เทพเทวา (บาลีวันละคำ 2,583)
เทพเทวา
ต่อยอดสติปัญญาขึ้นไปอีกหน่อย
อ่านว่า เทบ-เท-วา
ประกอบด้วยคำว่า เทพ + เทวา
(๑) “เทพ”
บาลีเป็น “เทว” อ่านว่า เท-วะ รากศัพท์มาจาก ทิวฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง, เล่น, สนุก, เพลิดเพลิน) + อ ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ทิ-(วฺ) เป็น เอ (ทิวฺ > เทว)
: ทิวฺ + อ = ทิว > เทว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ของตน” (2) “ผู้เพลิดเพลินด้วยเบญจกามคุณ”
ความหมายของ “เทว” ที่มักเข้าใจกัน คือหมายถึง เทพเจ้า, เทวดา
แต่ความจริง “เทว” ในบาลียังมีความหมายอีกหลายอย่าง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เทว” ไว้ดังนี้ –
(1) good etc. (สิ่งที่ดี และอื่นๆ)
(2) a god, a deity, a divine being (เทวดา, เทพเจ้า, เทพ)
(3) the sky, rain-cloud, rainy sky, rain-god (ท้องฟ้า, เมฆฝน, ท้องฟ้ามีฝน, เทพแห่งฝน)
“เทว” เมื่อใช้ในภาษาไทยแปลง ว เป็น พ ตามสูตรที่นิยมทั่วไป เช่น –
วร > พร
วิวิธ > พิพิธ
: เทว > เทพ
ในที่นี้ “เทพ” ใช้ในความหมายตามข้อ (2) คือเทวดาหรือเทพเจ้า
(๒) “เทวา”
เป็นคำเดียวกับ “เทว” ซึ่งแปลงเป็น “เทพ” นั่นเอง ในที่นี้ไม่แปลง ว เป็น พ แต่แปลงเสียงจาก “เทว” เป็น “เทวา” ตามความสะดวกปากในภาษาไทย
เทพ + เทวา = เทพเทวา แปลทับศัพท์ตามเจตนาว่า “เทพและเทวา”
อภิปรายขยายความ :
เท่าที่สังเกต ในภาษาไทย เมื่อเอ่ยถึงเทวดาหรือเทพเจ้าในการพูดตามปกติ เรามักใช้คำว่า “เทวดา” อันเป็นคำสามัญ ไม่นิยมใช้คำว่า “เทวา” จะใช้คำว่า “เทวา” ก็ต่อเมื่อมีคำอื่นประกอบในลักษณะเป็นภาษาปรุงแต่ง เช่น “ไหว้วอนเทวา” “เทวาอารักษ์” และ “เทพเทวา” ที่กำลังพูดถึง
อันที่จริง พูดว่า “เทพ” คำเดียวก็หมายถึงเทวดาทั้งหลายอยู่แล้ว คำว่า “เทวา” ที่เอามาต่อท้ายจึงมีลักษณะเหมือนสร้อยคำ ทำให้สละสลวยขึ้นเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาจะให้มีความหมายต่างไปจาก “เทพ” แต่ประการใด คือไม่ได้มีความมุ่งหมายจะบอกว่า “เทพ” ก็พวกหนึ่ง “เทวา” ก็อีกพวกหนึ่ง แต่อาจเสริมความรู้สึกได้บ้างว่า “เทพเทวา” หมายถึงเทวดาหลายพวกหลายเหล่า
คำว่า “เทพเทวา” ถ้าแปลงกลับเป็นบาลีก็ตรงกับคำว่า “เทวเทว” (เท-วะ-เท-วะ)
เทพ = เทว
เทวา = เทว
ในคัมภีร์ ทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถา มีคำว่า “เทวเทว” ปรากฏอยู่มากมายหลายแห่ง ที่พบบ่อยคือ “เทวเทโว” (เท-วะ-เท-โว)
“เทวเทโว” เป็นคำแสดงพระคุณนามพิเศษของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ มีความหมายว่า ทรงเป็นเทพที่เหนือกว่าเทพทั้งปวง ดังที่อรรถกถาแห่งหนึ่งขยายความว่า –
ภควา ปน สพฺเพสํ เทวานํ อุตฺตมเทวตาย เทวเทโว
พระผู้มีพระภาคทรงได้นามว่า “เทวเทโว” เพราะทรงเป็นเทพยดาสูงสุดแห่งเทพทุกหมู่เหล่า
ที่มา: ปรมตฺถทีปนี ภาค 2 หน้า 274 อรรถกถาเถรคาถา (กาฬุทายิตฺเถรคาถา)
อีกแห่งไขความไว้ว่า –
สพฺพโลกวิทิตวิสุทฺธิเทโว เทวเทโว ทีปงฺกโร ภควา
พระผู้มีพระภาคทีปังกรทรงเป็นวิสุทธิเทพเป็นที่ประจักษ์แจ้งทุกแหล่งโลก จึงทรงเป็น “เทวเทโว”
ที่มา: มธุรัตถวิลาสินี อรรถกถาพุทธวงศ์ หน้า 230 (ทีปังกรพุทธวงศ์)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายของ “เทวเทว” ไว้ว่า “the god of gods”, Ep. of the Buddha. (“เทพเจ้าของพวกเทพ”, เป็นคำประกอบแสดงลักษณะของพระพุทธเจ้า)
ถ้ารู้ความหมายในบาลี ทุกครั้งที่พูด หรือเขียน หรือได้ยินใครพูดว่า “เทพเทวา” ชาวพุทธควรจะต่อยอดสติปัญญาขึ้นไปอีก ไม่ติดอยู่แค่เทวดาทั้งหลาย แต่ขยายสูงขึ้นไปองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็น “the god of gods” – วิสุทธิเทพที่เหนือกว่าเทพทั้งปวง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ระลึกถึงเทพเทวาด้วยน้ำใจไมตรี
: แต่ถ้าจะทำความดี อย่ารอให้เทวดาบันดาล
#บาลีวันละคำ (2,583)
9-7-62