กลละ (บาลีวันละคำ 2,569)
กลละ
ปฐมกำเนิดของชีวิตมนุษย์
อ่านว่า กะ-ละ-ละ
ในพระไตรปิฎกมีข้อความที่เป็นพระพุทธพจน์ ดังนี้ –
…………..
ปฐมํ กลลํ โหติ
กลลา โหติ อพฺพุทํ
อพฺพุทา ชายเต เปสิ
เปสิ นิพฺพตฺตตี ฆโน
ฆนา ปสาขา ชายนฺติ
เกสา โลมา นขาปิ จ.
(ปะฐะมัง กะละลัง โหติ
กะละลา โหติ อัพพุทัง
อัพพุทา ชายะเต เปสิ
เปสิ นิพพัตตะตี ฆะโน
ฆะนา ปะสาขา ชายันติ
เกสา โลมา นะขาปิ จะ.)
ร่างกายนี้เกิดเป็นกลละก่อน
จากกลละเป็นอัพพุทะ
จากอัพพุทะเกิดเป็นเปสิ
จากเปสิเกิดเป็นฆนะ
จากฆนะเกิดเป็นปสาขา
(ต่อจากนั้น) จึงมีผม ขน และเล็บ …
ที่มา: อินทกสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 15 ข้อ 803
…………..
“กลละ” เขียนแบบบาลีเป็น “กลล” อ่านว่า กะ-ละ-ละ รากศัพท์มาจาก –
(1) กล (ความเปลี่ยนแปลง) + ลา (ธาตุ = ถือเอา) + อ ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือ อา ที่ ลา (ลา > ล)
: กล + ลา = กลลา + อ = กลลา > กลล แปลตามศัพท์ว่า “น้ำที่ถือเอาความเปลี่ยนแปลง” (คือจะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นต่อไปอีก)
(2) กลฺ (ธาตุ = นับ, คำนวณ) + อล ปัจจัย
: กลฺ + อล = กลล แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องนับ”
“กลล” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมาย (ตามพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ) ดังนี้ –
(1) โคลน (mud)
(2) ตะกอนของน้ำมันงาที่ใช้สำหรับดองของหรือทำไม่ให้เน่าเสีย (the residue of sesamum oil used for embalming)
(3) ในชีววิทยาว่าด้วยวิวัฒนาการของทารกในครรภ์: กลละคือ “สิ่งโสมม”, หมายถึงรกเด็กในครรภ์ (in Embryology: the “soil”, the placenta)
นักภาษาบางสำนักให้ความเห็นว่า คำว่า “กลล” เป็นคำที่มีรากศัพท์ตรงกับคำอังกฤษว่า CELL นั่นเอง (ดูภาพประกอบ)
ขยายความ :
ในที่นี้ “กลละ” มีความหมายตามข้อ (3)
“กลละ” ตามที่อธิบายไว้ในคัมภีร์ต่างๆ เป็นดังนี้ –
(๑) คัมภีร์สารัตถปกาสินี (อรรถกถาสังยุตตนิกาย) ภาค 1 หน้า 405-406 ซึ่งอธิบายอินทกสูตรที่อ้างไว้ข้างต้น ขยายความสิ่งที่เรียกว่า “กลละ” ไว้ว่า –
ตีหิ ชาติอุณฺณํสูหิ กตสุตฺตคฺเค สณฺฐิตเตลพินฺทุปฺปมาณํ กลลํ โหติ.
กลละมีขนาดเท่าหยาดน้ำมันงาซึ่งติดอยู่ที่ปลายเส้นด้ายที่ทำด้วยเส้นขนแกะ 3 เส้น
(๒) คัมภีร์สมันตปาสาทิกา (อรรถกถาพระวินัยปิฎก) ภาค 1 หน้า 534 ขยายความแตกต่างกันเล็กน้อย ดังนี้ –
กลลรูปํ ชาติอุณฺณาย เอเกน อํสุนา อุทฺธฏเตลพินฺทุมตฺตํ โหติ อจฺฉํ วิปฺปสนฺนํ.
กลละมีขนาดเท่าหยาดน้ำมันที่ช้อนขึ้นด้วยปลายข้างหนึ่งแห่งขนแกะแรกเกิด เป็นของใส กระจ่าง
(๓) คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 3 หน้า 157 ขยายความคล้ายกับคัมภีร์สมันตปาสาทิกา บอกไว้ว่า –
ชาติอุณฺณาย เอเกน อํสุนา อุทฺธฏสปฺปิมณฺฑปฺปมาณํ กลลํ.
กลละมีขนาดเท่าหยาดหัวเนยใสที่ใช้ขนแกะเส้นหนึ่งจุ่มแล้วยกขึ้น
ข้างฝ่ายพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ขยายความ “กลละ” ตามความหมายในข้อ (3) ข้างต้น (คือความหมายในชีววิทยาว่าด้วยวิวัฒนาการของทารกในครรภ์) ไว้ดังนี้ –
Also the first stage in the formation of the foetus (of which the first 4 during the first month are kalala, abbuda, pesi, ghana, after which the stages are counted by months 1 – 5 & 10.
อนึ่ง หมายถึงขั้นแรกในการก่อตัวของลูกอ่อนในครรภ์ (ซึ่งมีอยู่ 4 ขั้นตอนในเดือนที่หนึ่ง คือ กลละ, อัพพุทะ, เปสิ, ฆนะ, หลังจาก 4 ขั้นนี้ไปแล้วนับเป็น 1-5 เดือน และ 10 เดือนโดยลำดับ
…………..
สรุปว่า กระบวนการกำเนิดชีวิตมนุษย์-หลังจากมีองค์ประกอบทั้ง 3 ครบแล้ว [คือ 1 มารดาบิดาสันนิปติตากัน 2 มารดามีระดู 3 มีคันธัพพะ (คือปฏิสนธิวิญญาณ) เข้ามาปรากฏเฉพาะหน้า] เริ่มต้นจะเป็น “กลละ” ซึ่งหมายถึงหยาดน้ำขนาดเล็กมาก
เล็กขนาดไหน เทียบด้วยการเอาขนแกะเส้นหนึ่งจุ่มลงในน้ำมันงาแล้วยกขึ้น หยาดน้ำมันที่ติดขึ้นมากับปลายขนแกะนั่นแหละคือขนาดของ “กลละ” อันเป็นขั้นเริ่มต้นวิวัฒนาการของทารกในครรภ์
ในพระวินัยระบุไว้ชัดเจนว่า “กลละ” นี้ถือว่าเป็น “ชีวิตมนุษย์” ที่สมบูรณ์แล้ว
ในอาบัติปาราชิกข้อ 3 ที่บัญญัติว่า “ภิกษุแกล้งฆ่ามนุษย์ให้ตาย ต้องปาราชิก” ท่านนับความเป็นมนุษย์ตั้งแต่ยังเป็น “กลละ” เป็นต้นไป ไม่ได้นับตั้งแต่คลอดออกมาแล้วรอดชีวิตตามหลักกฎหมายอย่างที่มักเข้าใจกัน
หมายความว่า ถ้าภิกษุจงใจทำแท้งให้สตรีตั้งแต่เด็กในท้องยังเป็นเพียง “กลละ” เท่านั้น ก็เป็นปาราชิกทันที
ท่านว่า “กลละ” นี้มีอายุ 7 วัน ก็จะแปรสภาพเป็น “อัพพุทะ” ต่อไป
…………..
ดูคำที่เกี่ยวข้อง :
“กำเนิดมนุษย์” บาลีวันละคำ (2,561) 17-6-62
“คนธรรพ์ – คันธัพพะ” บาลีวันละคำ (2,564) 20-6-62
“อุตุนี มีระดู” บาลีวันละคำ (2,565) 21-6-62
“สันนิปติตา” บาลีวันละคำ (2,566) 22-6-62
…………..
ดูก่อนภราดา!
: “ต้นทุนของเจ้า
น้อยยิ่งกว่าเศษเถ้าธุลี
: หายใจทิ้งไปแต่ละที
เจ้าก็ขาดทุน ขาดทุน”
#บาลีวันละคำ (2,569)
25-6-62