มละ (บาลีวันละคำ 2,605)
มละ
ใน “มละ” มีธัมมัง
ใน “มลํ” มีธรรมะ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “มละ” อ่านว่า มะ-ละ เป็นคำกริยา แปลว่า ละ, ทิ้ง
“มละ” ในที่นี้ไม่ใช่ “มละ” ตามพจนานุกรมฯ แต่เป็น “มละ” ที่มาจากบาลีว่า “มล” อ่านว่า มะ-ละ เหมือนกัน แต่ความหมายคนละอย่างกัน
“มล” ที่เป็นคำบาลี (อ่านว่า มะ-ละ) รากศัพท์มาจาก มลฺ (ธาตุ = เคลื่อนที่; มัวหมอง) + อ ปัจจัย
: มลฺ + อ = มล แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เคลื่อนออกมา” (เช่นสิ่งสกปรกจากร่างกาย) (2) “สิ่งเป็นเหตุให้มัวหมอง”
“มล” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง สิ่งที่ไม่บริสุทธิ์, มลทิน; ความสกปรก, ของโสโครก; ความไม่บริสุทธิ์ (anything impure, stain; dirt; impurity)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “มล” ในสันสกฤตไว้ดังนี้ –
“มล : (คุณศัพท์) เปื้อนเปรอะ; dirty; – (คำนาม) สิ่งโสมมหรือเปื้อนเปรอะทั่วไป; บาป; dirt or filth in general; sin.”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “มละ” เป็นอังกฤษว่า –
Mala: dirt; impurity; stain; refuse; dust.
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มล, มล– [มน, มนละ-] : (คำนาม) ความมัวหมอง, ความสกปรก, ความไม่บริสุทธิ์; สนิม, เหงื่อไคล. (คำวิเศษณ์) มัวหมอง, สกปรก, ไม่บริสุทธิ์. (ป., ส.).”
อภิปราย :
“มล” ที่มาจากบาลี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บเป็น “มล” และ “มล-”
“มล” บอกคำอ่านว่า มน
“มล-” (มีขีดท้าย) บอกคำอ่านว่า มน-ละ- (ไม่ใช่ มะ-ละ-) หมายถึงในกรณีที่มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย เช่น –
“มลพิษ” ให้อ่านว่า มน-ละ-พิด ไม่ใช่ มะ-ละ-พิด หรือ มน-พิด
“มลสาร” อ่านว่า มน-ละ-สาน ไม่ใช่ มะ-ละ-สาน หรือ มน-สาน
เป็นอันว่า “มล” ที่มาจากบาลี พจนานุกรมฯ ไม่ได้สะกดเป็น “มละ”
ที่สะกดเป็น “มละ” แปลว่า ละ, ทิ้ง ก็ไม่ใช่คำบาลี
ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอให้ราชบัณฑิตยฯ เก็บคำว่า “มละ” ไว้ในพจนานุกรมฯ อีกคำหนึ่งเป็น “มละ ๒” ใช้คำนิยามเดียวกับ “มล, มล-”
เหตุที่เสนอให้เก็บ “มละ” อีกคำหนึ่งก็เพราะในภาษาธรรม (ถ้อยคำที่ใช้อธิบายธรรมะ) “มล” ที่มาจากบาลี ถ้าอ่านว่า มะ-ละ ท่านสะกดเป็น “มละ” ไม่ได้สะกดเป็น “มล” และถ้าสะกดเป็น “มล” ก็ต้องอ่านว่า มน ไม่ใช่อ่านว่า มะ-ละ
แถม ๑ : ใน “มละ” มีธัมมัง
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มีคำว่า “มละ” บอกไว้ดังนี้ –
…………..
มละ : มลทิน, เครื่องทำให้มัวหมอง เปรอะเปื้อน, กิเลสดุจสนิมใจ มี ๙ อย่างคือ
๑. โกธะ ความโกรธ
๒. มักขะ ความลบหลู่คุณท่าน
๓. อิสสา ความริษยา
๔. มัจฉริยะ ความตระหนี่
๕. มายา มารยา
๖. สาเถยยะ ความโอ้อวดหลอกเขา
๗. มุสาวาท การพูดเท็จ
๘. ปาปิจฉา ความปรารถนาลามก
๙. มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด
…………..
แถม ๒ : ใน “มลํ” มีธรรมะ
ในคัมภีร์ธรรมบท (พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 28 มลวรรค) มีคำว่า “มลํ” (มะ-ลัง, คือคำว่า “มล” ที่แจกด้วยวิภัตติแล้ว) อยู่ในคาถาบทหนึ่ง แสดงหลักธรรมะ ดังนี้ –
อสชฺฌายมลา มนฺตา
อนุฏฺฐานมลา ฆรา
มลํ วณฺณสฺส โกสชฺชํ
ปมาโท รกฺขโต มลํ.
(อะสัชฌายะมะลา มันตา
อะนุฏฐานะมะลา ฆะรา
มะลัง วัณณัสสะ โกสัชชัง
ปะมาโท รักขะโต มะลัง)
ถอดความว่า –
1 ไม่หมั่นทบทวน เป็นมลทินของหลักวิชา
2 ไม่ขยันหา เป็นมลทินของครอบครัว
3 ปล่อยเนื้อปล่อยตัว เป็นมลทินของเนื้อนวล
4 เผอเรอเรรวน เป็นมลทินของเวรยาม
…………..
ดูก่อนภราดา!
: บางครั้งเราจำเป็นต้องอ่อนข้อให้คนชั่ว
: แต่ไม่จำเป็นต้องอ่อนข้อให้ความชั่ว
#บาลีวันละคำ (2,605)
31-7-62