บาลีวันละคำ

มะรึกกะตึก (บาลีวันละคำ 2,542)

มะรึกกะตึก

ภาษาปากลากไป

พลเรือเอก จุมพล ลุมพิกานนท์ หารือมาว่า เมื่อครั้งที่พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ สิ้นพระชนม์ที่หาดทรายรี จังหวัดชุมพร เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2466 อาคารที่หาดทรายรีอันเป็นที่ประทับและสิ้นพระชนม์ มีผู้เรียกว่า “เรือนมะรึกกะตึก”

ขอทราบว่า คำว่า “เรือนมะรึกกะตึก” หมายถึงอะไร?

…………..

เสียง “มะรึกกะตึก” ฟังดูเป็นคำตลก แต่เสียงแบบนี้ชวนให้เดาว่า คำจริงน่าจะขึ้นต้นว่า “มฤ-”

ตรวจดูในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำที่ขึ้นต้นด้วย “มฤ-” ที่น่าจะอยู่ในข่ายเกี่ยวข้องดังนี้ –

(1) มฤดก [มะรึดก] : (คำโบราณ) (คำนาม) มรดก. (ส. มฤตก; ป. มตก).

(2) มฤต [มะริด, มะรึด] : (คำวิเศษณ์) ตายแล้ว. (ส. มฺฤต; ป. มต).

(3) มฤตกะ [มะรึตะกะ] : (คำนาม) ผู้ตาย, ซากศพ. (ส. มฺฤตก; ป. มตก).

ถ้าเป็นตามที่พจนานุกรมฯ บอกไว้ คือ มฤดก > มรดก คำว่า “มรดก” ก็ตรงกับสันสกฤตว่า “มฤตก” และตรงกับบาลีว่า “มตก

มตก” บาลีอ่านว่า มะ-ตะ-กะ รากศัพท์มาจาก มรฺ (ธาตุ = ตาย) + ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (มรฺ > ) + สกรรถ (กะ สะ-กัด)

: มรฺ + = มรต > มต + = มตก แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ตายแล้ว” (2) “สิ่งอันเป็นของมีอยู่ของผู้ตาย

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มตก” ว่า dead, one who is dead (คนตาย, ผู้ตาย)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มตกะ : (คำนาม) คนตายแล้ว, ผู้ตายแล้ว. (คำวิเศษณ์) ของผู้ตายแล้ว. (ป.; ส. มฺฤตก).”

มตก” ที่เราน่าจะพอคุ้นกันอยู่บ้างก็คือคำว่า “มตกภัต” (มะ-ตะ-กะ-พัด) บาลีเป็น “มตกภตฺต” (มะ-ตะ-กะ-พัด-ตะ) แปลตามศัพท์ว่า “ภัตเพื่อผู้ตาย

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มตกภตฺต” ว่า a meal for the dead, food offered to the manes (อาหารสำหรับคนตาย หรือที่เซ่นไหว้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มตกภัต : (คำนาม) ข้าวที่ทําบุญอุทิศให้คนตาย. (ป. มตกภตฺต).”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำที่อยู่ในเกณฑ์ควรพิจารณาดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

(1) มรต : (คำนาม) ความตาย; death.

(2) มฤต : (คำวิเศษณ์) อันตายแล้ว; อันเผาเปนถ่านเท่าแล้ว; dead; calcined.

(3) มฤต : (คำนาม) มรณะ; ทานอันขอได้มา; death; solicited alms.

(4) มฤตก : (คำนาม) ผี, ศพ; a dead body; a corpse.

สรุปว่า “มะรึกกะตึก” มาจากคำว่า “มฤตก” ซึ่งอ่านว่า มะ-รึ-ตะ-กะ

“มะ-รึ-ตะ-กะ” นี่เองที่เพี้ยนเป็น “มะรึกกะตึก” คือสลับพยางค์ “-ตะ-กะ” เป็น “-กะตึก”

มฤตก > มะ-รึ-ตะ-กะ > มะรึกกะตึก แปลตามระสงค์ในภาษาไทยว่า “สิ่งอันเป็นของมีอยู่ของผู้ตาย” หมายถึง มรดก

เพราะฉะนั้น คำว่า “เรือนมะรึกกะตึก” ตามเรื่องข้างต้น จึงหมายถึง (1) เรือนอันเป็นที่สิ้นพระชนม์ และ (2) อันเป็นมรดก ของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ทรัพย์สินเงินทอง อาจเป็นของที่คนอื่นทำ

: แต่บุญกรรม เราต้องทำเอาเอง

#บาลีวันละคำ (2,542)

29-5-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *