คิลานุปัฏฐาก (บาลีวันละคำ 2,579)
คิลานุปัฏฐาก
อ่านว่า คิ-ลา-นุ-ปัด-ถาก
ประกอบด้วยคำว่า คิลาน + อุปัฏฐาก
(๑) “คิลาน”
อ่านว่า คิ-ลา-นะ รากศัพท์มาจาก –
(1) คิลา (ธาตุ = หมดความสนุก) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: คิลา + ยุ > อน = คิลาน แปลตามศัพท์ว่า “ผู้หมดความสนุก”
(2) คิลฺ (ธาตุ = ลำบาก) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ทีฆะ อะ ที่ (คิ)-ลฺ เป็น อา (คิลฺ > คิลา)
: คิลฺ + ยุ > อน = คิลน > คิลาน แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ลำบาก”
“คิลาน” ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง ป่วย, เจ็บไข้ (sick, ill)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“คิลาน-, คิลานะ : (คำนาม) คนเจ็บ. (ป.).”
(๒) “อุปัฏฐาก”
เขียนแบบบาลีเป็น “อุปฏฺฐาก” อ่านว่า อุ-ปัด-ถา-กะ รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + ฐา (ธาตุ = ยืน, ตั้งอยู่) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ), ซ้อน ฏฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อุป + ฏฺ + ฐา)
: อุป + ฏฺ + ฐา = อุปฏฺฐา + ณฺวุ > อก = อุปฏฺฐาก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เข้าไปยืน (รับใช้)” “ผู้ยืนใกล้” หมายถึง ผู้อุปัฏฐาก, ผู้รับใช้, ผู้ปรนนิบัติ (“famulus”, a servitor, personal attendant, servant)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อุปัฏฐาก : (คำนาม) ผู้อุปถัมภ์บํารุงพระภิกษุสามเณร, ถ้าเป็นหญิงใช้ อุปัฏฐายิกา. (ป.).”
“อุปัฏฐายิกา” บาลีเขียน “อุปฏฺฐายิกา” อ่านว่า อุ-ปัด-ถา-ยิ-กา คือ อุปฏฺฐา + ย อาคม + อิ อาคม + ณฺวุ > อก + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: อุปฏฺฐา + ย + อิ = อุปฏฺฐายิ + ณฺวุ > อก = อุปฏฺฐายิก + อา = อุปฏฺฐายิกา แปลเหมือนกัน เปลี่ยนแต่เป็นเพศหญิง
คิลาน + อุปฏฺฐาก = คิลานุปฏฺฐาก > คิลานุปัฏฐาก แปลว่า “ผู้พยาบาลคนป่วย” หมายถึง ผู้รับใช้เวลาเจ็บไข้, ผู้พยาบาล (an attendant in sickness, nurse)
อภิปราย :
“คิลานุปัฏฐาก” ในทางพระธรรมวินัยท่านหมายถึง ภิกษุสามเณรที่ทำหน้าที่ดูแลช่วยเหลือเพื่อนภิกษุสามเณรด้วยกันในเวลาอาพาธ
มีพุทธพจน์ตรัสไว้ว่า –
นตฺถิ โว ภิกฺขเว มาตา นตฺถิ ปิตา เย โว อุปฏฺฐเหยฺยุํ ตุเมฺห เจ ภิกฺขเว อญฺญมญฺญํ น อุปฏฺฐหิสฺสถ อถ โกจรหิ อุปฏฺฐหิสฺสติ โย ภิกฺขเว มํ อุปฏฺฐเหยฺย โส คิลานํ อุปฏฺฐเหยฺย.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่มีมารดาไม่มีบิดา ผู้ใดเล่าจะพึงพยาบาลพวกเธอ ถ้าพวกเธอจักไม่พยาบาลกันเองใครเล่าจักพยาบาล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดจะพึงอุปัฏฐากเรา ผู้นั้นพึงพยาบาลภิกษุอาพาธเถิด
ที่มา: จีวรขันธกะ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 5 ข้อ 166
…………..
เฉพาะคำที่ว่า “โย ภิกฺขเว มํ อุปฏฺฐเหยฺย โส คิลานํ อุปฏฺฐเหยฺย.” – ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดจะพึงอุปัฏฐากเรา ผู้นั้นพึงพยาบาลภิกษุอาพาธเถิด – เป็นข้อความที่นิยมยกไปอ้างอิงเมื่อจะมีการเชิญชวนให้บริจาคทรัพย์หรือสนับสนุนกิจการของโรงพยาบาลสงฆ์ หรือโรงพยาบาลทั่วไปในส่วนที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลภิกษุสามเณรอาพาธ
ในเรื่องเดียวกันนี้ยังมีพุทธพจน์ตรัสถึงคุณสมบัติของ “คิลานุปัฏฐาก” ว่ามี 5 ประการ ดังนี้ –
(1) ปฏิพโล โหติ เภสชฺชํ สํวิธาตุํ = เป็นผู้สามารถประกอบยา
(2) สปฺปายาสปฺปายํ ชานาติ อสปฺปายํ อปนาเมติ สปฺปายํ อุปนาเมติ = รู้จักของแสลงและไม่แสลง คือกันของแสลงออก นำของไม่แสลงเข้าไปให้
(3) เมตฺตจิตฺโต คิลานํ อุปฏฺเฐติ โน อามิสนฺตโร = มีจิตเมตตาพยาบาลไข้ ไม่เห็นแก่อามิส
(4) อเชคุจฺฉี โหติ อุจฺจารํ วา ปสฺสาวํ วา เขฬํ วา วนฺตํ วา นีหาตุํ = เป็นผู้ไม่เกลียดที่จะนำอุจจาระ ปัสสาวะ เขฬะ หรือของที่อาเจียนออกไปเสีย
(5) ปฏิพโล โหติ คิลานํ กาเลน กาลํ ธมฺมิยา กถาย สนฺทสฺเสตุํ สมาทเปตุํ สมุตฺเตเชตุํ สมฺปหํเสตุํ = เป็นผู้สามารถที่จะชี้แจงให้คนไข้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาในกาลทุกเมื่อ
ที่มา: จีวรขันธกะ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 5 ข้อ 166
…………..
มีคำที่น่าสนใจคำหนึ่ง คือ “คิลานุปัฏฐากภัต” หมายถึง อาหารสำหรับผู้อุปัฏฐากหรือพยาบาล (food for the attendant or nurse) ในกรณีที่ภิกษุสามเณรอาพาธและมีภิกษุสามเณรทำหน้าที่ดูแลช่วยเหลือเป็น “คิลานุปัฏฐาก” ญาติโยมมีจิตศรัทธาถวายภัตตาหารให้ภิกษุสามเณรที่เป็น “คิลานุปัฏฐาก” เรียกว่า “คิลานุปัฏฐากภัต” กรณีเช่นนี้ ภิกษุสามเณรที่เป็น “คิลานุปัฏฐาก” ได้สิทธิ์ไม่ต้องออกบิณฑบาตตามปกติ (ภิกษุสามเณรต้องออกบิณฑบาตทุกวันตามวิถีชีวิตสงฆ์) แต่รับ “คิลานุปัฏฐากภัต” มาฉันแทน
“คิลานุปัฏฐากภัต” นี้ทำให้เห็นร่องรอยของการจ่ายค่าตอบแทนหรือค่าจ้างในการเฝ้าไข้ คือหมอหรือพยาบาลที่มีอาชีพรับจ้างเฝ้าไข้ย่อมได้เงินเป็นค่าจ้าง นี่คงเป็นธรรมเนียมที่ชาวบ้านรู้กันอยู่ เมื่อมาเห็นบรรพชิตในพระพุทธศาสนาดูแลกันและกันในยามเจ็บป่วย ก็มีจิตเลื่อมใส ประสงค์จะบูชาคุณ จึงถวายอาหารบิณฑบาตตามควรแก่ฐานะ นี่คือที่มาของ “คิลานุปัฏฐากภัต”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เงินค่าเฝ้าไข้เลี้ยงชีวิตได้แค่ชาตินี้
: น้ำใจไมตรีตามเลี้ยงไปทุกภพทุกชาติ
#บาลีวันละคำ (2,579)
5-7-62