วิการ – วิกาล (บาลีวันละคำ 2,598)
วิการ – วิกาล
ไทยพ้องเสียง แต่บาลีไม่พ้อง
อ่านว่า วิ-กาน ทั้ง 2 คำ แต่ความหมายต่างกัน
(๑) “วิการ”
บาลีอ่านว่า วิ-กา-ระ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่างๆ กัน) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ก-(รฺ) เป็น อา (กรฺ > การ)
: วิ + กรฺ = วิกรฺ + ณ = วิกรณ > วิกร > วิการ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การทำให้แปลกไปเป็นอย่างอื่น”
“วิการ” ในบาลีใช้ในความหมายหลายอย่าง ดังนี้ –
(1) การเปลี่ยนแปลง, การแปรผัน (change, alteration)
(2) การผิดรูป, การหันกลับ, การบิดเบี้ยว (distortion, reversion, contortion)
(3) การทำให้กระวนกระวาย, การรบกวน, ความไม่สะดวก, การทำให้ผิดปกติ (perturbation, disturbance, inconvenience, deformity)
(4) ร่างกาย, คุณสมบัติ, คุณลักษณะ (constitution, property, quality)
(5) การหลอกลวง, การฉ้อฉล (deception, fraud)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “วิการ” ไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“วิการ : (คำนาม) การเปลี่ยนรูปหรือประกฤติ, การบิดเชือนจากประกฤติภาพ; พยาธิ, โรค; ราคะ; รส; วิกฤติหรืออภาวะ; change of form or nature, deviation from the natural state; sickness, disease; passion, feeling, emotion.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิการ : (คำวิเศษณ์) พิการ, ที่ผิดแปลกไปจากธรรมชาติ, มักใช้เข้าคู่กับคำ วิกล เป็น วิกลวิการ. (คำนาม) ความผันแปร. (ป., ส.).”
(๒) “วิกาล”
บาลีอ่านว่า วิ-กา-ละ รากศัพท์มาจาก วิ + กาล
(1) “วิ” เป็นคำอุปสรรค แปลว่า วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่างๆ กัน
(2) “กาล” (กา-ละ) รากศัพท์มาจาก กลฺ (ธาตุ = นับ, คำนวณ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ ก-(ลฺ) เป็น อา (กล > กาล)
: กลฺ + ณ = กลณ > กล > กาล แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องนับประมาณอายุเป็นต้น” “ถูกนับว่าล่วงไปเท่านี้แล้ว” “ยังอายุของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไป” หมายถึง เวลา, คราว, ครั้ง, หน
“กาล” ที่หมายถึง “เวลา” (time) ในภาษาบาลียังใช้ในความหมายที่ชี้ชัดอีกด้วย คือ :
(ก) เวลาที่กำหนดไว้, เวลานัดหมาย, เวลาตายตัว (appointed time, date, fixed time)
(ข) เวลาที่เหมาะสม, เวลาที่สมควร, เวลาที่ดี, โอกาส (suitable time, proper time, good time, opportunity)
: วิ + กาล = วิกาล แปลตามศัพท์ว่า “เวลาที่ต่างไป” (คือไม่ตรงกับเวลาที่กำหนดในกรณีนั้นๆ) หมายถึง ผิดเวลา, มิใช่เวลาที่เหมาะ (wrong time, not the proper time)
ถ้ามองในแง่ที่ตรงกันข้ามกับ “กาล” = ในเวลาหรือตามเวลาที่กำหนด “วิกาล” ก็มีความหมายว่า –
(1) ผิดเวลา (at the wrong time)
(2) สายเกินไป (too late)
(3) ดึกมาก [ในกลางคืน] very late [at night])
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิกาล, วิกาล– : (คำวิเศษณ์) ในยามค่ำคืนที่ค่อนไปทางดึก เช่น ขโมยเข้าบ้านในยามวิกาล; ผิดเวลา (ใช้แก่การกินอาหารผิดเวลาตามที่พระวินัยกำหนด นับตั้งแต่เที่ยงแล้วไปจนถึงอรุณขึ้น) เช่น กินอาหารในเวลาวิกาล. (ป.).”
อภิปราย :
“วิการ” กับ “วิกาล” ในภาษาไทยออกเสียงว่า วิ-กาน เหมือนกัน เรียกว่า “คำพ้องเสียง” แต่ในภาษาบาลีออกเสียงต่างกัน เพราะ “ร” และ “ล” ไม่ใช่ตัวสะกด จึงต้องออกเสียงด้วย
“ร” กับ “ล” ออกเสียงต่างกัน “วิการ” คือ วิ-กา-ระ (ร เรือ) และ “วิกาล” คือ วิ-กา-ละ (ล ลิง)
ในภาษาไทย เราไม่ค่อยคุ้นกับคำว่า “วิการ” แต่คุ้นกับ “พิการ” ซึ่งก็แผลงมาจาก “วิการ” นั่นเอง
แต่ในวงการบาลี นักเรียนบาลีจะคุ้นกับคำว่า “วิการ” ในความหมาย 2 อย่าง คือ –
๑ แผลงหรือแปลง เช่น (1) “วิการ อิ เป็น เอ” คือแผลง อิ เป็น เอ เช่น ปรมินทร์ > ปรเมนทร์ (2) “วิการ ว เป็น พ” คือแปลง ว เป็น พ เช่น วิการ > พิการ
๒ เรียกของที่ทำด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น “สร้อยคออันเป็นวิการแห่งทอง” หมายถึง สร้อยคอที่ทำด้วยทอง
ส่วนคำว่า “วิกาล” ในภาษาบาลีมีเงื่อนแง่ในทางพระวินัยที่น่าสนใจ
“วิกาล” : ในทางพระวินัยหมายถึงเวลาไหน?
คำว่า “เวลาวิกาล” ในทางพระวินัยมีคำจำกัดความ 2 นัย กล่าวคือ :
๑ กรณีห้ามบริโภคอาหารในเวลาวิกาล
“เวลาวิกาล” หมายถึง ตั้งแต่เที่ยงวันไปจนถึงรุ่งอรุณของวันใหม่
๒ กรณีห้ามภิกษุณีเข้าไปในบ้านของชาวบ้านในเวลาวิกาล หรือกรณีเที่ยวเตร่ในเวลาวิกาล
“เวลาวิกาล” หมายถึง ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกดินไปจนถึงรุ่งอรุณของวันใหม่
จะเห็นได้ว่า เวลาต่างกัน แต่ใช้ศัพท์เดียวกัน ดังนั้น เมื่อพูดถึงพระวินัยจะมองแค่ศัพท์ไม่ได้ ต้องตามไปดูถึงคำจำกัดความสำหรับกรณีนั้นๆ ด้วย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เล่ห์ของคำ แค่ทำให้เข้าใจผิด
: เล่ห์ของคน ทำให้วิปริตไปทั่วท้องจักรวาล
#บาลีวันละคำ (2,598)
24-7-62