ติณสูล (บาลีวันละคำ 2,541)
ติณสูล
แปลว่าอะไร
“ติณสูล” ประกอบด้วยคำว่า ติณ + สูล
(๑) “ติณ”
บาลีอ่านว่า ติ-นะ รากศัพท์มาจาก ติณฺ (ธาตุ = กิน) + อ ปัจจัย
: ติณฺ + อ = ติณ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันสัตว์กิน” หมายถึง หญ้า, ใบไม้, วัชพืช; ฟาง; แฝก; หญ้าแห้ง, ใบไม้หรือใบหญ้าที่ทิ้งรก (grass, herb; weed; straw; thatch; hay, litter)
ในภาษาไทย “ติณ” คำเดียวอ่านว่า ติน ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า ติ-นะ- หรือ ติน-นะ- ก็ได้ (ตามพจนานุกรมฯ)
(๒) “สูล”
บาลีอ่านว่า สู-ละ รากศัพท์มาจาก สูลฺ (ธาตุ = ทิ่มแทง) + อ ปัจจัย
: สูลฺ + อ = สูล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทิ่มแทง”
“สูล” (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) หลาว, ไม้แหลม (a sharp-pointed instrument, a stake)
(2) เหล็กแหลม (a spit)
(3) ความเจ็บปวดอย่างสาหัส (an acute, sharp pain)
บาลี “สูล” สันสกฤตเป็น “ศูล” (บาลี ส เสือ, สันสกฤต ศ ศาลา)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “ศูล” ไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ศูล : (คำนาม) ความปวดจัดหรือปวดจี๋, ดุจ อุทรศูล (ปวดท้อง), ท้องขึ้นท้องเฟ้อและจุกเสียด, ฯลฯ; อาวุธ; เหล็กแหลม; ธวัช, ธง; นักษัตรโยคที่เก้า; มฤตยุ; หญิงแพศยา; เครื่องสวนทวารหรือเสียบนักโทษ; หอก, ตรีศูลหรือสามง่าม, แหลน, ฯลฯ; a sharp pain, as belly ache; colic, &c.; a weapon; an iron pin or spit; a banner, an ensign; the ninth astrological Yoga; that of the lunar mansion; death; a whore; a stake for impaling criminals, an instrument used for putting them to death; a spear or dart, a trident, a pike, &c.”
…………..
ได้ความในตอนนี้ว่า “ติณ” คำเดียว แปลว่า หญ้า (grass) “สูล” คำเดียว แปลว่า หลาว, ไม้แหลม (a sharp-pointed instrument, a stake) หรือ ความเจ็บปวดอย่างสาหัส (an acute, sharp pain)
ติณ + สูล = ติณสูล เท่าที่ตาเห็นก็น่าจะแปลว่า “หญ้าและหลาว”
แต่ในตำราบาลีหาเป็นเช่นนั้นไม่
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) มีคำว่า “ติณสูล” แสดงรูปวิเคราะห์ (การกระจายคำเพื่อหาความหมาย) ไว้ว่า –
“ติณานิ สูลนฺติ เอตฺถาติ ติณสูลํ” (ติณานิ สูลันติ เอตถาติ ติณะสูลัง)
แปลว่า “หญ้าทั้งหลายย่อมเจ็บปวดในที่นี้ ฉะนั้น ที่นี้จึงชื่อว่า ติณสูล”
“ติณสูล” (ติ-นะ-สู-ละ) รากศัพท์มาจาก ติณ (หญ้า) + สูลฺ (ธาตุ = เจ็บปวด, เสียดแทง) + อ ปัจจัย
: ติณ + สูลฺ = ติณสูลฺ + อ = ติณสูล แปลตามศัพท์ว่า “ต้นไม้เป็นที่เจ็บปวดของหญ้า”
มีคำอธิบายว่า ต้นไม้ชนิดนี้เกิดอยู่ในที่ใด ที่นั้นหญ้าก็จะเจริญดี ต้นไม้นี้ไม่เกิดในที่ใด ที่นั้นหญ้าก็จะมีอาการไม่งอกงาม คือถ้าไม่มีต้นไม้นี้หญ้าก็จะต้องเจ็บปวด ดังนี้แหละจึงว่า “ต้นไม้เป็นที่เจ็บปวดของหญ้า”
พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา หรือพจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธ ทรงเรียบเรียง คาถาที่ 574 มีศัพท์ว่า “ติณสูล” แปลไว้ว่า มะลิซ้อน
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ บอกความหมายของ “ติณสูล” ว่า มะลิ, มะลิซ้อน
เป็นอันว่า :
“ติณ” แปลว่า หญ้า
“สูล” แปลว่า หลาว
“ติณสูล” แปลว่า มะลิ, มะลิซ้อน
ขยายความ :
“ติณสูล” เป็นคำที่อยู่ในนามสกุล “ติณสูลานนท์” ซึ่งเป็นนามสกุลของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์
ทะเบียนนามสกุลพระราชทานในรัชกาลที่ 6 แสดงรายละเอียดไว้ว่า “ติณสูลานนท์” เป็นนามสกุลพระราชทานลำดับที่ 5121 เขียนเป็นอักษรโรมันว่า Tinasulananda ผู้ขอรับพระราชทานคือ “ขุนวินิจภัณฑกรรม (บึ้ง) พธำมรงค์จังหวัดสงขลา บิดาชื่อบุญสุข”
ตามรายละเอียดนี้ ยังไม่พบว่าต้นตระกูลของผู้ขอรับพระราชทานมีความเกี่ยวข้องกับ “หญ้า” หรือ “หลาว” หรือ “มะลิ” ในทางใด
อนึ่ง อักษรโรมัน Tinasulananda นั้น ถ้าอ่านโดยอนุวัตรตามนามสกุลที่เป็นอักษรไทยก็น่าจะอ่านว่า ติ-นะ-สู-ลา-นัน-ดะ
-nanda ก็คือ -นนท์ (d = ท)
โปรดทราบว่า ในการเขียนคำบาลีเป็นอักษรโรมันนั้น นักวิชาการตกลงกันว่า –
สระเสียงสั้น คือ อะ อิ อุ ใช้อักษรโรมันคือ –
a = อะ
i = อิ
u = อุ
สระเสียงยาว คือ อา อี อู ให้ใส่ขีดตามนอนบนอักษรโรมันเป็นดังนี้ –
ā = อา (เพื่อให้ต่างจาก a = อะ)
ī = อี (เพื่อให้ต่างจาก i = อิ)
ū = อู (เพื่อให้ต่างจาก u = อุ)
ติณ– ณ เณร เมื่อเขียนเป็นอักษรโรมัน ใช้ n แต่เติมจุดข้างใต้ เป็น ṇ เพื่อให้ต่างจาก n = น หนู
ตามกฎนี้ “ติณสูลานนท์” เขียนเป็นอักษรโรมันจะต้องเป็น Tiṇasūlānanda อ่านว่า ติ-นะ-สู-ลา-นัน-ดะ ตรงตามประสงค์
ที่ว่ามานี้ว่าตามหลักเกณฑ์ทั่วไป แต่นามสกุลเป็นวิสามานยนาม (proper name) ในที่นี้จะสะกดอย่างไร ย่อมเป็นไปตามหลักฐานที่พระราชทานลงมา
…………..
ดูก่อนภราดา!
: หญ้าผสมหลาวออกเป็นดอกมะลิ
: เป็นคติภาษาน่าฉงน
: ดูเถอะคำบางคำยังทำกล
: ดูเถอะคนบางคนทนทำกรรม
#บาลีวันละคำ (2,541)
28-5-62