บาลีวันละคำ

บาลีในคำไหว้ครู (บาลีวันละคำ 2,774)

บาลีในคำไหว้ครู

เขียนแบบบาลี:

ปาเจราจริยา โหนฺติ

คุณุตฺตรานุสาสกา

ปญฺญาวุฑฺฒิกเร เต เต

ทินฺโนวาเท นมามิหํ.

เขียนแบบคำอ่าน:

ปาเจราจะริยา โหนติ

คุณุตตะรานุสาสะกา

ปัญญาวุฑฒิกะเร เต เต

ทินโนวาเท นะมามิหัง.

อธิบายศัพท์ :

คาถาบาทที่หนึ่ง: ปาเจราจริยา โหนฺติ

ปาเจราจริยา แยกศัพท์เป็น ปาเจร + อาจริย

(๑) “ปาเจร

อ่านว่า ปา-เจ-ระ รากศัพท์มาจาก (แทนศัพท์ว่า “ปธาน” = ประธาน หรือ “ปกฏฺฐ” = ประเสริฐ) + อาจริย (อาจารย์), แปลง อาจริย เป็น อาเจร

: + อาจริย = ปาจริย = ปาเจร แปลตามศัพท์ว่า “อาจารย์ผู้เป็นประธานหรือผู้ประเสริฐกว่าอาจารย์ทั้งหลาย

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปาเจร” ว่า teacher upon teacher (อาจารย์เหนืออาจารย์), teacher of teacher (อาจารย์ของอาจารย์)

(๒) “อาจริย

อ่านว่า อา-จะ-ริ-ยะ รากศัพท์มาจาก –

(1) อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประพฤติเอื้อเฟื้อเกื้อกูลแก่ศิษย์

(2) อา (จากศัพท์ “อาทิ” = เบื้องต้น) + จรฺ (ธาตุ = ศึกษา) + อิย ปัจจัย

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังศิษย์ให้ศึกษามาแต่ต้น

(3) อา (จากศัพท์ “อาทร” = เอื้อเฟื้อ, เอาใจใส่) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันศิษย์พึงประพฤติ คือปรนนิบัติด้วยความเอาใจใส่

(4) อา (แข็งแรง, จริงจัง, ยิ่งใหญ่) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้บำเพ็ญประโยชน์สุขแก่ศิษย์อย่างดียิ่ง

(5) อา (แทนศัพท์ “อภิมุขํ” = ข้างหน้า, ตรงหน้า) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันศิษย์พึงประพฤติทำไว้ข้างหน้า” (คือศิษย์พึงดำเนินตาม)

(6) อา (แทนศัพท์ “อาปาณโกฏิกํ” = ตลอดชีวิต) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันศิษย์พึงประพฤติ คือพึงปรนนิบัติตลอดชีวิต

อาจริย” แปลทับศัพท์เป็นรูปสันสกฤตว่า อาจารย์ (a teacher)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาจารย์ : (คำนาม) ผู้สั่งสอนวิชาความรู้; คําที่ใช้เรียกนําหน้าชื่อบุคคลเพื่อแสดงความยกย่องว่ามีความรู้ในทางใดทางหนึ่ง. (ส.; ป. อาจริย).”

ปาเจร + อาจริย = ปาเจราจริย (ปา-เจ-รา-จะ-ริ-ยะ) แปลว่า “อาจารย์และอาจารย์ของอาจารย์” (teacher & teacher’s teacher)

ปาเจร” = ปาจารย์ หมายถึง อาจารย์เหนืออาจารย์, อาจารย์ของอาจารย์, อาจารย์รุ่นก่อนๆ หรือบูรพาจารย์

ส่วน “อาจริย” คือ อาจารย์ในปัจจุบัน

ปาเจราจริย” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) พหูพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “ปาเจราจริยา

(๓) “โหนฺติ

เป็นคำกริยา พหูพจน์ แปลว่า “ย่อมเป็น” “ย่อมมี

กริยาคำนี้ ถ้าเป็นเอกพจน์จะเป็น “โหติ” (ไม่มี –นฺ-)

อาจใช้วิธีจำง่ายๆ “โห– เอก, โหนฺ– พหุ”

คาถาบาทที่สอง: คุณุตฺตรานุสาสกา

แยกศัพท์เป็น คุณุตฺตร + อนุสาสก

(๔) “คุณุตฺตร” แยกศัพท์เป็น คุณ + อุตฺตร

(ก) “คุณ

บาลีอ่านว่า คุ-นะ รากศัพท์มาจาก คุณฺ (ธาตุ = ประกาศ, ผูก, มัด, สั่งสม) + ปัจจัย

: คุณฺ + = คุณ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “สิ่งที่ประกาศความดีของตน” = เมื่อทำสิ่งนั้น ก็จะประกาศให้รู้ว่าสิ่งที่ทำหรือผู้ทำสิ่งนั้นมีความดี

(2) “สิ่งที่ผูกผลไว้กับตน” = เมื่อทำสิ่งนั้นก็เท่ากับได้ผลของสิ่งนั้นติดพันมาด้วย

(3) “สิ่งอันผู้ต้องการความดีสั่งสม” = ใครต้องการความดีก็ต้องสั่งสมสิ่งนั้น ถ้าไม่สั่งสมก็ไม่มีและไม่ได้สิ่งที่ต้องการ

คุณ” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) เชือก, ด้าย (a string, a cord)

(2) ส่วนที่ประกอบขึ้น, ส่วนผสม, สิ่งที่ประกอบ (constituent part, ingredient, component, element)

(3) คุณภาพ, คุณความดี, ผลประโยชน์, ผลบุญ  (quality, good quality, advantage, merit)

(4) เมื่อใช้กับ “จำนวน” หรือสิ่งที่นับจำนวน หมายถึง ประการ, ส่วน, เท่า (-fold)

(ข) “อุตฺตร

อ่านว่า อุด-ตะ-ระ รากศัพท์มาจาก อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น, ข้างนอก) + ตรฺ (ธาตุ = ข้าม, กระโดด) + ปัจจัย, ซ้อน ตฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อุ + ตฺ + ตรฺ)

: อุ + ตฺ + ตรฺ = อุตฺตร + = อุตฺตร แปลตามศัพท์ว่า “ข้ามขึ้น” หรือ “โดดขึ้นไป” มีความหมายว่า นอกเหนือ, เหนือขึ้นไป, พ้นไป, เสริม, ยิ่งไปกว่านั้น, ไกลไปกว่านั้น, นอกจาก (out, over, beyond; additional, moreover, further, besides)

คุณ + อุตฺตร = คุณุตฺตร (คุ-นุด-ตะ-ระ) แปลว่า “ผู้ยิ่งด้วยคุณ” “ผู้มีคุณอย่างยิ่ง

(๕) “อนุสาสก

อ่านว่า อะ-นุ-สา-สะ-กะ รากศัพท์มาจาก อนุ (คำอุปสรรค = น้อย, ภายหลัง, ตาม, เนืองๆ) สาสฺ (ธาตุ = สั่งสอน) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ)

: อนุ + สาสฺ = อนุสาสฺ + ณฺวุ = อนุสาสณฺวุ > อนุสาสก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ตามสั่งสอน” หมายถึง ผู้แนะนำ, ผู้พร่ำสอน, ผู้ให้คำปรึกษา (adviser, instructor, counsellor)

คุณุตฺตร + อนุสาสก = คุณุตฺตรานุสาสก (คุ-นุด-ตะ-รา-นุ-สา-สะ-กะ) แปลว่า “ผู้มีคุณอย่างยิ่งและผู้อบรมพร่ำสอน

คุณุตฺตรานุสาสก” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) พหูพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “คุณุตฺตรานุสาสกา” (คุ-นุด-ตะ-รา-นุ-สา-สะ-กา)

คาถาบาทที่สาม: ปญฺญาวุฑฺฒิกเร เต เต

ปญฺญาวุฑฺฒิกเร แยกศัพท์เป็น ปญฺญา + วุฑฺฒิ + กร

(๖) “ปญฺญา

อ่านว่า ปัน-ยา รากศัพท์มาจาก (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + ญา (ธาตุ = รู้) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ, ซ้อน ญฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ ( + ญฺ + ญา)

: + ญฺ + ญา = ปญฺญา + กฺวิ = ปญฺญากฺวิ > ปญฺญา แปลตามศัพท์ว่า (1) “ธรรมชาติเป็นเครื่องรู้” (2) “การรู้โดยทั่วถึง

นักอธิบายธรรมะอธิบายลักษณะของ “ปญฺญา” โดยอาศัยความหมายตามรากศัพท์ว่า “ปัญญา” มีความหมายว่า –

(1) “รู้ทั่วถ้วนทั่วถึง

(2) “รู้ล่วงหน้า” (รู้ว่าเหตุอย่างนี้จะเกิดผลอย่างไร, ต้องการผลอย่างนี้จะต้องทำเหตุอย่างไร)

(3) “รู้ก่อนที่จะทำ จะพูด จะคิด

(4) “รู้แล้วนำชีวิตหลุดออกจากปัญหา พ้นจากทุกข์ได้

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายของ “ปญฺญา” ไว้ดังนี้ –

(1) ความหมายตามตัวอักษร :

“intellect as conversant with general truths” (พุทธิปัญญาอันประกอบด้วยความช่ำชองในเรื่องสัจจะโดยทั่วๆ ไป)

(2) intelligence, comprising all the higher faculties of cognition (ความฉลาด, พุทธิปัญญาประกอบด้วยประติชานหรือความรู้ชั้นสูง)

(3) reason, wisdom, insight, knowledge, recognition (เหตุผล, ปัญญา, การเล็งเห็น, ความรู้, ประติชาน)

ปญฺญา” เขียนแบบไทยเป็น “ปัญญา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปัญญา : (คำนาม) ความรอบรู้, ความรู้ทั่ว, ความฉลาดเกิดแต่เรียนและคิด, เช่น คนมีปัญญา หมดปัญญา. (ป.).”

(๗) “วุฑฺฒิ

อ่านว่า วุด-ทิ รากศัพท์มาจาก วทฺธฺ (ธาตุ = เจริญ) + ติ ปัจจัย, แผลง อะ ที่ -(ทฺธ) เป็น อุ, ลบ , แปลง ธฺ ที่สุดธาตุ เป็น ฑฺ, แปลง ที่ ติ ปัจจัยเป็น

: วทฺธฺ > วุทฺธ > วุธ > วุฑ + ติ = วุฑฺติ > วุฑฺฒิ

อีกนัยหนึ่ง “วุฑฺฒิ” รากศัพท์มาจาก วฑฺฒฺ (ธาตุ = เจริญ) + ติ ปัจจัย, แผลง อะ ที่ -(ฑฺฒ) เป็น อุ, แปลง ฑฺฒ เป็น , แปลง เป็น

: วฑฺฒ > วุฑฺฒ > วุฑ + ติ = วุฑติ > วุฑฺฒิ

วุฑฺฒิ” นักเรียนมักแปลกันว่า “ความเจริญ” และเข้าใจกันในภาษาอังกฤษว่า development แต่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วุฑฒิ” ว่า increase, growth, furtherance, prosperity (การเพิ่ม, ความงอกงาม, ความคืบหน้า, ความรุ่งเรือง)

(๘) “กร

บาลีอ่านว่า กะ-ระ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย

: กรฺ + = กร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำ

กร” ยังหมายถึง “มือ” ได้ด้วย แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องทำงาน

ปญฺญา + วุฑฺฒิ = ปญฺญาวุฑฺฒิ แปลว่า “ความเจริญแห่งปัญญา” หรือ “ความเจริญด้วยปัญญา” คือ ปัญญาเจริญ หรือเจริญปัญญา คือมีปัญญาเพิ่มพูนงอกงามขึ้น

ปญฺญาวุฑฺฒิ + กร = ปญฺญาวุฑฺฒิกร แปลว่า “ผู้ทำความเจริญแห่งปัญญา” หรือ “ผู้ทำให้ปัญญาเจริญ

คำนี้ถ้าใช้อย่างไทยๆ ก็เป็น “ปัญญาวุฒิกร” อ่านว่า ปัน-ยา-วุด-ทิ-กอน

ปญฺญาวุฑฺฒิกร” แจกด้วยวิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) พหูพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “ปญฺญาวุฑฺฒิกเร” (ปัน-ยา-วุด-ทิ-กะ-เร)

(๙) “เต เต

เป็นสัพพนามในจำพวก “ปุริสสัพพนาม” ซึ่งมี 3 คำ คือ –

(1) “” (ตะ) เขา (he, she) (ผู้ที่เราพูดถึง)

(2) “ตุมฺห” (ตุม-หะ, ตุม-หฺมะ) ท่าน (you) (ผู้ที่เราพูดด้วย)

(3) “อมฺห” (อำ-หะ, อำ-หฺมะ) ฉัน, ข้าพเจ้า (I) (ตัวเราผู้พูด)

เต เต” รูปคำเดิมคือ “” 2 ตัว แจกด้วยวิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) พหูพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “เต เต” แปลว่า “เหล่านั้น เหล่านั้น” (ปาจารย์และอาจารย์เหล่านั้นๆ)

คาถาบาทที่สี่: ทินฺโนวาเท นมามิหํ

(ก) ทินฺโนวาเท แยกศัพท์เป็น ทินฺน + โอวาท

(๑๐) “ทินฺน

อ่านว่า ทิน-นะ รากศัพท์มาจาก ทา (ธาตุ = ให้) + ปัจจัย แปลง อา ที่ ทา เป็น อิ (ทา > ทิ), แปง เป็น นฺน

: ทา + = ทาต > ทิต > ทินฺน แปลว่า “อัน-ให้แล้ว” หมายถึง สิ่งที่เขาให้ (given, granted, presented)

(๑๑) “โอวาท

บาลีอ่านว่า โอ-วา-ทะ รากศัพท์มาจาก อว (คำอุปสรรค = ลง, ย้ำ) + วทฺ (ธาตุ = กล่าว) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อว เป็น โอ, ทีฆะ อะ ที่ -(ทฺ) เป็น อา ด้วยอำนาจ ปัจจัย (วทฺ > วาท)

: อว > โอ + วทฺ = โอวท + = โอวทณ > โอวท > โอวาท แปลตามศัพท์ว่า “การกล่าวตอกย้ำเพื่อให้ระวัง” หมายถึง โอวาท, คำสั่งสอน, การตักเตือน, คำแนะนำ (advice, instruction, admonition, exhortation)

ทินฺน + โอวาท = ทินฺโนวาท (ทิน-โน- วา-ทะ) แปลว่า “ผู้มีโอวาทอันตนให้แล้ว

จินตนาการเป็นภาพว่า ครูมีโอวาท (คือคำแนะนำสั่งสอน) อยู่ในหัวใจ แล้วครูก็หยิบโอวาทนั้นออกมายื่นส่งให้ศิษย์ คือให้โอวาทแก่ศิษย์ นี่คือ “ผู้มีโอวาทอันตนให้แล้ว

ทินฺโนวาท” แจกด้วยวิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) พหูพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “ทินฺโนวาเท” (ทิน-โน- วา-เท)

(ข) นมามิหํ แยกศัพท์เป็น นมามิ + อหํ (นมามิ + อหํ = นมามิหํ)

(๑๒) “นมามิ

อ่านว่า นะ-มา-มิ เป็นคำกริยา เอกพจน์ แปลว่า “ย่อมไหว้” ประธานคือ “อหํ

กริยาคำนี้ ถ้าเป็นพหูพจน์ จะเป็น “นมาม” (นะ-มา-มะ) ดังที่รู้กันว่า “คนเดียว มิ หลายคน มะ” และประธานจะต้องเป็น “มยํ” (มะ-ยัง)

(๑๒) “อหํ

อ่านว่า อะ-หัง แปลว่า “ข้าพเจ้า” เป็นสัพพนามในจำพวก “ปุริสสัพพนาม” ซึ่งมี 3 คำ (ดูที่คำว่า “เต เต” ข้างต้น)

อหํ” รูปคำเดิมคือ “อมฺห” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “อหํ” ถ้าเป็นพหูพจน์เปลี่ยนรูปเป็น “มยํ” (มะ-ยัง) เช่นในคำว่า “มยํ ภนฺเต …” ที่เราคุ้นหูกันอยู่

คำแปล:

อหํ = ข้าพเจ้า

นมามิ = ย่อมไหว้

นมามิหํ = ข้าพเจ้าย่อมไหว้, ข้าพเจ้าขอไหว้

แปลรวมความ:

ปาเจราจริยา โหนฺติ

คุณุตฺตรานุสาสกา

ปญฺญาวุฑฺฒิกเร เต เต

ทินฺโนวาเท นมามิหํ.

อาจารย์และปาจารย์

เป็นผู้มีพระคุณอย่างยิ่ง เป็นผู้ตามพร่ำสอน

ข้าพเจ้าขอไหว้ท่านเหล่านั้นผู้ให้โอวาท

ผู้ทำความเจริญแห่งปัญญา

…………..

ดูก่อนภราดา!

ปาเจราจริยา โหนฺติ……..ปาจารย์อาจารย์เรา

คุณุตฺตรานุสาสกา……….คุณเหนือเกล้าเฝ้าสั่งสอน

ปญฺญาวุฑฺฒิกเร เต เต….บ่มรู้สู้ว่าวอน

ทินฺโนวาเท นมามิหํ……..ขอวันทาบูชาคุณ

#บาลีวันละคำ (2,774)

16-1-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *