เอิบเปรม เอมปรี- อะไรการันต์ (บาลีวันละคำ 2,648)
เอิบเปรม เอมปรี-? อะไรการันต์
ถ้ายังไม่มีหลักฐาน
ก็ต้องมีหลักในการสันนิษฐาน
พลเรือตรี กรีธา พรรธนะแพทย์ (นายทหารนอกราชการ อายุ 85) ถามว่า ท่านกำลังค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับวังไกลกังวล ได้ทราบว่าภายในบริเวณวังไกลกังวลมีพระตำหนักแฝดคู่หนึ่ง ชื่อ “เอิบเปรม” และ “เอมปรี-” คำว่า “ปรี-” ไม่ได้เขียนอย่างนี้ แต่มีพยัญชนะการันต์อีกตัวหนึ่ง พบว่ามีเขียนเป็น 2 อย่าง คือ “เอมปรีดิ์” และ “เอมปรีย์”
อยากทราบว่า นามพระตำหนัก “เอมปรี-” ควรสะกดเป็น “เอมปรีดิ์” หรือ “เอมปรีย์” และด้วยเหตุผลอะไร?
หลักในการสันนิษฐาน :
ชื่อพระตำหนักดังกล่าวนี้จัดอยู่ในคำจำพวกที่ภาษาบาลีเรียกว่า “อสาธารณนาม” ภาษาไทยนิยมใช้ว่า “วิสามานยนาม” ตรงกับคำอังกฤษว่า proper name คำจำพวกนี้จะสะกดอย่างไร ออกเสียงอย่างไร และหมายถึงอะไรอย่างไร ย่อมเป็นไปตามที่เจ้าของนามหรือผู้ตั้งนามนั้นกำหนด จะใช้หลักภาษาหรือหลักอื่นใดมาตัดสินมิได้
ปัญหาคือ ชื่อนี้เจ้าของนามหรือผู้ตั้งนามท่านกำหนดให้สะกดอย่างไร?
ในขณะที่ถามและตอบนี้ยังไม่เห็นหลักฐาน เช่น ป้ายนามพระตำหนัก หรือเอกสารใดๆ ทั้งผู้ถามและผู้ตอบก็ไม่เคยเห็นไม่เคยรู้ข้อมูลใดๆ มาก่อน ผู้ตอบจึงต้องสันนิษฐานไปตามหลักภาษา
คำว่า “เอิบเปรม” และ “เอมปรี-” (เขียนค้างไว้ก่อน) นี้ เห็นได้ชัดว่าเป็นการ “เล่นคำ” ให้มีสัมผัสรับกัน คือ “เปรม” กับ “เอม” ถ้าจับคำเข้าคู่กันใหม่ก็จะได้คำว่า “เอิบเอม” และ “เปรมปรี-”
“เอิบเอม” เป็นคำไทย “เปรมปรี-” เป็นรูปคำสันสกฤต
(๑) “เปรม” อ่านว่า เปฺรม (ปร ควบกล้ำ) เท่าที่ยอมรับกัน “เปรม” คำนี้บาลีเป็น “เปม” อ่านว่า เป-มะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ปี (ธาตุ = อิ่มเอิบ) + อิม ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือ อี ที่ ปี (ปี > ป), แผลง อิ ที่ อิ-(ม) เป็น เอ (อิม > เอม)
: ปี > ป + อิม = ปิม > เปม แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะแห่งความอิ่มเอิบ”
(2) ปิย (ความรัก) + อิม ปัจจัย, แปลง ปิย เป็น ป, แผลง อิ ที่ อิ-(ม) เป็น เอ (อิม > เอม)
: ปิย > ป + อิม = ปิม > เปม แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะแห่งความรัก”
“เปม” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ความรัก, ความเยื่อใย, ความเสน่หา (love, affection)
บาลี “เปม” สันสกฤตเป็น “เปฺรมนฺ” (ปฺเร-มัน)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“เปฺรมนฺ : (คำนาม) ‘เปรมัน,’ ความรัก, ความกรุณา; ความประโมท, ความยินดี; พระอินทร์; อากาศ; affection, kindness; pleasure, joy; Indra; air.”
“เปฺรมนฺ” ในสันสกฤตใช้ในภาษาไทยเป็น “เปรม” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เปรม : (คำกริยา) สบาย, รื่นเริง, อิ่มใจ. (คำนาม) ความรัก, ความชอบใจ. (ส.).”
เป็นอันว่า พจนานุกรมฯ รับรองว่า “เปรม” มาจากสันสกฤต
น่าสังเกตว่า “เปรม” ที่หมายถึง ความรัก, ความชอบใจ นั้น ในภาษาไทยเป็นความหมายที่แทบจะไม่มีใครนึกถึง หรือจะกล่าวว่า-แทบจะไม่มีใครรู้จัก-ก็คงจะไม่ผิด
(๒) “ปรี-” ในที่นี้มีการสะกดต่างกันเป็น 2 อย่าง คือ “เอมปรีดิ์” และ “เอมปรีย์”
(1) ถ้าเป็น “เอมปรีดิ์”
“ปรีดิ์” คำนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “ปฺรีติ” บาลีเป็น “ปีติ” (ปี– สระ อี) รากศัพท์มาจาก ปี (ธาตุ = ยินดี, ชอบใจ) + ติ ปัจจัย
: ปี + ติ = ปีติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “กิริยาที่ยินดี”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปีติ” ว่า emotion of joy, delight, zest, exuberance (ความรู้สึกยินดี, ความอิ่มใจ, ความปราโมทย์, ความซาบซ่านหรือดื่มด่ำ)
บาลี “ปีติ” สันสกฤตเป็น “ปฺรีติ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปฺรีติ : (คำนาม) ‘ปรีติ’ ความยินดี, ความปราโมท, ความสุข; ความรัก, ความเสน่หา, ความนับถือ, วธูของกามเทพ; นักษัตรโยคที่สองในจำนวนยี่สิบเจ็ด; joy, pleasure, happiness; love, affection, regard; the wife of Kāmadeva or Cupid; the second of the twenty-seven astronomical yogas.”
ในภาษาไทยมีใช้ทั้งรูปบาลี “ปีติ” และรูปที่อิงสันสกฤตเป็น “ปรีดิ, ปรีดิ์, ปรีดี”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) ปีติ : (คำนาม) ความปลาบปลื้มใจ, ความอิ่มใจ. (ป.; ส. ปฺรีติ).
(2) ปรีดิ, ปรีดิ์, ปรีดี : (คำนาม) ความอิ่มใจ, ความปลื้มใจ, ความยินดี. (ส. ปฺรีติ; ป. ปีติ).
“เอมปรีดิ์” มีความหมายว่า อิ่มใจและปลื้มใจ
(2) ถ้าเป็น “เอมปรีย์”
“ปรีย์” คำนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “ปฺรีย” บาลีเป็น “ปิย” รากศัพท์มาจาก ปี (ธาตุ = รักใคร่, ชอบใจ) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณ, รัสสะ อี ที่ ปี เป็น อิ (ปี > ปิ)
: ปี + ณฺย = ปีณฺย > ปีย > ปิย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันบุคคลพึงรักใคร่” “สิ่งที่ควรรักชอบ”
“ปิย” ในบาลีมีความหมายว่า –
(1) ที่รัก, ผู้เป็นที่รัก (dear, beloved)
(2) น่าพึงพอใจ, คบได้, เป็นที่ชอบ (pleasant, agreeable, liked)
บาลี “ปิย” สันสกฤตเป็น “ปฺริย”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปฺริย : (คำนาม) ‘ปริย,’ สวามิน, กามินหรือคู่รัก; เภสัชอย่างหนึ่งซึ่งชื่อว่า ‘ฤทธิ;’ มฤคชนิดหนึ่ง; สตรี; วธู, เมีย; กระวานอย่างเล็ก; ข่าว; มลิอาหรับ; สุรา; สุประดิษฐาฉันท์ชนิดหนึ่ง; a husband, a lover; a sort of drug called Riddhi; a sort of deer; a woman; a wife or mistress; small cardamoms; news; Arabian jasmine; spirituous liquor; a species of the Supratishthā metre.”
ในภาษาไทยมีใช้ทั้งรูปบาลี “ปิย” และรูปที่อิงสันสกฤตเป็น “ปรียะ” และ “ปรียา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) ปิย– : (คำวิเศษณ์) ที่รัก, สำหรับประกอบหน้าศัพท์ต่าง ๆ เช่น ปิยบุตร หรือ ปิโยรส = ลูกที่รัก. (ป.; ส. ปฺริย).
(2) ปรียะ, ปรียา : (คำวิเศษณ์) ที่รัก. (ส. ปฺริย; ป. ปิย).
“ปรียะ” และ “ปรียา” สะกดเป็น “ปรีย์” ได้-ถ้าต้องการ
“เอมปรีย์” มีความหมายว่า อิ่มใจกับคนรัก
แล้วควรเป็น “เอมปรีดิ์” หรือ “เอมปรีย์”?
เมื่อชื่อแรกเป็น “เอิบเปรม” มีความหมายว่า อิ่มใจกับความรัก
ชื่อหลังสะกดเป็น “เอมปรีย์” มีความหมายว่า อิ่มใจกับคนรัก
ก็ดูจะเข้าชุดกันดี
แต่เมื่อคำนึงถึงคำว่า “เปรมปรี-” ในภาษาไทย เราเขียนเป็น “เปรมปรีดิ์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เปรมปรีดิ์ : (คำวิเศษณ์) อิ่มอกอิ่มใจ, ปลาบปลื้มใจ.”
และเมื่อชื่อทั้งสองนี้เอามาจากคำว่า “เอิบเอม” และ “เปรมปรี-” ในภาษาไทยสะกดเป็น “เปรมปรีดิ์” ไม่มี “เปรมปรีย์”
ดังนั้น เมื่อใช้หลักภาษาเป็นเกณฑ์ ชื่อหลังก็ควรจะกดเป็น “เอมปรีดิ์” ไม่ใช่ “เอมปรีย์”
แต่จะอย่างไรก็ตาม ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า คำจำพวก proper name นี้จะสะกดอย่างไร ออกเสียงอย่างไร และหมายถึงอะไรอย่างไร ย่อมเป็นไปตามที่เจ้าของนามหรือผู้ตั้งนามนั้นกำหนด จะใช้หลักภาษาหรือหลักอื่นใดมาตัดสินมิได้
ดังนั้น ปัญหาจึงต้องกลับไปตั้งต้นที่เดิม คือ ชื่อนี้เจ้าของนามหรือผู้ตั้งนามท่านกำหนดให้สะกดอย่างไร?
คำตอบคือ ท่านกำหนดไว้อย่างไร ก็ต้องเป็นไปตามนั้น
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ความต้องการของผู้มีอำนาจ
: อยู่เหนือธรรมชาติและเหตุผลทั้งปวง
#บาลีวันละคำ (2,648)
12-9-62