บาลีวันละคำ

ฉิมพลี (บาลีวันละคำ 2,528)

ฉิมพลี

รู้กันเสียทีว่าอ่านผิดมาตั้งนาน

คำว่า “ฉิมพลี” บาลีเป็น “สิมฺพลิ” (สิม-พะ-ลิ) รากศัพท์มาจาก สมฺพฺ (ธาตุ = กลม, กลิ้ง) + อลิ ปัจจัย, ลง อิ อาคมต้นธาตุ (สมฺพ > สิมฺพ)

: สมฺพ > สิมฺพ + อลิ = สิมฺพลิ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ไม้ที่ต้นกลม” หมายถึง ต้นงิ้ว (the silk-cotton tree Bombax heptaphyllum)

แต่โปรดทราบว่า “สิมฺพลิ” คำนี้ ทีฆะ อิ ที่ ลิ เป็น อี เป็น “สิมฺพลี” ก็มี

บาลี “สิมฺพลิ” (หรือ “สิมฺพลี”) สันสกฤตเป็น “ศาลฺมลิ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

ศาลฺมลิ, ศาลฺมล, ศลฺมลิ : (คำนาม) ต้นนุ่น; ทวีปหนึ่งในจำนวนเจ็ด; the silk-cotton tree; one of the seven Dwipas.”

โปรดสังเกตว่า สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน แปล “ศาลฺมลิ” ว่า ต้นนุ่น ไม่ได้แปลว่า ต้นงิ้ว

สิมฺพลิ > ศาลฺมลิ ไทยเราใช้อิงบาลีเป็น “ฉิมพลี

อภิปราย :

ถามว่า “ฉิมพลี” อ่านอย่างไร โดยเฉพาะพยางค์ –พลี ?

เชื่อว่าคนส่วนมากออกเสียงคำนี้ว่า ฉิม-พฺลี คือ “-พลี” ออกเสียง พฺล ควบกล้ำ อย่างคำว่า “พลีชีพเพื่อชาติ”

โปรดดูภาพประกอบที่แสดงคำว่า “แขวงฉิมพลี” “โรงเรียนฉิมพลีวิทยา” และสถานีรถไฟ “บ้านฉิมพลี

“แขวงฉิมพลี” สะกดเป็นอักษรโรมันว่า Khwaeng Chimphli

“โรงเรียนฉิมพลีวิทยา” สะกดเป็นอักษรโรมันว่า Chimphlieewittaya

“บ้านฉิมพลี” สะกดเป็นอักษรโรมันว่า BAN CHIM PLI

ไม่ว่าจะเป็น Chimphli, Chimphliee หรือ CHIM PLI ล้วนยืนยันว่า “-พลี” ออกเสียง พฺล ควบกล้ำ

แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ฉิมพลี [ฉิมพะลี] : (คำนาม) ไม้งิ้ว. (ป. สิมฺพลิ; ส. ศาลฺมลิ).”

นั่นคือ “ฉิมพลี” อ่านว่า ฉิม-พะ-ลี

“-พลี” แยกเป็น 2 พยางค์ คือ พะ-ลี ไม่ใช่ พฺลี – พฺล ควบกล้ำเหมือนคำว่า พลีชีพ

ถ้าตามไปดูต้นรากของคำ “สิมฺพลิ” ที่เขียนเป็นอักษรโรมัน ก็จะยิ่งยืนยันได้ชัดเจน

The Pali Text Society’s Pali-English Dictionary สะกดคำว่า “สิมฺพลี” เป็น Simbali (ดูภาพประกอบ)

Simbali อ่านว่า สิม-พะ-ลิ

ถ้าคำนี้อ่านว่า สิม-พฺลิ (พฺล ควบกล้ำ) ต้องสะกดเป็น Simbli (ไม่มี a หลัง b)

เป็นอันว่าพจนานุกรมฯ บอกคำอ่านถูกต้องแล้ว แต่คนทั้งหลายอ่านผิดกันไปเอง

ความจริง ชื่อ “แขวงฉิมพลี” ที่สะกดเป็นอักษรโรมัน ราชบัณฑิตยสถาน (ราชบัณฑิตยสภา) เป็นผู้กำหนดเอง พจนานุกรมฯ ก็เป็นของราชบัณฑิตยสถานทำเอง ทำไมคำเดียวกันคำอ่านจึงต่างกัน

เหตุผลหนึ่งที่อาจอ้างได้ก็คือ ชื่อสถานที่ต่างๆ นั้นเป็นวิสามานยนาม (proper name) ย่อมออกเสียงตามที่ชาวบ้านเรียกกัน เมื่อชาวบ้านออกเสียงว่า ฉิม-พฺลี (พฺล ควบกล้ำ) ก็จำต้องอนุวัตรตาม

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม คำว่า “ฉิมพลี” ที่ปรากฏเป็นชื่อสถานที่ต่างๆ นั้นย่อมเป็นคำเดียวกับ “ฉิมพลี” ที่มาจาก “สิมฺพลิ” หรือ “สิมฺพลี” นั่นเอง

ในเมื่อคำเดิมอ่านแยกพยางค์ว่า -พะ-ลิ หรือ -พะ-ลี แต่เรากลับอ่านเป็นคำควบกล้ำว่า -พฺลี ดังนี้ ย่อมมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากต้องบอกกันไปตามตรงว่า เกิดจากความไม่รู้นั่นเอง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เพราะไม่รู้จึงทำผิด บัณฑิตย่อมให้อภัย

: รู้ทั้งรู้ยังขืนทำผิด บัณฑิตควรหนีให้ไกล

#บาลีวันละคำ (2,528)

15-5-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *