บาลีวันละคำ

วิญญูหีติ (บาลีวันละคำ 2,616)

วิญญูหีติ

ไม่ต้องเลี่ยงบาลี

เพราะบาลีไม่มี ฮ นกฮูก

คำว่า “วิญญูหีติ” เป็นบทสุดท้ายในพระธรรมคุณ

พระธรรมคุณในภาษาบาลีมีข้อความเต็มๆ ดังนี้ –

…………..

เขียนแบบบาลี:

สฺวากฺขาโต  ภควตา  ธมฺโม  สนฺทิฏฺฐิโก  อกาลิโก เอหิปสฺสิโก  โอปนยิโก  ปจฺจตฺตํ  เวทิตพฺโพ  วิญฺญูหีติ.

เขียนแบบคำอ่าน:

ส๎วากขาโต  ภะคะวะตา  ธัมโม  สันทิฏฐิโก  อะกาลิโก เอหิปัสสิโก  โอปะนะยิโก  ปัจจัตตัง  เวทิตัพโพ  วิญญูหีติ.

คำแปล:

พระธรรมเป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกะผู้อื่นว่าท่านจงมาดูเถิด เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน ดังนี้

…………..

คำว่า “วิญญูหีติ” แยกศัพท์เป็น วิญญูหิ + อิติ

วิญญูหิ” เขียนแบบบาลีเป็น “วิญฺญูหิ” (มีจุดใต้ ญฺ ตัวหน้า) อ่านว่า วิน-ยู-หิ รูปคำเดิมเป็น “วิญฺญู” (วิน-ยู) รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ญา (ธาตุ = รู้) + รู ปัจจัย, ซ้อน ญฺ ระหว่างอุปสรรคและธาตุ (วิ + ญฺ + ญา), ลบ ที่ รู (รู > อู) และ “ลบสระหน้า” คือ อา ที่ ญา (ญา > )

: วิ + ญฺ + ญา = วิญฺญา > วิญฺญ + รู = วิญฺญรู > วิญฺญู แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้สิ่งวิเศษเป็นปกติ” หมายถึง ผู้รู้, ผู้คงแก่เรียน, ผู้ฉลาด (intelligent, learned, wise)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

วิญญู : (คำนาม) ผู้รู้แจ้ง, นักปราชญ์. (ป.; ส. วิชฺญู).”

วิญฺญู” แจกด้วย หิ-ตติยาวิภัตติ พหูพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “วิญฺญูหิ

วิญฺญูหิ” สนธิกับ “อิติ” (อิ-ติ แปลได้หลายอย่าง ในที่นี้แปลว่า “ดังนี้”) ทีฆะ อิ เป็น อี (หรือจะว่า อิ ที่ –หิ + อิ– ที่ อิติ = อี ก็ได้)

: วิญฺญหิ + อิติ = วิญฺญูหีติ

ศิลปะในการอ่านคำบางคำ :

คำว่า “วิญฺญูหีติ” มีปัญหาในการอ่านสำหรับคนไทย เพราะคำว่า “-หี-” ที่อยู่หลัง ญู– หน้า –ติ พยัญชนะและสระไปพ้องกับคำไทยที่หมายถึงอวัยวะเพศของหญิง

ท่านแต่ปางก่อนจึงแนะนำกันมาว่า พยัญชนะและสระในภาษาบาลีที่สะกดเป็น “-หี-” ให้ออกเสียงว่า ฮี (ฮ นกฮูก + สระ อี) เพื่อเลี่ยงเสียงที่พ้องกับคำไทยคำนั้น

แต่ถ้าจะว่าไปแล้ว เสียง “ฮี” นับว่าใกล้เคียงกับเสียงเดิมในบาลีมากกว่าเสียงคำไทยคำนั้นด้วยซ้ำไป

การแนะนำให้ออกเสียง “-หี-” เป็น “ฮี” นี้ ต่อมาได้เกิดปัญหาอีก คือคนทำต้นฉบับที่ “หัวใจกระดุกกระดิก” อยู่สักหน่อยเกิดใช้ ฮ นกฮูก แทน ห หีบ ในตัวบท คือสะกดเป็น “วิญฺญูฮีติ” เสียเลย

หนังสือสวดมนต์บางสำนักในระยะหลังๆ มานี้เราจะพบการสะกดเป็น “วิญฺญูฮีติ” กันหนาตาขึ้น

ทั้งนี้รวมไปถึงคำว่า “มหีตเล” (มะหีตะเล) ในพระคาถาชินบัญชรก็มีสะกดเป็น “มฮีตเล” (มะฮีตะเล) อยู่หลายสำนัก

ขอได้โปรดช่วยกันเข้าใจ ช่วยกันจำ และช่วยกันบอกต่อๆ กันไปด้วยว่า ในภาษาบาลีไม่มี ฮ นกฮูก

ขอแรงให้สำนักที่พิมพ์หนังสือสวดมนต์หรือสำนักที่ทำบทสวดมนต์ออกเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ สะกดคำนี้เป็น “วิญฺญูหีติ” (วิญญูหีติ) และ “มหีตเล” (มะหีตะเล) ให้ตรงตามบาลีด้วย อย่าอุตริสะกดให้ผิดเพี้ยนเป็นอย่างอื่น

โปรดสะกดให้ตรงคำ

แต่ออกเสียงตามคำแนะนำของท่านแต่ปางก่อนนั้นเถิด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อย่าอายที่จะพูดเขียนเรียนธรรมคำที่ถูกต้อง

: การประพฤติธรรมขาดตกบกพร่องนั่นต่างหากที่ควรอาย

#บาลีวันละคำ (2,616)

11-8-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย