บาลีวันละคำ

พลวปัจจัย [2] (บาลีวันละคำ 2,535)

พลวปัจจัย [2]

ไม่ใช่ “พลวัตปัจจัย”

ไม่ใช่ “พลวัตรปัจจัย”

และไม่ใช่ “พลปัจจัย”

แต่ต้องเป็น “พลวปัจจัย

อ่านว่า พะ-ละ-วะ-ปัด-ไจ

ชาวพุทธเราเมื่อแสดงความปรารถนาดีต่อกัน ตั้งใจจะให้ผู้อื่นมีความสุขความเจริญ มักอ้างเอาคุณแห่งบุญกรรมที่ได้บำเพ็ญมาเป็นที่ตั้ง แล้วเปล่งวาจาแสดงความปรารถนา สำนวนหนึ่งที่นิยมพูดกันคือ “ขอบุญกุศลที่ได้บำเพ็ญมาจงเป็นพลวปัจจัยให้ … มีความสุขความเจริญ …. ”

คำว่า “พลวปัจจัย” เป็นคำศัพท์ภาษาบาลี ประกอบด้วยคำว่า พลว + ปัจจัย

(๑) “พลว

อ่านว่า พะ-ละ-วะ คำเดิมคือ พล (พะ-ละ) ที่เราคุ้นกันดีอยู่แล้ว แปลว่า “กำลัง” + วนฺตุ (วัน-ตุ) ปัจจัย แปลว่า “มี” ทำให้คำนามธรรมดากลายเป็นคำคุณศัพท์ (adjective)

: พล + วนฺตุ = พลวนฺตุ (พะ-ละ-วัน-ตุ) แปลว่า “มีกำลัง” คือสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ “มีกำลัง” อยู่ในตัว และสามารถขับเคลื่อนสิ่งอื่นๆ ไปได้

ถ้าขยายคำนามที่เป็นปุงลิงค์ “วนฺตุ” กลายรูปเป็น “-วา” เช่นคำว่า “ภควา” ที่หมายถึงพระพุทธเจ้า แปลว่า “ผู้มีโชค

ถ้าขยายคำนามที่เป็นอิตถีลิงค์ “วนฺตุ” กลายรูปเป็น “-วตี” คำว่า “-วดี” ที่เคยนิยมใช้ลงท้ายชื่อผู้หญิง เช่น “ปทุมวดี” “รัตนาวดี” ก็มาจาก “วนฺตุ” ปัจจัยตัวนี้

ในที่นี้ “พลวนฺตุ” ขยายคำว่า “ปจฺจย” ซึ่งเป็นปุงลิงค์ แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ ได้รูปเป็น “พลวา” (พะ-ละ-วา)

เมื่อมีศัพท์อื่นมาสมาสข้างท้าย รัสสะ อา เป็น อะ จึงเป็น “พลว-”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พลว– : (คำวิเศษณ์) มีกําลัง, แข็งแรง, มักใช้เป็นส่วนหน้าสมาส เช่น พลวเหตุ คือ เหตุแข็งแรง เหตุที่มีกําลังกล้า. (ป.).”

(๒) “ปัจจัย

บาลีเป็น “ปจฺจย” (ปัด-จะ-ยะ) รากศัพท์มาจาก ปฏิ หรือ ปติ (คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + อิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ปัจจัย, แปลง ปฏิ เป็น ปจฺจ หรืออีกนัยหนึ่ง แปลง อิ ที่ ปติ เป็น , แปลง ตย (คือ ปตย) เป็น ปจฺจ, แปลง อิ ธาตุเป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย

: ปฏิ > ปจฺจ (ปติ > ปตย > ปจฺจ) + อิ > เอ > อย : ปจฺจ + อย + = ปจฺจย แปลตามศัพท์ว่า “เหตุเป็นแดนอาศัยเป็นไปแห่งผล” “เหตุเป็นเครื่องเป็นไปแห่งผล” ความหมายที่เข้าใจกันทั่วไปคือ ปัจจัย, เหตุ, สาเหตุ, สิ่งที่ทำให้เกิดผล ฯลฯ

พลวา + ปจฺจย = พลวาปจฺจย > พลวปจฺจย > พลวปัจจัย แปลว่า “ปัจจัยอันมีกำลัง

คำว่า “พลวปัจจัย” นี้ ผู้ที่ไม่คุ้นคำบาลี ทั้งไม่ทราบความเป็นมาของถ้อยคำ มักเอาไปพูดและเขียนผิดเพี้ยนไปตามที่เข้าใจเอาเอง เท่าที่เคยพบเห็นบ่อย คือ –

พลวัตปัจจัย”

พลวัตรปัจจัย”

พลปัจจัย”

โปรดช่วยกันจดจำไว้ว่า คำเช่นนี้เป็นคำที่เขียนผิด กรุณาอย่าเขียน อย่าใช้ พบเห็นใครเขียนใครใช้ ก็อย่าเขียนตาม อย่าใช้ตาม

ส่วนผู้เขียนเช่นนั้นใช้เช่นนั้น หรือเห็นใครเขียนใครใช้เช่นนั้นแล้วเห็นด้วย ก็ขอความกรุณาอย่าพยายามอธิบายหรือพยายามช่วยอธิบายผิดให้เป็นถูก โดยเฉพาะการอ้างว่าคนนั้นคนโน้น (ซึ่งมักเป็นคนใหญ่คนโต) ก็ใช้แบบนี้

ในกรณีที่ท่านผู้ใดใครผู้หนึ่งไปได้หลักวิชาที่เชื่อว่าถูกต้องมั่นคงแข็งแรงว่าใช้แบบนั้นได้ ไม่ผิด ก็ขอได้โปรดนำหลักวิชานั้นมาแสดง เพื่อที่เราท่านจะได้ช่วยกันพิจารณา ถ้าได้ความประจักษ์ว่าถูกต้องจริง จะได้ช่วยกันจดจำสำเหนียกไว้เป็นองค์ความรู้ร่วมกันต่อไป

ดูเพิ่มเติม:

พลวปัจจัย” บาลีวันละคำ (1,712) 10-2-60

พลวัต” บาลีวันละคำ (1,223) 4-10-58

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ภาษาวิปลาส

: บอกให้รู้ว่าชาติกำลังวิปริต

#บาลีวันละคำ (2,535)

22-5-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย