บาลีวันละคำ

เปรม (บาลีวันละคำ 2,540)

เปรม

อ่านว่า เปฺรม (ปร ควบกล้ำ)

เท่าที่ยอมรับกัน “เปรม” คำนี้บาลีเป็น “เปม” อ่านว่า เป-มะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ปี (ธาตุ = อิ่มเอิบ) + อิม ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือ อี ที่ ปี (ปี > ), แผลง อิ ที่ อิ-(ม) เป็น เอ (อิม > เอม)

: ปี > + อิม = ปิม > เปม แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะแห่งความอิ่มเอิบ

(2) ปิย (ความรัก) + อิม ปัจจัย, แปลง ปิย เป็น , แผลง อิ ที่ อิ-(ม) เป็น เอ (อิม > เอม)

: ปิย > + อิม = ปิม > เปม แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะแห่งความรัก

เปม” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ความรัก, ความเยื่อใย, ความเสน่หา (love, affection)

บาลี “เปม” สันสกฤตเป็น “เปฺรมนฺ” (ปฺเร-มัน)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

เปฺรมนฺ : (คำนาม) ‘เปรมัน,’ ความรัก, ความกรุณา; ความประโมท, ความยินดี; พระอินทร์; อากาศ; affection, kindness; pleasure, joy; Indra; air.”

อภิปราย :

ในความเข้าใจของคนทั่วไป “เปรม” ในภาษาไทยมักใช้ประกอบกิริยา กิน บริโภค ใช้สอย เสพสุข มีความหมายว่า อย่างเหลือเฟือ อย่างล้นเหลือ อย่างสะดวกสบาย อย่างสนุกสนาน อย่างเต็มที่

ภาษาที่พูดมักฟังดูเป็นภาษาปาก เช่น “กินกันเปรมไปเลย” “ล่อกันเปรมเชียวนะ

เปรม” ตามความหมายดังกล่าวนี้ ผู้เขียนบาลีวันละคำไม่แน่ใจว่าเป็นคำเดียวกับ “เปม” ในบาลี หรือ “เปฺรมนฺ” ในสันสกฤต พอดีพอร้ายอาจเป็น “เปรม” แบบไทยๆ ก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เปรม : (คำกริยา) สบาย, รื่นเริง, อิ่มใจ. (คำนาม) ความรัก, ความชอบใจ. (ส.).”

เป็นอันว่า พจนานุกรมฯ รับรองว่า “เปรม” มาจากสันสกฤต

น่าสังเกตว่า “เปรม” ที่หมายถึง ความรัก, ความชอบใจ นั้น ในภาษาไทยเป็นความหมายที่แทบจะไม่มีใครนึกถึง หรือจะกล่าวว่า-แทบจะไม่มีใครรู้จัก-ก็คงจะไม่ผิด

…………..

ในสังคมไทย ในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่นาน คำว่า “เปรม” ที่คนไทยน่ารู้จักกันค่อนข้างดี นอกจาก “คุณเปรม” ในนวนิยายเรื่อง “สี่แผ่นดิน” บทประพันธ์ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช แล้ว ก็เห็นจะเป็นพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ หลายตำแหน่ง เช่น นายกรัฐมนตรี ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษเป็นต้น ซึ่งบัดนี้เป็นอดีตไปแล้ว

พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2463 ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ยากนักที่จะทำให้ทุกคนรักเราสุดหัวใจ

: แต่ไม่ยากเกินไปที่จะทำใจเราให้รักทุกคน

#บาลีวันละคำ (2,540)

27-5-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *