เรือนจำ (บาลีวันละคำ 2,557)
เรือนจำ
ศิลปะแห่งการสร้างคำจากบาลี
“เรือนจำ” เป็นคำไทย แยกเป็น เรือน + จำ
(๑) “เรือน”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“เรือน : (คำนาม) สิ่งปลูกสร้างที่ยกพื้นและกั้นฝา มีหลังคาคลุม สําหรับเป็นที่อยู่, ที่อยู่; …”
ตามความหมายนี้ “เรือน” ตรงกับคำบาลีว่า “อคาร” อ่านว่า อะ-คา-ระ (ศัพท์นี้บาลีเป็น “อาคาร” ก็มี) รากศัพท์มาจาก อค (สิ่งที่ไม่ไป, สิ่งที่ไปไหนไม่ได้) + รา (ธาตุ = ถือเอา, ยึดไว้) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ, ทีฆะ อะ ที่ (อ)-ค เป็น อา (อค > อคา), ลบ อา ที่สุดธาตุ (รา > ร)
: อค + รา = อครา + กฺวิ = อครากฺวิ >อคารากฺวิ > อคารา > อคาร (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่ยึดเสาไว้ไม่ให้ไป” หมายความว่า เสา ฝา หลังคา และเครื่องประกอบต่างๆ ถูกยึดไว้ตรงนั้น ไปไหนไม่ได้ ที่ตรงนั้นจึงชื่อว่า “อคาร”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อคาร” ว่า house or hut (บ้าน หรือกระท่อม)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “อคาร” และ “อาคาร” บอกไว้ดังนี้ –
(1) อคาร : (คำนาม) เรือน; a house.
(2) อาคาร : (คำนาม) บ้าน; a house, a dwelling.
จำหลักความรู้ว่า คำนี้แม้จะมีทั้ง “อคาร” และ “อาคาร” แต่ในคัมภีร์บาลีทั่วไปใช้เป็น “อคาร”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ทั้ง “อคาร” และ “อาคาร” บอกไว้ดังนี้ –
(1) อคาร– : (คำนาม) อาคาร. (ป., ส.).
(2) อาคาร : (คำนาม) เรือน, โรง, สิ่งที่ก่อสร้างขึ้นที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น. (ป., ส. อาคาร, อคาร).
ในภาษาไทยนิยมใช้ “อาคาร” ไม่ใช้ “อคาร”
(๒) “จำ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ 4 คำ ที่มีความหมายที่ต้องการคือ “จำ ๒” บอกไว้ดังนี้ –
“จำ ๒ : (คำกริยา) ลงโทษด้วยวิธีเอาโซ่ตรวนล่ามไว้ เช่น จําโซ่ จําตรวน, ลงโทษด้วยวิธีขัง เช่น จําคุก.”
ตามความหมายนี้ “จำ” ตรงกับคำบาลีว่า “พนฺธน” อ่านว่า พัน-ทะ-นะ รากศัพท์มาจาก พนฺธฺ (ธาตุ = ผูก, มัด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: พนธฺ + ยุ > อน = พนฺธน แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะอันเขาผูกไว้” “วัตถุเป็นเครื่องผูก”
นักเรียนบาลีแปล “พนฺธน” ว่า เครื่องผูก แต่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำนี้ไว้อีกหลายอย่าง คือ –
(1) binding, bond, fetter (เครื่องผูก, เครื่องมัด, เครื่องรัด)
(2) tying, band, ligature; tie, binding (การมัด, การผูก, การพัน, ผ้าหรือเชือกพันหรือรัดแผล, เครื่องผูกพัน)
(3) holding together, composition, constitution; composition of literature (การยึดถือไว้ด้วยกัน, การประกอบ, การก่อตั้ง; การประพันธ์)
(4) joining together, union, company (การรวมกัน, หมู่หรือบริษัท)
(5) handle (ด้าม)
(6) piecing together (การปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน)
(7) strap (สายรัด)
“พนฺธน” ที่ตรงกับ “จำ” คือความหมายตามข้อ (1) และ (2)
ในภาษาไทยใช้เป็น “พันธน-” “พันธนะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“พันธน-, พันธนะ : (คำนาม) การผูก, การมัด, การจําขัง; เครื่องผูก, เครื่องมัด, เครื่องจํา. (ป., ส.).”
ในภาษาบาลี พนฺธน + อคาร = พนฺธนาคาร (พัน-ทะ-นา-คา-ระ) แปลตามศัพท์ว่า “เรือนเป็นที่ผูก”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “พนฺธนาคาร” ว่า “fetter-house”, prison (“พันธนาคาร”, เรือนจำ)
บาลี “พนฺธนาคาร” ภาษาไทยใช้ว่า “พันธนาคาร” (พัน-ทะ-นา-คาน) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พันธนาคาร : (คำนาม) เรือนจํา. (ป.).”
ในภาษาไทย เรือน + จำ = เรือนจำ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เรือนจำ : (คำนาม) ที่ขังนักโทษและผู้ต้องหา.”
โปรดสังเกตความหมายของคำ –
“เรือน” = อคาร
“จำ” = พนฺธน
“อคาร” = เรือน
“พนฺธน” = จำ
พนฺธนาคาร > พันธนาคาร > เรือนจำ เป็นการถอดคำถอดความตรงตัวตรงกัน นี่คือที่บอกไว้ในคำโปรยข้างต้นว่า “ศิลปะแห่งการสร้างคำจากบาลี”
ที่บอกว่าเป็นการ “สร้างคำจากบาลี” นั้น เป็นการสรุปเอาเองจากรูปศัพท์ที่มองเห็น แต่จริงๆ แล้ว “เรือนจำ” อาจเป็นคำที่ไทยเราคิดขึ้นเองแท้ๆ ไม่ได้ถอดมาจาก “พนฺธนาคาร” ในบาลีก็เป็นได้ – เป็นประเด็นที่ผู้ใฝ่รู้ควรสืบค้นต่อไป
ยังมีคำไทยที่หมายถึง “เรือนจำ” ที่นึกได้ในเวลานี้อีก 3 คำ คือ “คุก” “ตะราง” และ “ตรุ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
(1) คุก : (คำนาม) ที่ขังนักโทษ, เรือนจํา.
(2) ตะราง : (คำนาม) ที่คุมขังนักโทษ.
(3) ตรุ ๑ : (คำนาม) ที่ขังคนซึ่งขุดเป็นบ่อแห้งมีฝาปิด. (เทียบ ข. ทฺรุง ว่า ที่ขัง).
ในบรรดาคำเหล่านี้ คำที่เรียกง่าย พูดง่าย เขียนง่ายกว่าเพื่อน เห็นจะเป็นคำว่า “คุก” คนไทยพูดคำนี้กันทั่วไปจนคล้ายกับเป็นคำติดปากหรือภาษาปาก และรู้ความหมายซึมซับดีอย่างยิ่งทั้งๆ ที่เป็นคำที่ให้ความรู้สึกในทางไม่ดีอย่างยิ่ง เช่น เข้าคุก ติดคุก ขี้คุก
“คุก” เป็นคำนาม แต่บางทีเราก็พูดกันอย่างเป็นคำกริยา เช่น “เลวอย่างนี้มันต้องคุก…”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ติดคุก ยังมีโอกาสกลับออกมาบอกว่าคุกมีจริง
: ตกนรก ไม่มีโอกาสกลับมาบอกว่านรกมีจริง
#บาลีวันละคำ (2,557)
13-6-62