บาลีวันละคำ

โตมร (บาลีวันละคำ 2,637)

โตมร

แปลกันว่า หอก

อ่านว่า โต-มอน

โตมร” บาลีอ่านว่า โต-มะ-ระ รากศัพท์มาจาก ตุทฺ (ธาตุ = แทง) + อร ปัจจัย, แผลง อุ ที่ ตุ-(ทฺ) เป็น โอ (ตุทฺ > โตทฺ), แปลง เป็น

: ตุทฺ + อร = ตุทร > โตทร > โตมร (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องทิ่มแทง” หมายถึง หอกซัด, ปฏัก

ในคัมภีร์บาลีปรากฏว่า เมื่อกล่าวถึงควาญช้างฝึกช้าง หรือกองทหารที่เป็นเหล่าช้างขึ้นประจำคอช้าง จะระบุว่า ถือ “โตมร” ด้วยเสมอ ทำให้เข้าใจว่าความหมายหนึ่งของ “โตมร” คือขอสับช้าง

คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี ภาค 2 หน้า 515 ขยายความในสักกปัญหสูตร บอกลักษณะของอุปกรณ์ที่ใช้กับช้าง 3 อย่าง คือ “ตุตตะ” “โตมร” และ “อังกุส” ไว้ดังนี้ –

(1) ตุตฺตํ  วุจฺจติ  กณฺณมูเล  วิชฺฌนอยกณฺฏโก.

เหล็กแหลมที่ใช้แทงกกหูเรียกว่า “ตุตตะ” (ปฏัก) (a pike for guiding elephants, a goad for driving cattle)

(2) โตมรนฺติ  ปาทาทีสุ  วิชฺฌนทณฺฑโตมรํ.

หอกมีด้ามใช้แทงเท้าเป็นต้น เรียกว่า “โตมร” (หอก) (a pike, spear, lance, esp. the lance of an elephant-driver)

(3) องฺกุโสติ  มตฺถเก  วิชฺฌนกกุฏิลกณฺฏโก.

เหล็กแหลมงอใช้สับตะพองช้าง เรียกว่า “อังกุส” (ขอ) (to drive an elephant, a goad)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “โตมร” ว่า a pike, spear, lance, esp. the lance of an elephant-driver (โตมร, หอก, หลาว, โดยเฉพาะคือตาขอสับของควาญช้าง)

บาลี “โตมร” สันสกฤตก็เป็น “โตมร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

โตมร : (คำนาม) ‘โตมร’ คทาเหล็ก; ทวน, หอก, แหลน, ‘แหลนหลาว’ ก็เรียก; an iron club; a spear, a lance.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

โตมร, โตมร– : (คำนาม) อาวุธสําหรับซัด, หอกซัด, สามง่ามที่มีปลอกรูปเป็นใบโพสวมอยู่. (ป., ส.).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามใหม่เป็น –

โตมร, โตมร– : (คำนาม) อาวุธสำหรับซัด, หอกซัด. (ป., ส.).”

คือตัดข้อความว่า “สามง่ามที่มีปลอกรูปเป็นใบโพสวมอยู่” ออกไป

ราชบัณฑิตยฯ คงพิจารณาเห็นว่า “สามง่ามที่มีปลอกรูปเป็นใบโพสวมอยู่” นั้น ไม่ใช่ “โตมร” กระมัง

แถม :

ในคัมภีร์บาลีมีสำนวนบรรยายถึงการทะเลาะเบาะแว้งขัดแย้งกันโดยใช้อารมณ์ ไม่นิยมเหตุผลว่า –

“อญฺญมญฺญํ  มุขสตฺตีหิ  วิตุทนฺตา”

(อัญญะมัญญัง  มุขะสัตตีหิ  วิตุทันตา)

แปลว่า “ทิ่มแทงกันด้วยหอกคือปาก

หอก” ในสำนวนนี้ท่านใช้คำว่า “สตฺติ” (สัด-ติ) ไม่ใช่ “โตมร

มุขสตฺติ” (มุ-ขะ-สัด-ติ) แปลว่า “หอกคือปาก” หมายถึงคำพูดที่ทิ่มแทงกันให้เจ็บใจ

สุนทรภู่ใน “เพลงยาวถวายโอวาท” บอกไว้ว่า –

อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก

แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย

แม้นเจ็บอื่นหมื่นแสนจะแคลนคลาย

เจ็บจนตายนั้นเพราะเหน็บให้เจ็บใจ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถูกหอกเหล็กหลาวแหลนสักแสนเล่ม

: ไม่เจ็บเข้มเหมือนหนึ่งคำที่ตำใจ

———–

ภาพประกอบ: จาก google

#บาลีวันละคำ (2,637)

1-9-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย