วาสี (บาลีวันละคำ 2,543)
วาสี
ตัวอย่างคำบาลีที่ใช้พิสูจน์ความถูกผิด
ญาติมิตรท่านหนึ่งเล่าว่า ท่านอ่านชาดกพบว่า ในอินเดียโบราณน่าจะมีการกรีดยางมาก่อน ดังปรากฏในคำว่า “พระโพธิสัตว์ได้เป็นผู้มีอาการเหมือนเวลาที่ต้นยางถูกกรีดด้วยมือ ฉะนั้น”
ท่านสนใจคำว่า “กรีดยางด้วยมือ” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าต้นไม้ชนิดนั้นจะต้องมียาง กรีดง่ายแม้ใช้มือ
ผู้เขียนบาลีวันละคำได้ฟังแล้วก็เกิดความสนใจว่ายางอะไร “กรีดด้วยมือ” ได้ จึงตามไปอ่านตาม “ที่มา” ที่ท่านบอกไว้ ก็พบว่าชาดกเรื่องนั้นชื่อ “สังกัปปราคชาดก” เป็นเรื่องของดาบสตนหนึ่ง บำเพ็ญธรรมอยู่ในป่าหิมพานต์จนได้ฌานสมาบัติ ต่อมาได้เข้ามาในเมืองพาราณสี พระราชาทรงเลื่อมใส อาราธนาให้พำนักอยู่ในพระราชอุทยาน นิมนต์เข้าไปฉันในวังทุกวัน
คราวหนึ่ง พระราชาเสด็จไปปราบโจรทางชายแดน รับสั่งให้พระราชินีดูแลดาบสแทนพระองค์ วันหนึ่ง ดาบสบังเอิญเห็นพระราชินีพระภูษาหลุดลุ่ย กิเลสที่สงบไปด้วยกำลังฌานก็กำเริบขึ้น อย่างที่เราพูดกันว่า “ตบะแตก”
ต้นฉบับภาษาบาลีพรรณนาอาการตบะแตกของดาบสไว้ดังนี้ –
…………..
อถสฺส ฌานพเลน สนฺนิสินฺโนปิ กิเลโส กรณฺฑเก ปกฺขิตฺตาสีวิโส วิย ผณํ กตฺวา อุฏฺฐหิ ขีรรุกฺขสฺส วาสิยา อาโกฏิตกาโล วิย อโหสิ.
ที่มา: ชาตกัฏฐกถา ภาค 4 หน้า 6
แปลเป็นไทยว่า —
ลำดับนั้น กิเลสของดาบสซึ่งสงบนิ่งด้วยกำลังฌานก็กำเริบขึ้น เหมือนอสรพิษที่ถูกขังอยู่ในข้อง (พอออกจากข้องได้) ก็แผ่พังพานขึ้นมา (และ) เหมือนเวลาที่ต้นยางถูกกรีดด้วยมีด (น้ำยางทะลักออกมา) ฉะนั้น
…………..
ต้นฉบับภาษบาลีใช้คำว่า “ขีรรุกฺขสฺส วาสิยา อาโกฏิต…”
แปลทีละศัพท์ว่า –
ขีรรุกฺขสฺส = ต้นไม้มีน้ำนม (ต้นยาง)
อาโกฏิต… = ถูกกรีด
วาสิยา = ด้วยมีด
ขีรรุกฺขสฺส วาสิยา อาโกฏิต… = ต้นยางถูกกรีดด้วยมีด
คำว่า “วาสิยา” รูปศัพท์เดิมคือ “วาสี” (เป็น “วาสิ” ก็มี) รากศัพท์มาจาก วสฺ (ธาตุ = ตัด) + ณี ปัจจัย, ลบ ณ (ณี > อี), “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ ว-(สฺ) เป็น อา (วสฺ > วาส)
: วสฺ + ณี = วสณี > วสี > วาสี แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องตัด”
“วาสี” (อิตถีลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) มีด, ขวาน, ผึ่งถากไม้ (a sharp knife, axe, hatchet, adze)
(2) มีดโกน (a razor)
“วาสี” เป็น 1 ใน “อัฐบริขาร” ของพระภิกษุในพระพุทธศาสนาที่กำหนดไว้ 8 อย่าง (เวลาบวชพระ ต้องมีสิ่งของเหล่านี้ครบจึงจะบวชได้) คือ –
1 อุตฺตราสงฺโค = ผ้าห่ม หรือที่เรียกกันว่า จีวร
2 อนฺตรวาสโก = ผ้านุ่ง ที่เรียกว่า สบง
3 สงฺฆาฏิ = ผ้าห่มซ้อน มักเรียกทับศัพท์ว่า สังฆาฏิ
4 ปตฺโต = บาตร
5 วาสี = มีดโกนหรือมีดตัดเล็บ
6 สูจิ = เข็มเย็บผ้า (พร้อมด้าย)
7 กายพนฺธนํ = ประคดเอว
8 ปริสฺสาวนํ = กระบอกกรองนํ้า เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ธมฺมกรก ในภาษาไทยใช่ว่า ธมกรก (ทะ-มะ-กะ-หฺรก)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วาสี ๒ : (คำนาม) มีด, พร้า. (ป., ส.).”
…………..
คำแปลว่า “มีด” (a sharp knife) นี่เอง ที่เขียนผิดหรือพิมพ์ผิดเป็น “มือ” (the hand) บางฉบับพิมพ์ผิดเป็น “มืด” (dark) ด้วย (โปรดดูพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ชุด 91 เล่ม เล่ม 58 หน้า 7)
เป็นอันพิสูจน์ได้ชัดเจนด้วยต้นฉบับภาษาบาลีว่า เรื่องราวในที่นี้พูดถึง ต้นยางถูกกรีดด้วย “วาสิยา” ซึ่งแปลว่า “ด้วยมีด” (with a sharp knife) ไม่ใช่ถูกกรีด “ด้วยมือ” (with the hand)
นี่คืออานิสงส์ของการเรียนบาลี คือทำให้สามารถตรวจสอบได้ว่าอะไรผิด อะไรถูก อะไรคลาดเคลื่อน
ลองนึกเถิดว่า ผู้ที่ไม่รู้บาลี อ่านเฉพาะที่แปลมาอย่างเดียว จะเสี่ยงต่อการได้รับข้อมูลที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนสักเพียงไร นี่แค่ศัพท์ธรรมดาคำเดียวที่อาจตรวจสอบได้ง่าย ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับหลักธรรมคำสอนที่ลึกซึ้งเข้าใจยาก แล้วเกิดแปลผิดพลาด จะทำให้เกิดความเข้าใจคำสอนคลาดเคลื่อนไปได้สักเพียงไร
ขอจงมีอุตสาหะในการศึกษาบาลีเพื่อรักษาพระศาสนาไว้โดยทั่วกันเทอญ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ผู้กล้าเพียงคนเดียว อาจรักษาบ้านเมืองไว้ได้ ฉันใด
: บาลีที่ถูกต้องเพียงคำเดียว ก็อาจรักษาพระศาสนาไว้ได้ ฉันนั้น
#บาลีวันละคำ (2,543)
30-5-62