คฤหัสถ์ (บาลีวันละคำ 2,582)
คฤหัสถ์
แถมคุณสมบัติของผู้ครองเรือน
อ่านว่า คะ-รึ-หัด
“คฤหัสถ์” เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “คหฏฺฐ” (คะ-หัด-ถะ) รากศัพท์มาจาก คห (บ้าน, เรือน) + ฐา (ธาตุ = ดำรงอยู่) ซ้อน ฏ + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ, รัสสะ อา ที่ ฐา เป็น อะ (ฐา > ฐ)
: คหฺ + ฏ + ฐา = คหฏฺฐา + กฺวิ = คหฏฺฐากฺวิ > คหฏฺฐา > คหฏฺฐ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดำรงอยู่ในเรือนหรือในกามคุณห้าด้วยอำนาจความยินดี” หมายถึง ผู้ครองเรือน, คฤหัสถ์ (a householder, one who leads the life of a layman)
บาลี “คหฏฺฐ” สันสกฤตเป็น “คฺฤหสฺถ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
“คฺฤหสฺถ : (คำวิเศษณ์) ‘คฤหัสถ์,’ ผู้ครองเรือน, สามานยชน, สาธารณชน, ฯลฯ; a householder, a layman.”
“คหฏฺฐ” ในภาษาไทยใช้ว่า “คฤหัสถ์” ตามรูปสันสกฤต พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“คฤหัสถ์ : (คำนาม) ผู้ครองเรือน, ผู้ไม่ใช่นักบวช, ฆราวาส, ภาษาปากใช้ว่า กระหัด. (ส. คฺฤหสฺถ; ป. คหฏฺฐ).”
อภิปราย :
มนุษย์เกิดมาจากผู้ครองเรือน จึงมีฐานะเป็น “คฤหัสถ์” ตั้งแต่เกิด ภายหลังจึงมีบางคนออกจากเรือนไปถือเพศเป็นผู้ไม่มีบ้านเรือน ที่เรียกว่า “อนาคาริก” หรือ “บรรพชิต” หรือภาษาไทยเรียกว่า “นักบวช”
สำหรับนักบวชในพระพุทธศาสนานั้น เหตุผลที่ออกบวชอันเป็นอุดมการณ์ ( = สาเหตุอันสูงสุด) ก็คือ เห็นตระหนักว่า –
“สมฺพาโธ ฆราวาโส รชาปโถ อพฺโภกาโส ปพฺพชฺชา
ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง”
ปัจจุบันมีความเห็นในทางตรงกันข้าม คือเห็นว่าบรรพชานั้นคับแคบ ทำอะไรก็ไม่สะดวก เพราะติดขัดข้อห้ามนั่นนี่โน่น ฆราวาสหรือ “คฤหัสถ์” ต่างหากที่ปลอดโปร่ง ทำอะไรก็คล่องตัว
หากปรารถนาจะเป็น “ผู้ครองเรือน” ที่ดี มีคุณภาพ ขอเสนอให้พิจารณา “บัญญัติ 19 ประการ” ของท่านวิธุรบัณฑิต ที่อาจช่วยให้ชีวิตครองเรือนปลอดโปร่งและคล่องตัว ดังต่อไปนี้ –
…………..
(1) น สาธารณทารสฺส
ผู้ครองเรือนไม่ควรคบหญิงสาธารณะเป็นภรรยา
(2) น ภุญฺเช สาธุเมกโก
ไม่ควรบริโภคอาหารมีรสอร่อยแต่ผู้เดียว
(3) น เสเว โลกายติกํ
เนตํ ปญฺญาย วฑฺฒนํ
ไม่ควรซ่องเสพถ้อยคำอันให้ติดอยู่ในโลก
ไม่นำให้ถึงสวรรค์นิพพาน ไม่ทำให้ปัญญาเจริญ
(ไม่หลงในเรื่องไร้สาระต่างๆ)
(4) สีลวา
เป็นผู้มีศีล
(5) วตฺตสมฺปนฺโน
สมบูรณ์ด้วยความประพฤติดีงาม
(6) อปฺปมตฺโต
ไม่ละเลยในการสร้างกุศล
(7) วิจกฺขโณ
มีปัญญาเครื่องสอดส่องเหตุผล
(รู้จักผิดชอบชั่วดี รู้การควรประพฤติควรเว้น)
(8) นิวาตวุตฺติ
มีความประพฤติถ่อมตน
(9) อตฺถทฺโธ
ไม่เป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว
(10) สุรโต
เป็นผู้สงบเสงี่ยม
(11) สขิโล
กล่าวถ้อยคำจับใจ (พูดจาสุภาพเรียบร้อย)
(12) มุทุ
อ่อนโยน
(13) สงฺคเหตา จ มิตฺตานํ
สงเคราะห์มิตรสหาย
(14) สํวิภาคี
จำแนกแจกทาน
(15) วิธานวา
บริหารจัดการงานได้ดี
(16) ตปฺเปยฺย อนฺนปาเนน
สทา สมณพฺราหฺมเณ
บำรุงสมณพราหมณ์ด้วยข้าวน้ำทุกเมื่อ
(อุปถัมภ์บำรุงการพระศาสนา)
(17) ธมฺมกาโม
เป็นผู้ใคร่ธรรมใฝ่ธรรม
(18) สุตาธาโร
จำทรงอรรถธรรมที่ได้สดับมาแล้วไว้ได้
(19) ภเวยฺย ปริปุจฺฉโก
สกฺกจฺจํ ปยิรุปาเสยฺย
สีลวนฺเต พหุสฺสุเต
หมั่นเข้าหาท่านผู้ทรงศีลทรงธรรม
เพื่อศึกษาสอบถามเรียนรู้โดยเคารพ
ประพฤติได้ดังนี้ ท่านว่าย่อมเกิดผลานิสงส์ คือ –
(1) เขมา วุตฺติ – ชีวิตปลอดภัย
(2) สงฺคโห – ได้น้ำใจเกื้อกูล
(3) อพฺยาปชฺโฌ – สูญสิ้นศัตรู
(4) สจฺจวาที – มีผู้เชื่อถือวาที
(5) เปจฺจ น โสจติ – อยู่ดีไปดีไม่เดือดร้อน
ที่มา: วิธุรชาดก มหานิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 28 ข้อ 949
…………..
ดูก่อนภราดา!
พึงสดับวาทะพระอรหันต์ตาบอด :
คิหิปาโปปิ สมณปาโปปิ ปาโปเยว.
(จักขุปาลเถรวัตถุ ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 1 หน้า 15)
: ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์
: ไม่ว่าจะเป็นสมณะ
: ถ้าเลว ก็คือเลว
#บาลีวันละคำ (2,582)
8-7-62