พาณิชยนาวี (บาลีวันละคำ 2,533)
พาณิชยนาวี
คำดีๆ ที่ไม่ควรทำให้เสีย
อ่านว่า พา-นิด-ชะ-ยะ-นา-วี
ประกอบด้วยคำว่า พาณิชย + นาวี
(๑) “พาณิชย”
บาลีเป็น “วาณิชฺช” (วา-นิด-ชะ, ช 2 ตัว) รากศัพท์มาจาก (1) วาณ (= เสียง, การส่งเสียง) + อชฺ (ธาตุ = ไป) + อ ปัจจัย, แปลง อ ต้นธาตุเป็น อิ (อชฺ > อิช) (2) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, แปลง ชย (ช ที่ วาณิช + ย ปัจจัยที่เหลือจากลบ ณฺ) เป็น ชฺช
(1) : วาณ + อชฺ = วาณช + อ = วาณช > วาณิช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไปทางโน้นทางนี้ด้วยการส่งเสียง” หมายถึง พ่อค้า, คนค้าขาย (a merchant, trader)
(2) : วาณิช + ณฺย = วาณิชณฺย > วาณิชฺย > วาณิชฺช แปลตามศัพท์ว่า “กิจการของผู้ค้าขาย” หมายถึง การค้าขาย, การซื้อขาย (trade, trading, commerce, business)
ควรสังเกต :
(1) สำเร็จรูปเป็น “วาณิช” ก่อน หมายถึง พ่อค้า, คนค้าขาย = บุคคล
(2) แล้วจึงเอา “วาณิช” มากระทำกรรมวิธีเป็น “วาณิชฺช” ความหมายกลายเป็น การค้าขาย, การซื้อขาย = กิจการ
ควรสังเกตด้วยว่า “วาณิช” มีคำแปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไปทางโน้นทางนี้ด้วยการส่งเสียง” ความหมายนี้คงเนื่องมาจากพ่อค้าสมัยโบราณจะไปซื้อขายที่ไหนก็ส่งเสียงร้องบอกชาวบ้านไปด้วย
การโฆษณาสินค้าในสมัยปัจจุบันก็คือรูปแบบของ “การส่งเสียง” ที่พัฒนาขึ้นมานั่นเอง
บาลี “วาณิชฺช” สันสกฤตเป็น “วาณิชฺย”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“วาณิชฺย : (คำนาม) ‘วาณิชย์’ การค้าขาย; สินค้า; trade, traffic; merchandise.”
“วาณิชฺช” ในภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “วาณิชฺย” (โปรดสังเกตว่าบาลีก็มีรูปนี้ก่อนจะกลายเป็น “วาณิชฺช”) แปลง ว เป็น พ ตามหลักนิยม จึงเป็น “พาณิชย”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พาณิชย-, พาณิชย์ : (คำนาม) การค้าขาย; ชื่อกระทรวงที่มีอํานาจหน้าที่เกี่ยวกับการพาณิชย์ และกิจการทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการพาณิชย์รวมตลอดทั้งการซื้อขายและแลกเปลี่ยนสินค้า การควบคุมและส่งเสริมเกี่ยวกับกิจการค้าและการประกันภัย. (ส. วาณิชฺย; ป. วาณิชฺช).”
ย้ำ ระวัง อย่าสับสน: “พาณิช” = พ่อค้า “พาณิชย” = การค้า
(๒) “นาวี”
บาลีอ่านว่า นา-วี ตรงตัว รากศัพท์มาจาก นาวา + ณิ ปัจจัย
(ก) “นาวา” รากศัพท์มาจาก –
(1) นุ (ธาตุ = ชมเชย) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อุ ที่ นุ เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อาว (นุ > โน > นาว) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: นุ + ณ = นุณ > นุ > โน > นาว + อา = นาวา แปลตามศัพท์ว่า “พาหนะอันผู้คนชมเชย”
(2) นี (ธาตุ = นำไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อี ที่ นี เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อาว (นี > เน > นาว) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: นี + ณ = นีณ > นี > เน > นาว + อา = นาวา แปลตามศัพท์ว่า “พาหนะที่นำจากฝั่งไปสู่ฝั่ง”
“นาวา” หมายถึง เรือ, นาวา (a boat, ship)
(ข) นาวา + ณิ ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือ อา ที่ (นา)-วา (นาวา > นาว), ลบ ณ ที่ ณิ (ณิ > อิ) แล้วทีฆะ อิ เป็น อี
: นาวา + ณิ = นาวาณิ > นาวณิ > นาวิ > นาวี แปลตามศัพท์ว่า “เกี่ยวกับเรือ” “ผู้ประกอบหน้าที่ในเรือ” หมายถึง ทหารเรือ, นายเรือ, นายท้ายเรือ, ฝีพาย, ชาวเรือ, คนประจำเรือขึ้น-ล่อง (a navy, a sailor, mariner, a seaman, a ferryman)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นาวี : (คำนาม) เรือ, กองทัพเรือ.”
โปรดสังเกตว่า ความหมายของ “นาวี” ในภาษาไทยนั้น เป็นความหมายตามที่เข้าใจกันหรือใช้กันในภาษาไทยเท่านั้น ไม่ใช่ความหมายตรงตัวตามภาษาบาลี
พาณิชย + นาวี = พาณิชยนาวี แปลจากหลังมาหน้าว่า “ชาวเรือผู้กระทำกิจเกี่ยวกับการค้า” แปลจากหน้าไปหลังว่า “การค้าที่กระทำโดยชาวเรือ”
คำว่า “พาณิชยนาวี” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
อภิปราย :
คำว่า “พาณิชยนาวี” ที่พบในที่ทั่วไป มักเขียนเป็น “พาณิชย์นาวี” คือใส่เครื่องหมายทัณฑฆาต (การันต์) ที่ ย ด้วย
โปรดทราบว่าเป็นการเขียนผิด โปรดอย่าเขียนแบบนั้น และอย่าเขียนตามกันไป
หลักภาษาไทยคือ บาลีสันสกฤตที่สมาสหรือสนธิกันไม่ใส่เครื่องหมายทัณฑฆาตกลางคำ
คำว่า “พาณิชยนาวี” นอกจากมักเขียนผิดเป็น “พาณิชย์นาวี” แล้ว ยังมักอ่านผิดเป็น พา-นิด-นา-วี อีกด้วย
“พาณิชยนาวี” ต้องสะกดอย่างนี้ คือ ย ไม่ต้องการันต์ และต้องอ่านว่า พา-นิด-ชะ-ยะ-นา-วี
พา-นิด-ชะ-ยะ-นา-วี
ไม่ใช่ พา-นิด-นา-วี
โปรดทราบว่า การอ่านว่า พา-นิด-นา-วี เป็นการอ่านผิด โปรดอย่าอ่านแบบนั้น และอย่าอ่านตามกันไป
อนึ่ง ไม่ควรเอาใจกันในทางผิดด้วยการพูดว่า การเขียนแบบนั้นและการอ่านอ่านแบบนั้นเป็นการเขียนและอ่าน “ตามความนิยม”
แต่ควรพูดกันอย่างไม่ต้องเกรงใจว่า –
การเขียนว่า “พาณิชย์นาวี” (มีการันต์ที่ ย) เป็นการเขียนอย่างมักง่าย
การอ่านว่า พา-นิด-นา-วี เป็นการอ่านอย่างมักง่าย
หมายเหตุ :
ภาพประกอบถ่ายจากราชกิจจานุเบกษา เป็นการยืนยันว่าคำนี้สะกด “พาณิชยนาวี”
ไม่ใช่ “พาณิชย์นาวี” อย่างที่เขียนกันอย่างมักง่ายทั่วไป
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้ายอมให้มักง่ายได้เรื่องหนึ่ง
: ในที่สุดก็จะมักง่ายได้ทุกเรื่อง
#บาลีวันละคำ (2,533)
20-5-62