บาลีวันละคำ

ทุกนิบาต (บาลีวันละคำ 2,534)

ทุกนิบาต

บาลีหลอกไทย

ถ้าให้คนไทยทั่วไปอ่านคำนี้ ทุกคนจะอ่านว่า ทุก-นิ-บาด เพราะเข้าใจว่า “ทุก” ก็คือคำว่า “ทุก” ในภาษาไทย เช่น “คนทุกคน” “ถนนทุกสาย” ตรงกับคำอังกฤษว่า every

แต่ “ทุกนิบาต” ในที่นี้ ต้องอ่านว่า ทุ-กะ-นิ-บาด

ประกอบด้วยคำว่า ทุก + นิบาต

(๑) “ทุก

บาลีอ่านว่า ทุ-กะ รากศัพท์มาจาก “ทฺวิ” เป็นคำสังขยา แปลว่า “สอง” (จำนวน 2) + ก ปัจจัย, แปลง “ทฺวิ” เป็น “ทุ

: ทฺวิ + = ทฺวิก > ทุก แปลว่า “หมวดสอง

แถม: ข้อสังเกตความแตกต่างระหว่าง “ทุก” กับ “ยมก

คำที่มีความหมายคล้ายกับ “ทุก” (ทุ-กะ) คำหนึ่งก็คือ “ยมก” (ยะ-มะกะ)

ทุก” (ทุ-กะ) แปลว่า “หมวดสอง” หมายถึง กลุ่มของสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มีจำนวนกลุ่มละสอง เช่นคนยืนเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 2 คน, แบ่งมะม่วงใส่จาน จานละ 2 ใบ (a dyad)

ยมก” (ยะ-มะกะ) แปลว่า “สิ่งที่เป็นคู่กัน” หมายถึง สิ่งที่โดยปกติมีลักษณะเหมือนกัน เช่น เด็กแฝด, ต้นไม้ชนิดเดียวกัน 2 ต้น หรือตรงกันข้าม แต่มักจับคู่กัน เช่น ดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์, กลางวันกับกลางคืน, ดีกับชั่ว ขาวกับดำ (double, twin)

(๒) “นิบาต

บาลีเป็น “นิปาต” อ่านว่า นิ-ปา-ตะ รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + ปต (ธาตุ = ตก) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะต้นธาตุ คือ อะ ที่ -(ตฺ) เป็น อา (ปตฺ > ปาต)

: นิ + ปตฺ = นิปตฺ + = นิปตณ > นิปต > นิปาต แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ตกไปโดยไม่เหลือ” (คือตกไปทั้งตัว)

นิปาต” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ล้มลงไป (falling down)  

(2) การหยั่งลง (descending)

(3) นิบาต, คำในไวยากรณ์ ใช้สำหรับกริยาวิเศษณ์, คำต่อและอุทาน (a particle, the grammatical term for adverbs, conjunctions & interjections)

(4) ตอนของหนังสือ (a section of a book)

ในที่นี้ “นิปาต” ใช้ในความหมายตามข้อ (4)

นิปาต” ในภาษาไทยใช้เป็น “นิบาต” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

นิบาต : (คำนาม) เรียกคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาประเภทหนึ่งที่รวบรวมพระสูตรเบ็ดเตล็ดหรือชาดกต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน เช่น สุตตนิบาต = ชื่อคัมภีร์ที่รวบรวมพระสูตรเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน นิบาตชาดก = ชื่อคัมภีร์ที่รวบรวมชาดกต่าง ๆ ในพระไตรปิฎกไว้ด้วยกัน โดยแบ่งย่อยเป็นหมวดต่าง ๆ; หมวดธรรม, ชุมนุมหลักธรรม, เช่น เอกกนิบาต = หมวดหรือชุมนุมหลักธรรมที่มี ๑ ข้อ ทุกนิบาต = หมวดหรือชุมนุมหลักธรรมที่มี ๒ ข้อ. (ป., ส. นิปาต).”

ทุก + นิปาต = ทุกนิปาต (ทุ-กะ-นิ-ปา-ตะ) แปลว่า “เรื่องที่รวมเข้าเป็นกลุ่ม กลุ่มละสอง”

บาลี “ทุกนิปาต” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ทุกนิบาต” (ทุ-กะ-นิ-บาด)

ขยายความ :

ทุกนิปาต = ทุกนิบาต” ที่ใช้บ่อยๆ เช่น –

การรวมหลักธรรมที่มีหัวข้อจำนวนเท่ากันเข้าเป็นกลุ่มเดียวกัน ถ้าธรรมหมวดนั้นมีกลุ่มละ 2 หัวข้อ ก็เรียกว่า “ทุกนิบาต” (ทุ-กะ-นิ-บาด)

ชาดกแต่ละเรื่องมีจำนวนคาถา (คาถา = บทกลอนในภาษาบาลี) แตกต่างกันไปตามความยาวของเรื่อง บางเรื่องมีคาถาบทเดียว บางเรื่องมีคาถามากถึง 80 บท เวลาจัดเป็นกลุ่ม ท่านรวมเรื่องที่มีคาถาเท่ากันเข้าเป็นกลุ่มเดียวกัน เรียกชื่อตามกลุ่มคาถา เช่น กลุ่มที่มีคาถาบทเดียว เรียกว่า “เอกกนิบาต” (เอ-กะ-กะ-นิ-บาด) กลุ่มที่มีคาถา 2 บท เรียกว่า “ทุกนิบาต” (ทุ-กะ-นิ-บาด)

นี่คือความหมายของคำว่า “ทุกนิบาต” (ทุ-กะ-นิ-บาด)

โปรดระลึกว่า ในที่นี้ “ทุกนิบาต” อ่านว่า ทุ-กะ-นิ-บาด หมายถึงหมวดธรรมที่มีหัวข้อหมวดละ 2 หัวข้อ

ทุกนิบาต” ไม่ใช่ ทุก-นิ-บาด ที่หมายถึงว่า มี “นิบาต” อยู่เท่าไร ก็เอามาหมดหรือหมายถึงหมดทุกนิบาต แบบเดียวกับ “ทุก” ในภาษาไทย เช่น ทุกวัน ทุกคัน ทุกคน แล้วก็ – ทุกนิบาต – ดังที่คิด

คำว่า “ทุกนิบาต” ไม่มีสาระอะไรนัก แต่นี่คือศัพทกรีฑาชนิดหนึ่งของนักเลงภาษา และเป็นอลังการอย่างหนึ่งของภาษาไทย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: สิ่งที่คุณเห็น อาจไม่ได้เป็นอย่างที่คุณคิด

: ด่วนพิพากษาผิด อาจไม่ได้ไปถึงศาลฎีกา

#บาลีวันละคำ (2,534) 21-5-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *