บาลีวันละคำ

นาฏดนตรี (บาลีวันละคำ 2,544)

นาฏดนตรี

คนสมัยนี้อาจไม่รู้ว่าคืออะไร

อ่านว่า นา-ตะ-ดน-ตฺรี

ประกอบด้วยคำว่า นาฏ + ดนตรี

(๑) “นาฏ

บาลีอ่านว่า นา-ตะ รากศัพท์มาจาก นฏฺ (ธาตุ = ฟ้อนรำ) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ -(ฏฺ) เป็น อา (นฏฺ > นาฏ)

: นฏฺ + = นฏณ > นฏ > นาฏ แปลตามศัพท์ว่า “การฟ้อนรำ

มีคำขยายความว่า –

นจฺจํ  วาทิตํ  คีตํ  อิติ  อิทํ  ตูริยตฺติกํ นาฏนาเมนุจฺจเต = การดนตรี 3 ประการนี้ คือ การฟ้อนรำ การบรรเลง การขับร้อง เรียกโดยชื่อว่า นาฏะ

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

นาฏ, นาฏ– : (คำนาม) นางละคร, นางฟ้อนรํา, ใช้ประกอบกับคําอื่น หมายความว่า หญิงสาวสวย เช่น นางนาฏ นุชนาฏ. (ป., ส.).”

นาฏ” ในสันสกฤต สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

นาฏ : (คำนาม) การฟ้อนรำ, การเต้นรำ, การเล่น (เช่นลครเปนอาทิ); แคว้นกรรณาฏ; dancing, acting; the Carnatic.”

ในบาลีมีคำว่า “นาฏก” (นา-ตะ-กะ) อีกคำหนึ่ง หมายถึง –

(1) นักฟ้อน, นักแสดง, ตัวละคร (a dancer, actor, player)

(2) ละคร, ละครจำพวกออกท่าทาง แต่ไม่เจรจา (a play, pantomime)

นาฏก” ในสันสกฤต สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

นาฏก : (คำนาม) ผู้แสดงบทลคร, ตัวลคร, ผู้เล่น; การแสดง (หรือเล่นลคร), การฟ้อนรำ; การเล่น, ลคร; เทพสภาหรือเทพสถานของพระอินทร์; a actor, acting, dancing; a play, a drama; the court of Indra.”

(๒) “ดนตรี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ดนตรี : (คำนาม) เสียงที่ประกอบกันเป็นทํานองเพลง, เครื่องบรรเลงซึ่งมีเสียงดังทําให้รู้สึกเพลิดเพลิน หรือเกิดอารมณ์รัก โศก หรือรื่นเริง เป็นต้น ได้ตามทํานองเพลง. (ส. ตนฺตฺรินฺ).”

“(ส. ตนฺตฺรินฺ)” หมายความว่า คำว่า “ดนตรี” สันสกฤตเป็น “ตนฺตฺรินฺ” (ตัน-ตฺริน)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ตนฺตฺรินฺ : (คุณศัพท์) ‘ตันตริน,’ อันถักหรือทอแล้ว; อันมีด้ายหรือสาย; อันทำด้วยด้าย; spun or wove; having threads or wires; made of thread;- (คำนาม) ‘คายก, คาตฤ, วิทิตรกุศล, สังคีตัชญ์, สุสวราภิชญ์,’ นักดนตรี, ผู้ขับร้องคายศัพท์; a musician.”

ตนฺตฺรินฺ” บาลีเป็น “ตนฺติ” (ตัน-ติ) หมายถึง –

(1) คัมภีร์, ข้อความในพระไตรปิฎก (a sacred text; a passage in the Scriptures)

(2) แนว, เส้นสาย, สายตระกูล; แบบแผนที่มีมาแต่เดิม (line, lineage, custom, tradition)

(3) เชือกหรือสายพิณ (รวมทั้งสายของเครื่องดนตรีอื่นๆ) ฯลฯ; เส้นด้ายที่ทำจากเอ็น (the string or cord of a lute, string music etc.; thread made of tendon)

เฉพาะความหมายที่ 3 นี้ พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ตนฺติ” ว่า the string or cord of a lute ทำให้นึกถึงคำว่า “วงสตริง” “คอร์ดกีต้าร์” ที่คอดนตรีสมัยหนึ่งพูดกัน

เต่า ในบาลีสันสกฤต ไทยเราแปลงเป็น เด็ก เช่น ตล เป็น ดล, ตาวติงส เป็น ดาวดึงส์ ดังนั้น ตนฺ– จึง = ดัน แล้วก็เป็น ดน

ติ” เป็น “ตฺริ” แล้วก็เป็น “ตรี” ในภาษาไทย เช่น มนฺติ = มนตฺริ แล้วก็เป็น มนตรี

เพราะฉะนั้น ตนฺติ > ตนฺตฺริ > ดนตรี

ดนตรี” ในความหมายเดิมนั้นเป็นเครื่องสาย บรรเลงด้วยการดีด หรือสี กาลต่อมาจึงรวมไปถึงเครื่องบรรเลงอื่นๆ ด้วย

นาฏ + ดนตรี = นาฏดนตรี แปลตามศัพท์ว่า “ดนตรีประกอบการแสดงละคร” หรือ “ละครที่มีดนตรีบรรเลง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้สั้นๆ ว่า –

นาฏดนตรี : (คำนาม) ลิเก.”

คำว่า “ลิเก” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ลิเก : (คำนาม) การแสดงชนิดหนึ่งมาจากชาวมลายู, เรียก ยี่เก ก็มี.”

ได้ความเพิ่มขึ้นว่า “ลิเก” เป็นการแสดงชนิดหนึ่งมาจากชาวมลายู

อภิปราย :

ทำไม “ลิเก” จึงเรียกเป็นคำศัพท์ว่า “นาฏดนตรี” ในเมื่อการแสดงที่เรียกรวมเป็นคำไทยว่า “ละครโขนหนัง” ก็ล้วนแต่มีดนตรีบรรเลงประกอบทั้งสิ้น ไม่ใช่มีดนตรีเฉพาะลิเก

สันนิษฐานว่า น่าจะเกิดจากการที่รู้สึกกันว่า ลิเกเป็นการบันเทิงแบบชาวบ้านๆ จึงมีผู้คิดคำเรียกให้ฟังดูดีขึ้น เป็นการยกระดับลิเกให้มีศักดิ์ศรีขึ้นได้ทางหนึ่ง ซึ่งก็น่าจะได้ผลดีพอสมควรทีเดียว เมื่อพูดว่า “นาฏดนตรี” คนก็รู้จักกันดีว่าคือลิเก

แต่เมื่อเวลาผ่านไป สังคมไทยมีการบันเทิงในรูปแบบอื่นๆ เข้ามาแทนที่ของเดิมมากขึ้น คำว่า “นาฏดนตรี” ก็ค่อยๆ เลือนหายไป ซ้ำเกิดผลในทางกลับกัน —

กล่าวคือ สมัยนี้ พอพูดว่า “ลิเก” คนก็ยังพอรู้จักกันดี แต่ถ้าพูดว่า “นาฏดนตรี” ก็แทบจะไม่มีใครรู้ว่าคืออะไร

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ชีวิตมนุษย์เป็นสิ่งสมมุติเหมือนนาฏดนตรี

: แต่การทำชั่วทำดีเป็นเรื่องจริง

#บาลีวันละคำ (2,544)

31-5-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *