บาลีวันละคำ

อวโลกิเตศวร (บาลีวันละคำ 2,607)

อวโลกิเตศวร

อ่านตามที่ได้ยินอ่านกันว่า อะ-วะ-โล-กิ-เต-สวน

แยกคำเป็น อวโลกิต + อิศวร

(๑) “อวโลกิต

บาลีอ่านว่า อะ-วะ-โล-กิ-ตะ ประกอบด้วยคำว่า อว + โลกิต

(1) “อว” อ่านว่า อะ-วะ เป็นคำอุปสรรค (prefix) แปลว่า –

๑) ต่ำกว่า, ต่ำ (lower, low)

๒) ลง, ลงต่ำไป, ห่างลงไป, ออกไป (down, downward, away down, off)

ในบาลี “อว” แปลง เป็น “โอ” พบได้ทั่วไป หรือจะกล่าวก็ได้ว่า อุปสรรคคำนี้มี 2 รูป เป็น “อว” รูปหนึ่ง เป็น “โอ” อีกรูปหนึ่ง

(2) “โลกิต” (โล-กิ-ตะ) รากศัพท์มาจาก โลกฺ (ธาตุ = มอง, เห็น) + ปัจจัย, ลง อิ อาคมระหว่างธาตุกับปัจจัย (โลกฺ + อิ + )

: โลกฺ + อิ + = โลกิต แปลตามศัพท์ว่า “มองแล้ว” หรือ “เห็นแล้ว

ขยายความ : “โลกิต” เป็นรูปศัพท์ที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “กรรมวาจาก” (กำ-มะ-วา-จก) มีความหมายว่า “สิ่งที่ถูกทำ” ในที่นี้ก็คือ “สิ่งที่ถูกมอง” หรือ “สิ่งที่ถูกเห็น

แต่เมื่อใช้เป็นคุณศัพท์ อาจอนุโลมแปลว่า “ผู้มอง” หรือ “ผู้เห็น” ก็ได้

(๓) “อิศวร

อ่านว่า อิ-สวน บาลีเป็น “อิสฺสร” (อิด-สะ-ระ) รากศัพท์มาจาก –

(1) อิ (ตัดมาจาก “อิฏฺฐ” = น่าปรารถนา) + อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) + อร ปัจจัย, ซ้อน สฺ ระหว่าง อิ + อสฺ

: อิ + สฺ + อสฺ = อิสฺส + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มี คือผู้เกิดในภูมิที่น่าปรารถนา” (อยากมี อยากเป็น อยากได้อะไร สมปรารถนาทั้งหมด ไม่มีใครขัดขวาง)

(2) อิสฺสฺ (ธาตุ = เป็นใหญ่) + อร ปัจจัย

: อิสฺส + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่

(3) อีสฺ (ธาตุ = ครอบงำ) อร ปัจจัย, ซ้อน สฺ ระหว่าง อีสฺ + อร, รัสสะ อี ที่ อี-(สฺ) เป็น อิ (อีสฺ > อิสฺ)

: อีส > อิสฺ + สฺ + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ครอบงำ” หมายถึงปกครอง

อิสฺสร” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ผู้เป็นเจ้า, ผู้ปกครอง, ผู้เป็นนาย, หัวหน้า (lord, ruler, master, chief)

(2) พระเจ้าผู้สร้างโลก, พระพรหม (creative deity, Brahmā)

อิสฺสร” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้ว่า “อิสร-

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“อิสร-, อิสระ : (คำวิเศษณ์) เป็นใหญ่, เป็นไทแก่ตัว, เช่น อิสรชน, ที่ปกครองตนเอง เช่น รัฐอิสระ, ไม่ขึ้นแก่ใคร, ไม่สังกัดใคร, เช่น อาชีพอิสระ นักเขียนอิสระ.น. ความเป็นไทแก่ตัว เช่น ไม่มีอิสระ แยกตัวเป็นอิสระ. (ป. อิสฺสร; ส. อีศฺวร).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า อิสฺสร > อิสระ ตรงกับสันสกฤตว่า “อีศฺวร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

อีศฺวร : (คำนาม) พระอีศวรเป็นเจ้า, พระเจ้า; ศัพท์นี้ใช้หมายความถึงเทพดาต่างๆ ทั่วไป; ‘īśvara’ the supreme ruler of the universe, God; this word is applied to all the different divinities.”

พจนานุกรมฯ เก็บคำว่า “อีศวร” ไว้ โดยบอกว่า อีศวร คือ “อิศวร” หมายความว่าคำหลักเขียนเป็น “อิศวร” แต่จะเขียนเป็น “อีศวร” ก็ได้ ถ้าเขียนเป็น “อีศวร” ก็ให้หมายถึง “อิศวร” นั่นเอง

ที่คำว่า “อิศวร” พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า –

อิศวร [อิสวน] : (คำนาม) ชื่อเรียกพระศิวะซึ่งเป็นพระเจ้าองค์หนึ่งของพราหมณ์; ความเป็นเจ้าเป็นใหญ่, มักใช้เป็นส่วนท้ายของสมาส และแผลงเป็น เอศวร เช่น นเรศวร ราเมศวร, ใช้ย่อเป็น อิศร (อ่านว่า อิสวน) ก็มี เช่น ใยยกพระธำมรงค์ สำหรับองค์อิศรราช. (เพชรมงกุฎ). (ส. อีศฺวร).”

โปรดสังเกตว่า ในทางหลักภาษา “อิศวร” ในภาษาไทย เราอ่านว่า อิ-สวน ไม่ได้อ่านว่า อิด-สะ-วอน เพราะรากศัพท์ไม่ได้มาจาก อิศ (ผู้เป็นใหญ่) + วร (ผู้ประเสริฐ)

การประสมคำ :

อว + โลกิต = อวโลกิต แปลว่า “ผู้มองลงมา” “ผู้มองห่างออกไป” หรือ “ผู้ถูกมองลงมา” หมายถึง ผู้ถูกจับตามอง

อวโลกิต + อิศวร แผลง อิ ที่ อิ-(ศวร) เป็น เอ (อิศวร > เอศวร)

: อวโลกิต + อิศวร = อวโลกิติศวร > อวโลกิเตศวร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่ที่มองลงมา” หรือ “ผู้เป็นใหญ่ที่ถูกจับตามอง

อภิปราย :

ตามที่เชื่อกัน “อวโลกิเตศวร” เป็นชื่อของพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง ลักษณะเด่นของพระโพธิสัตว์องค์นี้ก็คือ มองลงมายังโลกเพื่อที่จะช่วยทำประโยชน์ให้แก่เพื่อนร่วมโลก

แต่ถ้าแปล “อวโลกิเตศวร” ว่า “ผู้เป็นใหญ่ที่ถูกจับตามอง” ความหมายก็จะต่างออกไป คือจะหมายถึง ผู้มีตำแหน่งฐานะเป็นใหญ่อยู่ในสังคม มีหน้าที่บำเพ็ญประโยชน์ให้แก่เพื่อนร่วมสังคม จะทำดีทำชั่ว ทำประโยชน์แก่สังคมหรือจะกอบโกยเอาประโยชน์ส่วนตัว ย่อมไม่รอดพ้นจากการรับรู้รับเห็นของสังคมไปได้ เพราะเป็นผู้ที่ถูกสังคมจับตามองอยู่เสมอ

นาม “อวโลกิเตศวร” จึงเป็นคำเตือนสติผู้เป็นใหญ่ว่า-อย่าทำชั่ว

…………..

ดูก่อนภราดา!

: พาลชน ประโยชน์ตนเท่านั้นที่เห็นถนัด

: พระโพธิสัตว์ มองเห็นประโยชน์เพื่อนร่วมทุกข์ในอนันตจักรวาล

—————–

(ตามคำขอของ หมู มิตรชัย ผู้คงจะสงสัยทฤษฎีการอ่านคำว่า “พระนเรศวรมหาราช” ที่มีผู้เสนอขึ้นมาใหม่)

#บาลีวันละคำ (2,607)

2-8-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย