ทาโร อันว่าเมีย (บาลีวันละคำ 2,527)
ทาโร อันว่าเมีย
แต่หมายถึง “ผัว” ก็ได้
นักเรียนบาลีรู้จักกันดีว่า “ทาโร” แปลว่า “เมีย” หรือแปลยกศัพท์ว่า “ทาโร อันว่าเมีย”
“ทาโร” ศัพท์เดิมคือ “ทาร” (ทา-ระ) รากศัพท์มาจาก ทรฺ (ธาตุ = แตก, ทำลาย) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ท-(รฺ) เป็น อา ตามกฎ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (ทรฺ > ทาร)
: ทรฺ + ณ = ทรณ > ทร > ทาร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นเหตุให้แตกกัน” (คือเป็นผู้แยกสามีออกจากครอบครัวของเขา)
“ทาร” เป็นปุงลิงค์ คือศัพท์เพศชาย แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “ทาโร” แปลว่า “อันว่าเมีย”
นักเรียนบาลียังวิจารณ์กันด้วยว่า “ทาโร” แปลว่า “เมีย” แต่ทำไมจึงเป็นปุงลิงค์ คือศัพท์เพศชาย ทำไมไม่เป็น “ทารา” หรือ “ทารี” อันเป็นรูปของอิตถีลิงค์ คือศัพท์เพศหญิง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ก็แปล “ทาร” ว่า a young woman, esp. married woman, wife (สตรีสาว, โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรีที่แต่งงานแล้ว, ภรรยา)
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [353] แสดงมงคล 38 ในมงคลสูตร มงคลข้อ 12.–13. คำบาลีว่า “ปุตฺตทารสฺส สงฺคโห” แยกเป็น “ปุตฺตสงฺคห” แปลว่า “สงเคราะห์บุตร” แปลเป็นอังกฤษว่า cherishing of children และ “ทารสงฺคห” แปลว่า “สงเคราะห์ภรรยา” แปลเป็นอังกฤษว่า cherishing of wife
ก็เป็นอันยืนยันตรงกันว่า “ทาร” คือ ภรรยา คือ wife
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“ทาร– : (คำแบบ) (คำนาม) เมีย เช่น ทารทาน คือ การให้เมียเป็นทาน. (ป., ส.).”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามใหม่เป็นดังนี้ –
“ทาร– : (คำแบบ) (คำนาม) เมีย เช่น สทารสันโดษ คือ การยินดีเฉพาะเมียของตน. (ป., ส.).”
สรุปว่า พจนานุกรมทุกฉบับ บอกตรงกันหมดว่า “ทาร” คือ “เมีย” คือ wife
อภิปราย :
ผู้เขียนบาลีวันละคำมีความเห็นว่า “ทาร” ไม่ควรแปลว่า “เมีย” ซึ่งเจาะจงเฉพาะหญิงที่เป็นภรรยา (wife) เสมอไป บางกรณีต้องแปลว่า “คู่ครอง” ซึ่งกินความรวมถึงชายที่เป็น “ผัว” (husband) ด้วย โดยเฉพาะเมื่อกล่าวถึงหลักธรรม เช่น –
“ทารสงฺคห” ในมงคล 38 ควรแปลว่า “สงเคราะห์คู่ครอง”
“สทารสันโดษ” ควรแปลว่า “การยินดีเฉพาะคู่ครองของตน”
เหตุผลคือ –
(๑) มงคล 38 เป็นหลักธรรมที่สอนให้มนุษย์ทั่วไปปฏิบัติ คือทั้งชายและหญิงสามารถปฏิบัติได้ครบทุกข้อ ไม่ใช่สอนเฉพาะผู้ชาย ถ้าแปล “ทารสงฺคห” (มงคลข้อ 13) ว่า “สงเคราะห์ภรรยา” ก็จะกลายเป็นว่ามงคลข้อนี้ปฏิบัติได้เฉพาะผู้ชายที่เป็นสามี แต่ผู้หญิงที่เป็นภรรยาปฏิบัติไม่ได้
แต่ถ้าแปล “ทารสงฺคห” ว่า “สงเคราะห์คู่ครอง” มงคลข้อนี้ก็ปฏิบัติได้ทั้งสามีและภรรยา
(๒) “สทารสันโดษ” เป็นหลักเบญจธรรมที่คู่กับเบญจศีล กล่าวคือ –
(1) เมตตากรุณา คู่กับ ปาณาติบาต
(2) สัมมาอาชีวะ (หรือ ทาน) คู่กับ อทินนาทาน
(3) สทารสันโดษ (หรือ กามสังวร) คู่กับ กาเมสุมิจฉาจาร
(4) สัจจะ คู่กับ มุสาวาท
(5) สติสัมปชัญญะ (หรือ อัปปมาทะ) คู่กับ สุราเมรยฯ
จะเห็นได้ว่า ทั้งชายและหญิงสามารถปฏิบัติเบญจธรรมได้ทุกข้อ แต่ถ้าแปล “สทารสันโดษ” (เบญจธรรมข้อ 3) ว่า “การยินดีเฉพาะเมียของตน” ก็จะกลายเป็นว่าเบญจธรรมข้อนี้ปฏิบัติได้เฉพาะผู้ชาย แต่ผู้หญิงปฏิบัติไม่ได้
แต่ถ้าแปล “สทารสันโดษ” ว่า “การยินดีเฉพาะคู่ครองของตน” เบญจธรรมข้อนี้ก็ปฏิบัติได้ทั้งชายและหญิง
อนึ่ง โปรดสังเกตว่า ในหลักธรรมดังกล่าวนี้ ถ้าประสงค์จะให้หมายถึงเฉพาะ “ภรรยา” หรือ “เมีย” –
“ทารสงฺคห” ก็น่าจะใช้คำว่า “ภริยาสงฺคห”
“สทารสันโดษ” ก็น่าจะใช้คำว่า “สภริยาสันโดษ”
ถ้าใช้อย่างนี้ก็จะยืนยันได้ชัดเจนว่าหมายถึงเฉพาะ “ภรรยา” หรือ “เมีย”
การที่ท่านใช้คำว่า “ทาร” (“ทารสงฺคห” “สทารสันโดษ”) ย่อมเป็นอันแสดงเจตจำนงชัดเจนว่า “ทาร” ในที่เช่นนี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะภรรยา แต่หมายถึงทั้งภรรยาและสามี หรือหมายถึง “เมีย” ก็ได้ และหมายถึง “ผัว” ก็ได้ นั่นคือหมายถึงคนที่ครองคู่กัน
จริงอยู่ ในข้อความทั่วไป “ทาร” หมายถึง a young woman, married woman, wife (สตรีสาว, สตรีที่แต่งงานแล้ว, ภรรยา) ดังที่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษแปลไว้ แต่ในบางบริบท “ทาร” มุ่งถึง “คู่ครอง” มากกว่าที่จะเจาะจงเฉพาะ “ภรรยา” หรือ “เมีย” ดังที่มักเข้าใจกัน (แคบๆ) เช่นในคำว่า “ทารสงฺคห” และ “สทารสันโดษ” เป็นต้น
ด้วยเหตุผลดังแสดงมา ผู้เขียนบาลีวันละคำขอประกาศว่า คำว่า “ทาร” นอกจากจะแปลว่า “เมีย” แล้ว ในที่หลายๆ แห่งต้องแปลว่า “คู่ครอง” ซึ่งครอบคลุมทั้ง “เมีย” และ “ผัว” จึงจะชอบด้วยเหตุผล
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อยู่กันเพื่อสนองความอยาก
เป็นได้อย่างมากก็แค่ “คู่นอน”
: อยู่กันด้วยหัวใจเอื้ออาทร
จึงจะได้อยู่เป็น “คู่ครอง”
#บาลีวันละคำ (2,527)
14-5-62