บาลีวันละคำ

ภาดา – ภคินี (บาลีวันละคำ 2,523)

ภาดาภคินี

คำบาลีว่าด้วยพี่ๆ น้องๆ

(๑) “ภาดา

อ่านว่า พา-ดา บาลีเป็น “ภาตุ” (พา-ตุ) รากศัพท์มาจาก ภาสฺ (ธาตุ = พูดชัดเจน) + ราตุ ปัจจัย, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ (ภาสฺ > ภา) และลบ รา (ราตุ > ตุ)

: ภาสฺ + ราตุ = ภาสราตุ > ภาราตุ > ภาตุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้พูดได้ก่อน” (หมายถึงพี่ชาย) และ “ผู้พูดได้ทีหลัง” (หมายถึงน้องชาย)

ภาตุ” จึงหมายถึงพี่ชายก็ได้ น้องชายก็ได้ (a brother)

ภาตุ” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “ภาตา” ในภาษาไทยใช้เป็น “ภาดา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ภาดา : (คำนาม) พี่ชายน้องชาย, ราชาศัพท์ว่า พระภาดา. (ส. ภฺราตฤ; ป. ภาตา).”

แถม :

ภาตุ > ภาตา ในบาลี เป็น “ภฺราตฺฤ” ในสันสกฤต และเป็น brother ในภาษาอังกฤษ

ในภาษาไทยรูปคำที่พบอีกคำหนึ่ง คือ ภราดร, ภราดา

ลองเทียบรูปและเสียง:

ภาตุ > ภาตา > ภฺราตฺฤ > ภราดร, ภราดา > brother

(๒) “ภคินี

อ่านว่า พะ-คิ-นี รากศัพท์มาจาก ภชฺ (ธาตุ = เสพ, คบหา) + ปัจจัย, แปลง ชฺ ที่สุดธาตุเป็น (ภชฺ > ภค) + อินี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ภชฺ + = ภช > ภค + อินี = ภคินี แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้อันพี่น้องต้องคบหา” (2) “ผู้มีอวัยวะเป็นที่เสพ” (คือมีอวัยวะเพศหญิง) หมายถึง พี่สาวหรือน้องสาว (a sister)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ภคินี : (คำนาม) พี่หญิง, น้องหญิง. (ป., ส.).”

อภิปรายขยายความ :

ภาดา” แปลได้ทั้งพี่ชายและน้องชาย

ภคินี” แปลได้ทั้งพี่สาวและน้องสาว

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นพี่หรือเป็นน้องกันแน่ เพราะคนเดียวจะเป็นทั้งพี่ทั้งน้องของคนเดียวกันได้อย่างไร (เป็นพี่ของคนหนึ่ง และเป็นน้องของอีกคนหนึ่งได้ แต่เป็นทั้งพี่ทั้งน้องของคนเดียวกันไม่ได้)

การระบุว่าเป็นพี่หรือเป็นน้อง ท่านใช้วิธีเอาศัพท์ที่หมายถึง “พี่” หรือ “น้อง” เติมเข้าข้างหน้า

พี่” คือ “เชษฐ” (เชด-ถะ)

น้อง” คือ “กนิษฐ” (กะ-นิด-ถะ)

จะบอกว่าเป็นพี่ชายหรือพี่สาว น้องชายหรือน้องสาว ก็เลือกเติมเอา

ภาดา” คือ –ชาย

ภคินี” คือ –สาว (หญิง)

พี่ชาย” ก็จะเป็น “เชษฐภาดา

พี่สาว” ก็จะเป็น “เชษฐภคินี

น้องชาย” ก็จะเป็น “กนิษฐภาดา

น้องสาว” ก็จะเป็น “กนิษฐภคินี

คำที่ควรสังเกตเป็นพิเศษคือ “เชษฐภคินี

ในภาษาไทย เรามักเข้าใจกันว่า “เชษฐ” คือ “ผู้ชาย” และ “ภคินี” คือ “น้องสาว

เชษฐ” อาจเป็น “ผู้หญิง” ก็ได้ ถ้าไปนำหน้า “ภคินี

เชษฐภคินี” ไม่ใช่ “พี่ชาย” แต่เป็น “พี่สาว

ภคินี” อาจเป็น “พี่สาว” ก็ได้ ถ้ามี “เชษฐ” นำหน้า

เชษฐภคินี” ไม่ใช่ “น้องสาว” แต่เป็น “พี่สาว

แต่ที่ตายตัวคือ –

เชษฐ” คือ “พี่

กนิษฐ” คือ “น้อง

จะเป็น “พี่ชาย” หรือ“พี่สาว” “น้องชาย” หรือ“น้องสาว” ก็เอา “ภาดา” หรือ “ภคินี” มาต่อท้าย

นี่คือลีลาภาษาที่ใช้เรียกพี่ๆ น้องๆ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของชาติที่เจริญแล้ว

…………..

ดูก่อนภราดา!

วิสฺสาสปรมา  ญาตี

ที่มา: สุขวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 25

: ประพฤติสุจริตธรรม

นำให้ไว้วางใจกันได้เด็ดขาด

: เป็นยอดแห่งบรมญาติ

ยิ่งกว่าพี่น้องคลานตามกันมา

#บาลีวันละคำ (2,523)

10-5-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *