บาลีวันละคำ

ชาติพันธุ์ (บาลีวันละคำ 2,630)

ชาติพันธุ์

อ่านว่า ชาด-ติ-พัน

(ได้ยินคนรักง่าย เริ่มออกลวดลายอ่านว่า ชาด-พัน)

ประกอบด้วยคำว่า ชาติ + พันธุ์

(๑) “ชาติ

บาลีอ่านว่า ชา-ติ รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + ติ ปัจจัย

กระบวนการทางไวยากรณ์ :

แบบที่ 1 แปลง ชนฺ เป็น ชา : ชน > ชา + ติ = ชาติ

แบบที่ 2 แปลง “” ที่ (ช-)นฺ เป็น อา : (ช) > อา (> + อา) = ชา + ติ = ชาติ

ชาติ” แปลตามศัพท์ว่า “การเกิด” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังต่อไปนี้ –

(1) การเกิด, การเกิดใหม่, กำเนิด (birth, rebirth, possibility of rebirth)

(2) ชาติกำเนิด, เชื้อชาติ, ชั้น, วงศ์วาน (descent, race, rank, genealogy)

(3) จำพวก, ชนิด (a sort of, kind of)

(4) ตามธรรมชาติ (ตรงข้ามกับของที่ตกแต่งขึ้น); แท้จริง, บริสุทธิ์, วิเศษ (ตรงกันขามกับปนเจือ เลว) (by birth or nature, natural [opp. artificial]; genuine, pure, excellent [opp. adulterated, inferior])

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “ชาติ” ไว้ดังนี้ –

(1) การเกิด, กำเนิด, มักใช้ว่า ชาติเกิด หรือ ชาติกำเนิด เช่น ถ้าทำไม่ดีก็เสียชาติเกิด,

(2) ความมีชีวิตอยู่ตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น สบายทั้งชาติ.

(3) เหล่ากอ, เทือกเถา, เผ่าพันธุ์, เช่น ชาตินักรบ ชาติไพร่.

(4) ประเทศ เช่น รู้คุณชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์.

(5) ประชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศ; ประชาชาติ ก็ว่า.

(6) กลุ่มชนที่มีความรู้สึกในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมอย่างเดียวกัน หรืออยู่ในปกครองรัฐบาลเดียวกัน.

(7) ชนิด, จําพวก, ชั้น, หมู่.

(8) คำเพิ่มข้างหลังของคำเดิม เมื่อเพิ่มแล้วความหมายคงเดิม เช่น รสชาติ หรือหมายถึงพวกหรือหมู่ เช่น คชาชาติ มนุษยชาติ.

(๒) “พันธุ์

บาลีเป็น “พนฺธุ” (พัน-ทุ) รากศัพท์มาจาก พนฺธฺ (ธาตุ = ผูก, มัด, พัน) + อุ ปัจจัย

: พนฺธฺ + อุ = พนฺธุ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เกี่ยวข้องกัน” “ผู้อันความรักผูกพัน” “ผู้ผูกพันคนอื่นไว้ในตน

พนฺธุ” หมายถึง –

(1) พวกพ้อง, ญาติ, เหล่ากอ (a relation, relative, kinsman)

(2) เกี่ยวข้อง, เกี่ยวพัน, ผูกพัน (connected with, related to, dealing with)

ชาติ + พันธุ์ = ชาติพันธุ์ เป็นศัพท์บัญญัติ เทียบคำอังกฤษว่า ethnos

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ชาติพันธุ์ : (คำนาม) กลุ่มที่มีพันธะเกี่ยวข้องกัน และที่แสดงเอกลักษณ์ออกมา โดยการผูกพันลักษณาการของเชื้อชาติและสัญชาติเข้าด้วยกัน. (อ. ethnos).”

ขยายความ :

ในจังหวัดราชบุรี มีการแบ่ง “ชาติพันธุ์” ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเป็นกลุ่มใหญ่ 8 ชาติพันธุ์ ดังนี้ –

1. ชาวไทยพื้นถิ่น (มีมากที่ตำบลโพหัก อำเภอบางแพ)

2. ชาวไทยจีน (มีมากที่อำเภอเมือง ดำเนินสะดวก บ้านโป่ง และโพธาราม)

3. ชาวไท-ยวน (จากอาณาจักรล้านนา) (มีมากที่ตำบลคูบัว ดอนตะโก ดอนแร่ อำเภอเมือง)

4. ชาวไทยมอญ (มีมากที่ในเขตอำเภอโพธารามและอำเภอบ้านโป่ง)

5. ชาวไทยเขมร (มีมากที่ตำบลคุ้งกระถิน คุ้งน้ำวน อำเภอเมืองราชบุรี ตำบลวัดยางงาม บ้านกอไผ่ บ่อกระดาน บ่อตะคร้อ หัวถนน ตำบลดอนทราย หมู่บ้านหนองจอก อำเภอปากท่อ ตำบลวัดเพลง บ้านบางนางสูญ เกาะศาลพระ คลองขนอน อำเภอวัดเพลง ตำบลหัวโพ บ้านดอนมะขามเทศ ตำบลวังเย็น บ้านเตาอิฐ หนองม่วง ตำบลวัดแก้ว บ้านเสาธง บ้านทำนบ บ้านท่าราบ อำเภอบางแพ)

6. ชาวไทยลาวตี้ (ลาวเวียง จากเมืองเวียงจันทน์) (มีมากที่เขาแร้ง อำเภอเมือง บ้านฆ้อง บ่อมะกรูด บ้านเลือก บ้านสิงห์ กำแพงเหนือ กำแพงใต้ ดอนทราย หนองรี บางลาน อำเภอโพธาราม บ้านดอนเสลา หนองปลาดุก หนองอ้อ บ้านฆ้องน้อย อำเภอบ้านโป่ง)

7. ชาวไทยกะเหรี่ยง (มีมากที่อำเภอสวนผึ้ง อำเภอบ้านคา และอำเภอปากท่อ)

8. ชาวไทยลาวโซ่ง (ไทดำ หรือไทยทรงดำ) (มีมากที่บ้านตลาดควาย อำเภอจอมบึง บ้านดอนคลัง บัวงาม โคกตับเป็ด อำเภอดำเนินสะดวก บ้านดอนคา ตากแดด ดอนพรม อำเภอบางแพ และบ้านเขาภูทอง อำเภอปากท่อ)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ร้อยแปดชาติพันธุ์ไม่ใช่กำแพงแบ่งรัก

: ร้อยแปดสำนักไม่ใช่กำแพงแบ่งศาสนา

#บาลีวันละคำ (2,630)

25-8-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย