อาคาริก (บาลีวันละคำ 2,599)
อาคาริก
คนมีเรือน
ภาษาไทยอ่านว่า อา-คา-ริก
บาลีอ่านว่า อา-คา-ริ-กะ
“อาคาริก” รากศัพท์มาจาก อคาร + ณิก ปัจจัย
(๑) “อคาร”
บาลีอ่านว่า อะ-คา-ระ (ศัพท์นี้บาลีเป็น “อาคาร” ก็มี) รากศัพท์มาจาก อค (สิ่งที่ไม่ไป, สิ่งที่ไปไหนไม่ได้) + รา (ธาตุ = ถือเอา, ยึดไว้) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ, ทีฆะ อะ ที่ (อ)-ค เป็น อา (อค > อคา), ลบ อา ที่สุดธาตุ (รา > ร)
: อค + รา = อครา + กฺวิ = อครากฺวิ >อคารากฺวิ > อคารา > อคาร แปลตามศัพท์ว่า “ที่ยึดเสาไว้ไม่ให้ไป” หมายความว่า เสา ฝา หลังคา และเครื่องประกอบต่างๆ ถูกยึดไว้ตรงนั้น ไปไหนไม่ได้ ที่ตรงนั้นจึงชื่อว่า “อคาร”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อคาร” ว่า house or hut (บ้าน หรือกระท่อม)
ไทยเราไม่คุ้นกับคำว่า “อคาร” แต่คุ้นกับคำว่า “อาคาร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “อคาร-” ไว้ (โปรดสังเกต มีขีดท้ายคำ บอกให้รู้ว่าไม่ใช้เดี่ยวๆ จะต้องมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และบอกความหมายว่าคือ “อาคาร”
เพราะฉะนั้นก็ต้องตามไปดูที่คำว่า “อาคาร”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“อาคาร : เรือน, โรง, สิ่งที่ก่อสร้างขึ้นที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) ตึก บ้าน เรือน โรง ร้าน แพ คลังสินค้า สํานักงาน และสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่น ซึ่งบุคคลอาจเข้าอยู่หรือเข้าใช้สอยได้ และหมายความรวมถึงสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นตามที่กฎหมายกําหนด เช่น อัฒจันทร์ เขื่อน สะพาน อุโมงค์ ป้าย อู่เรือ. (ป., ส. อาคาร, อคาร).”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับปรุงคำนิยามใหม่เป็นดังนี้ –
“อาคาร : เรือน, โรง, สิ่งที่ก่อสร้างขึ้นที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น. (ป., ส. อาคาร, อคาร).”
(๒) อคาร + ณิก ปัจจัย, ลบ ณ (ณิก > อิก), ทีฆะต้นศัพท์ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (อคาร > อาคาร)
: อคาร + ณิก > อิก = อคาริก > อาคาริก แปลตามศัพท์ว่า “เกี่ยวด้วยเรือน” หรือ “ตั้งอยู่ในเรือน” หมายถึง ผู้ครองเรือน, ผู้มีครอบครัว
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อาคาริก” ว่า belonging to the house (เป็นของบ้าน) และขยายความว่า –
(1) having control over the house, keeping, surveying (มีอำนาจควบคุมบ้าน, เก็บรักษา, สำรวจ)
(2) being in the house, sharing [the house], companion (อยู่ในบ้าน, ร่วมส่วน [บ้าน], เพื่อนบ้าน)
อภิปรายขยายความ :
ในทางรูปศัพท์: จะเข้าใจการกลายรูป อคาร > อาคาร > อาคาริก ดีขึ้นถ้าเทียบกับคำอังกฤษบางคำ เช่น
– Arab > Arabic
– atom > atomic
– economy > economic
– อาคาร > อาคาริก
ในทางความหมาย: ถ้าเทียบกับคำว่า “อนาคาริก” จะเข้าใจความหมายของ “อาคาริก” ได้ชัดเจน เพราะเป็นคำที่ตรงกันข้าม
“อนาคาริก” ผู้ไม่มีบ้านเรือน (ผู้ออกจากบ้านเรือนไปสู่สภาพชีวิตที่ไม่มีบ้านเรือน) (a homeless one; one who enters the homeless life without formally entering the Sangha)
“อาคาริก” ผู้มีบ้านเรือน, ผู้ครองเรือน, ผู้มีครอบครัว (a householder, one who leads the life of a layman)
สรุปก็คือ –
“อนาคาริก” = พระ, นักบวช
“อาคาริก” = ชาวบ้าน, คนทั่วไป
บุคคล 2 จำพวกนี้ โดยปกติวิถีชีวิตต้องต่างกัน ถ้าไม่ต่างคือผิดปกติ หรือถ้าสลับวิถีกัน เช่นพระครองชีวิตอย่างชาวบ้าน ชาวบ้านครองชีวิตอย่างพระ ก็ยิ่งผิดปกติมากถึงขั้นวิปริต
ดูเพิ่มเติม: “อนาคาริก” บาลีวันละคำ (1,938) 29-9-60
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เป็นพระต้องจน
: เป็นคนต้องรวย
——————
(หยิบฉวยคำโดยวิสาสะจากโพสต์ของ Sukanya Pema Dechen Chotso)
#บาลีวันละคำ (2,599)
25-7-62