &c.; a flock, a multitude; logic, reasoning; making; the body.

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พยุห-, พยุหะ : (คำนาม) กระบวน, หมู่, กองทัพ, พยู่ห์ ก็ว่า; ชื่อวิธีนับในปักษคณนา. (ป. พฺยูห, วฺยูห; ส. วฺยูห).”

เสนา + พฺยูห = เสนาพฺยูห > เสนาพยุหะ แปลว่า “การยาตราของกองทัพ” “การเคลื่อนพล

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เสนาพฺยูห” ว่า massing of troops, grouping & fitting up an army (การจัดขบวนทัพหรือกองทัพ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำนี้เป็น “เสนาพยุห์” และ “เสนาพยูห์” บอกไว้ว่า –

เสนาพยุห์, เสนาพยูห์ : (คำนาม) กระบวนทัพ. (ป., ส.).”

…………..

บาลีวันละคำนำให้รู้พระวินัย :

ในบรรดาศีล 227 ข้อของภิกษุ มีข้อหนึ่งบัญญัติไว้ว่า –

……………….

ทฺวิรตฺตติรตฺตญฺเจ  ภิกฺขุ  เสนาย  วสมาโน 

อุยฺโยธกํ  วา  พลคฺคํ  วา  เสนาพฺยูหํ  วา 

อนีกทสฺสนํ  วา  คจฺเฉยฺย  ปาจิตฺติยํ.

……………….

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงแปลไว้ในหนังสือ “นวโกวาท” ว่า –

……………….

ในเวลาที่อยู่ในกองทัพตามกำหนดนั้น

ถ้าไปดูเขารบกันก็ดี หรือดูเขาตรวจพลก็ดี

ดูเขาจัดกระบวนทัพก็ดี

ดูหมู่เสนาที่จัดเป็นกระบวนแล้วก็ดี ต้องปาจิตตีย์.

……………….

คำว่า “กระบวนทัพ” แปลจากคำว่า “เสนาพฺยูหํ” (เส-นา-เพียว-หัง) คือ “เสนาพยุหะ” บาลีวันละคำวันนี้

สรุปว่า ภิกษุไปดูกระบวนทัพ ผิดพระวินัย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ชนะใจตน

: ประเสริฐกว่าชนะร้อยพันกองพลในสงคราม

——————–

(ตามคำขอของ Pmrumpi Panyyo)

#บาลีวันละคำ (2,524)

11-5-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *