อสุจิ (บาลีวันละคำ 2,568)
อสุจิ
“ของไม่สะอาด”
“อสุจิ” เป็นรูปคำบาลี อ่านว่า อะ-สุ-จิ รากศัพท์มาจาก น + สุจิ
(๑) “น” บาลีอ่านว่า นะ เป็นศัพท์จำพวกนิบาต แปลว่า ไม่, ไม่ใช่ (no, not)
“น” เมื่อไปประสมกับคำอื่น มีกฎดังนี้ –
(1) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ ให้แปลง น เป็น อ (อะ)
(2) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ คือ อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ให้แปลง น เป็น อน (อะ-นะ)
ในที่นี้ “สุจิ” ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ จึงต้องแปลง น เป็น อ
(๒) “สุจิ” รากศัพท์มาจาก สุจฺ (ธาตุ = บ่ง, ประกาศ) + อิ ปัจจัย
: สุจฺ + อิ = สุจิ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ประกาศความเป็นของดี”
“สุจิ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เป็นคุณศัพท์ หมายถึง บริสุทธิ์, สะอาด, ขาว (pure, clean, white)
(2) เป็นคำนาม (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ความบริสุทธิ์, สิ่งที่บริสุทธิ์ (purity, pure things); ความดี, คุณความดี (goodness, merit)
: น + สุจิ = นสุจิ > อสุจิ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ตรงข้ามกับสุจิความสะอาด” ในที่ทั่วไปหมายถึง ไม่สะอาด, ไม่บริสุทธิ์, สกปรก (not clean, impure, unclean)
แต่ “อสุจิ” ในความหมายเฉพาะกรณี หมายถึง น้ำกาม (semen)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“อสุจิ : (คำวิเศษณ์) ไม่สะอาด, ไม่บริสุทธิ์; เรียกนํ้ากามว่า นํ้าอสุจิ. (ป.).”
อภิปราย :
ในภาษาไทย ถ้าพูดว่า “อสุจิ” ก็มักจะเข้าใจกันดีว่าหมายถึงน้ำกาม
ในศีล 227 ข้อของภิกษุ มีข้อหนึ่งที่รู้กันดี คือ “ภิกษุแกล้งทำให้น้ำอสุจิเคลื่อน ต้องสังฆาทิเสส”
ถ้าตามไปดูต้นฉบับในพระวินัยปิฎก เราจะได้ความรู้เพิ่มขึ้นว่า คำว่า “น้ำอสุจิ” ที่เราเรียกกันนั้น บาลีตรงนี้ไม่ได้ใช้คำว่า “อสุจิ” แต่ใช้คำว่า “สุกฺก” (สุก-กะ)
วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 1 ข้อ 303 สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ 1 มีพุทธบัญญัติไว้ว่า –
…………..