บาลีวันละคำ

อุทกธาร (บาลีวันละคำ 2,581)

อุทกธาร

อ่านว่า อุ-ทก-กะ-ทาน

กรุณาอย่าอ่านตามสะดวกปากว่า อุ-ทก-ทาน

โปรดช่วยกันอ่านให้ถูกต้องว่า อุ-ทก-กะ-ทาน

ประกอบด้วยคำว่า อุทก + ธาร

(๑) “อุทก

บาลีอ่านว่า อุ-ทะ-กะ รากศัพท์มาจาก อุทิ (ธาตุ = ไหลไป; เปียก, ชุ่ม) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ), ลบสระที่สุดธาตุ (อุทิ > อุท)

: อุทิ + ณฺวุ = อุทิณฺวุ > อุทิก > อุทก (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ไหลไป” (2) “สิ่งที่ทำให้เปียก” หมายถึง น้ำ (water)

(๒) “ธาร

บาลีเป็น “ธารา” รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะต้นธาตุ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” (ธรฺ > ธาร) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ธรฺ + = ธรณ > ธร > ธาร + อา = ธารา แปลตามศัพท์ว่า (1) “ทรงไว้ซึ่งกำลัง” (2) “ทรงไว้ซึ่งความเร็ว

ธารา” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) กระแสน้ำแรง, ธารน้ำ, การไหล, สายฝน (torrent, stream, flow, shower)

(2) คมอาวุธ (the edge of a weapon)

อุทก + ธารา = อุทกธารา แปลตามศัพท์ว่า “สายแห่งน้ำ” หมายถึง ธารน้ำ, ฝักบัวหรือฝนโปรย (a shower of water)

อุทกธารา” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อุทกธาร” และคงรูปตามบาลีเป็น “อุทกธารา” ก็มี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อุทกธาร, อุทกธารา : (คำนาม) สายนํ้า, ท่อนํ้า. (ป., ส.).”

ขยายความ :

อุทกธารา” มีใช้ทั่วไปในคัมภีร์ ที่ขอแนะนำให้สนใจเป็นพิเศษก็คือที่ปรากฏในเรื่องยมกปาฏิหาริย์

ในพระไตรปิฎก แสดงรายละเอียดของยมกปาฏิหาริย์ไว้ว่า พระพุทธองค์ทรงบันดาลให้ “อุทกธารา” และ “อคฺคิขนฺธ” (อัก-คิ-ขัน-ทะ) พุ่งออกจากส่วนต่างๆ ของพระกาย

ขอนำตัวบทบาลีและคำแปลบางส่วนมาเสนอไว้ในที่นี้ –

…………..

อุปริมกายโต  อคฺคิกฺขนฺโธ  ปวตฺตติ.

ลำไฟพุ่งออกจากพระกายเบื้องบน

เหฏฺฐิมกายโต  อุทกธารา  ปวตฺตติ.

สายน้ำพุ่งออกจากพระกายเบื้องล่าง

เหฏฺฐิมกายโต  อคฺคิกฺขนฺโธ  ปวตฺตติ.

ลำไฟพุ่งออกจากพระกายเบื้องล่าง

อุปริมกายโต  อุทกธารา  ปวตฺตติ.

สายน้ำพุ่งออกจากพระกายเบื้องบน

ปุรตฺถิมกายโต  อคฺคิกฺขนฺโธ  ปวตฺตติ.

ลำไฟพุ่งออกจากพระกายเบื้องหน้า

ปจฺฉิมกายโต  อุทกธารา  ปวตฺตติ.

สายน้ำพุ่งออกจากพระกายเบื้องหลัง

ปจฺฉิมกายโต  อคฺคิกฺขนฺโธ  ปวตฺตติ.

ลำไฟพุ่งออกจากพระกายเบื้องหลัง

ปุรตฺถิมกายโต  อุทกธารา  ปวตฺตติ.

สายน้ำพุ่งออกจากพระกายเบื้องหน้า

ทกฺขิณอกฺขิโต  อคฺคิกฺขนฺโธ  ปวตฺตติ.

ลำไฟพุ่งออกจากพระเนตรเบื้องขวา

วามอกฺขิโต  อุทกธารา  ปวตฺตติ.

สายน้ำพุ่งออกจากพระเนตรเบื้องซ้าย

วามอกฺขิโต  อคฺคิกฺขนฺโธ  ปวตฺตติ.

ลำไฟพุ่งออกจากพระเนตรเบื้องซ้าย

ทกฺขิณอกฺขิโต  อุทกธารา  ปวตฺตติ.

สายน้ำพุ่งออกจากพระเนตรเบื้องขวา

ทกฺขิณกณฺณโสตโต  อคฺคิกฺขนฺโธ  ปวตฺตติ.

ลำไฟพุ่งออกจากช่องพระกรรณเบื้องขวา

วามกณฺณโสตโต  อุทกธารา  ปวตฺตติ.

สายน้ำพุ่งออกจากช่องพระกรรณเบื้องซ้าย

วามกณฺณโสตโต  อคฺคิกฺขนฺโธ  ปวตฺตติ.

ลำไฟพุ่งออกจากช่องพระกรรณเบื้องซ้าย

ทกฺขิณกณฺณโสตโต  อุทกธารา  ปวตฺตติ.

สายน้ำพุ่งออกจากช่องพระกรรณเบื้องขวา

ที่มา: ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ยมกปาฏิหิรญาณ

พระไตรปิฎกเล่ม 31 ข้อ 284

อภิปราย :

อคฺคิขนฺธ” ท่านแปลกันว่า “ท่อไฟ” แต่ผู้เขียนบาลีวันละคำใคร่จะแปลว่า “ลำไฟ” หมายถึงไฟที่พุ่งออกเป็นลำ (โปรดนึกถึงไฟฉายที่แสงพุ่งออกเป็นลำ)

ในชุดของคำที่ใช้เรียกส่วนต่างๆ ของต้นไม้ คำว่า “ขนฺธ” หมายถึง ลำต้น (ดู “สาขา” บาลีวันละคำ (2,560) 16-6-62)

คำว่า “ลำ” หมายถึง “ตัวของคน สัตว์ หรือสิ่งต่าง ๆ เช่น ลําตัว ลําต้น, เรียกสิ่งที่ยาวกลมหรือมีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น ลําแขน ลําคอ ลําอ้อย ลํานํ้า” (พจนานุกรมฯ)

อคฺคิขนฺธ” แปลตามศัพท์ว่า “ลำตัวของไฟ” คือไฟที่พุ่งออกเป็นสาย = ลำไฟ สอดคล้องกับ “อุทกธารา” ที่หมายถึง น้ำที่พุ่งออกเป็นสาย = สายน้ำ (สายน้ำ-ลำไฟ)

อคฺคิขนฺธ” ถ้าแปลว่า “ท่อไฟ” ชวนให้เข้าใจว่ามีท่อ และมีไฟอยู่ในท่อ ซึ่งความเป็นจริงมิใช่เช่นนั้น ความจริงคือไม่มีท่อ มีแต่ไฟที่พุ่งออกเป็นลำ คือเป็นสาย

อนึ่ง คำว่า “ยมก” ในคำว่า “ยมกปาฏิหาริย์” นี้ แปลว่า “คู่” และหมายถึง สายน้ำ (อุทกธารา) กับลำไฟ (อคฺคิขนฺธ) ออกมาจากพระกายเป็นคู่กัน เช่น ถ้าลำไฟออกจากพระกายเบื้องบน สายน้ำก็ออกจากพระกายเบื้องล่าง เป็นคู่กันในลักษณะนี้ทุกแห่ง (ดูข้อความในตัวบทข้างต้น)

มีคนเป็นอันมากเข้าใจว่า “ยมกปาฏิหาริย์” หมายถึง พระพุทธเจ้าแสดงปาฏิหาริย์โดยเนรมิตพระองค์ให้เป็นคู่ เช่น ประทับยืน ก็เป็นพระพุทธเจ้าประทับยืนคู่กัน 2 องค์ ประทับนั่ง ก็เป็นพระพุทธเจ้าประทับนั่งคู่กัน 2 องค์ อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง

…………..

ประมวลความว่า “อุทกธารา” ในบาลีหมายถึงน้ำที่พุ่งหรือไหลเป็นสาย เช่น น้ำพุ น้ำฝนที่โปรยปราย น้ำฝักบัวในเวลาอาบน้ำ น้ำตก น้ำที่กำลังไหลไป

น้ำที่ขังอยู่นิ่งๆ ในบ่อ สระ บึง หนอง หรือในที่ใดๆ ก็ตาม ไม่อยู่ในความหมายของ “อุทกธารา

สรุปว่า “อุทกธารา” คือน้ำไหล ไม่ใช่น้ำนิ่ง

ดูเพิ่มเติม: “อุทกทาน” บาลีวันละคำ (2,576) 2-7-62

…………..

ดูก่อนภราดา!

: น้ำนิ่ง ไหลลึก

: จิตนิ่ง คิดลึก

#บาลีวันละคำ (2,581)

7-7-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย